SABUY แจงเหตุกลุ่มฯ สูญเสียอำนาจควบคุม SBNEXT จ่อบีบเพิ่มทุนใช้คืนหนี้

12 มิ.ย. 2567 | 03:45 น.
อัพเดตล่าสุด :12 มิ.ย. 2567 | 03:50 น.

SABUY แจงเหตุสูญเสียอำนาจการควบคุมใน SBNEXT และขาดทุนจากการขายเงินลงทุนใน DOU7 996 ล้านบาท จ่อถกผู้ถือหุ้นเดิม SBNEXT พิจารณแผนเพิ่มทุนเพื่อใช้คืนหนี้

นายวิรัช มรกตกาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สบาย เทคโนโลยี (SABUY) ทำหนังสือชี้แจงข้อมูลในงบการเงินไตรมาส 1/67 ตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สอบถามผลกระทบจากการลงทุนใน บมจ.สบาย คอนเน็กซ์ เทค (SBNEXT) โดยยอมรับว่าบริษัทสูญเสีบอำนาจการควบคุมใน SBNEXT แล้ว

SABUY ระบุว่าการตั้งด้อยค่าความนิยมและสินทรัพย์ไม่มีตัวตนอื่น รวม 576 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลกระทบจากการลงทุนใน SBNEXT ปัจจัยที่ใช้พิจารณามาจากบันทึกผลขาดทุนจากการด้อยค่าค่าความนิยมและสินทรัพย์ไม่มีตัวตน โดยเปรียบเทียบราคาตามบัญชีกับมูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืน คำนวณโดยการคิดลดกระแสเงินสดในอนาคตที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินงานต่อเนื่องของ SBNEXT ซึ่งมูลค่าตามบัญชีของหน่วยสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดเงินสดสูงกว่ามูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืน ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากการเกิดข้อบ่งชี้ว่ากลุ่มบริษัทอาจสูญเสียอำนาจการควบคุมใน SBNEXT จากการละเมิดสิทธิที่เกิดจากข้อตกลงตามสัญญา ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของแผนงานและการกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจใน SBNEXT หากกลุ่มบริษัทได้เสียอำนาจในการควบคุมแล้ว
 

แจงข้อบ่งชี้ว่ากลุ่มบริษัทได้สูญเสียอำนาจการควบคุมใน SBNEXT

ข้อบ่งชี้ว่ากลุ่มบริษัทได้สูญเสียอำนาจการควบคุมใน SBNEXT คือ บริษัทและกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมของ SBNEXT ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างกันเพื่อให้การบริหารงานใน SBNEXT เป็นเอกภาพและเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวมไปถึงสามารถเติบโตและเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบริษัทโดยสมบูรณ์ โดยที่กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมของ SBNEXT จะต้องให้ความร่วมมือปฏิบัติตามนโยบายในการบริหารงานของกลุ่ม SABUY รวมไปถึงกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม SBNEXT จะออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นและ/หรือที่ประชุมคณะกรรมการ ไปในทางเดียวกับบริษัทฯ

แต่เมื่อวันที่ 26 เม.ย.67 ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของ SBNEXT กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมได้ออกเสียงไม่รับรองงบการเงินประจำปี 66 ของ SBNEXT ซึ่งขัดแย้งและไม่เป็นไปในทางเดียวกับการออกเสียงของ SABUY และไม่มีการแจ้งเหตุผลล่วงหน้า ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกัน

การตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของเงินให้กู้ยืมทั้งจำนวน 889 ล้านบาท

สำหรับการตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของเงินให้กู้ยืมทั้งจำนวน 889 ล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 1/67 บริษัทฯ มียอดเงินให้กู้ยืมแก่ SBNEXT คงเหลือ 889 ล้านบาท โดยการทำสัญญาเงินกู้เป็นครั้งๆ ระยะเวลาการกู้ยืมแต่ละครั้ง 6 เดือน เริ่มตั้งแต่ปี 66 วัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ 365.61 ล้านบาท เพื่อจ่ายชำระค่าการซื้อตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ 323.39 ล้านบาท และเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท เธียรสุรัตน์ลิสซิ่ง จำกัด 200 ล้านบาท โดย ณ สิ้นไตรมาส 1/67 ยอดเงินให้กู้ยืมลดลงจากสิ้นปี 66 ประมาณ 34 ล้านบาท จากการรับชำระคืน

สาเหตุที่บริษัทตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตฯ ทั้งจำนวน จากเหตุการณ์ที่กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมของ SBNEXT ละเมิดข้อตกลงความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างกัน ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ว่ากลุ่มบริษัทอาจเสียอำนาจการควบคุมใน SBNEXT จึงทำให้บริษัทไม่สามารถจะสนับสนุนความช่วยเหลือด้านการเงินได้อีกต่อไป ประกอบกับในไตรมาส 1/67 SBNEXT ประสบปัญหาการดำเนินงานต่อเนื่องอย่างมีสาระสำคัญ กระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ทั้งเจ้าหนี้การค้า สถาบันการเงิน และเงินให้กู้ยืมของบริษัทฯ จึงมีข้อบ่งชี้ว่าเงินให้กู้ยืมระยะสั้นแก่ SBNEXT เกิดการด้อยค่าทั้งจำนวน

แนวทางการติดตามหนี้จาก SBNEXT

บริษัทมีแผนจะหารือกับผู้ถือหุ้นของ SBNEXT พิจารณาแผนการเพิ่มทุนอีกครั้งหนึ่ง และหากยังไม่สามารถเพิ่มทุนได้ บริษัทจะเข้าร่วมพิจารณาแผนการดำเนินธุรกิจของ SBNEXT และปรับตารางการชำระคืนหนี้ให้สอดคล้องกับแผนการดำเนินธุรกิจของ SBNEXT ต่อไป

ขาดทุนจากการขายเงินลงทุนใน DOU7 996 ล้านบาท

ส่วนประเด็นผลขาดทุนจากการขายเงินลงทุนใน DOU7 จำนวน 996 ล้านบาท สาเหตุที่เกิดผลขาดทุนจากการขาย ซึ่งแตกต่างจากข่าวแจ้งมติคณะกรรมการจากมติคณะกรรมการบริษัทที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 15 ก.พ.67 ว่าการรับชำระค่าขายด้วยหุ้นของ SABUY ในราคาตลาดต่ำกว่าราคาที่คณะกรรมการบริษัทอนุมัตินั้น ไม่ส่งผลกระทบต่องบการเงินรวม อันเป็นผลมาจากการที่บริษัทฯ ได้ยึดถือแนวปฏิบัติทางบัญชีเกี่ยวกับหุ้นทุนซื้อคืนที่ถือโดยบริษัทย่อย โดยมีความเข้าใจว่ามูลค่าของหุ้นทุนซื้อคืนที่บริษัทย่อยได้รับเป็นสิ่งตอบแทนจากการจำหน่ายหุ้น DOU7 นั้น วัดมูลค่าด้วยราคาทุนของหุ้น DOU7 ที่จำหน่ายออกไป ซึ่งเท่ากับ 1,360 ล้านบาท ทำให้ไม่เกิดผลกำไร/ขาดทุนจากการจำหน่ายหุ้น DOU7

ต่อมาทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรีพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้ความเห็นว่ารายการดังกล่าว บริษัทควรรับรู้มูลค่าของหุ้นทุนซื้อคืนที่ได้รับเป็นสิ่งตอบแทนด้วยมูลค่ายุติธรรมของหุ้น SABUY ณ วันที่ได้รับหุ้น ซึ่งมีมูลค่าต่ำกว่าราคาทุนของหุ้น DOU7 จำนวน 996 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ รับรู้ผลขาดทุนจากการจำหน่ายหุ้น DOU7 จำนวน 996 ล้านบาทในงบการเงินรวมในไตรมาส 1/2567 ตามความเห็นของ สำนักงาน กลต.

การแก้ไขการถือหุ้นไขว้ของ SBFFM

ขณะที่การแก้ไขการถือหุ้นไขว้ของ SBFFM หุ้น SABUY ที่ บริษัท สบาย ฟูลฟิลเม้นท์ จำกัด (SBFFM) ได้รับชำระจากการขายหุ้น DOU7 ได้ถูกใช้เป็นหลักประกันการกู้ยืมเงิน และได้ถูกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมไปแล้วบางส่วน ทำให้สัดส่วนการถือหุ้น SABUY ลดลง (หุ้น SABUY ที่ SBFFM ได้รับชำระมาจำนวน 68 ล้านหุ้น ต่อมา ณ วันที่ 31 พ.ค.67 คงเหลือ 22.6 ล้านหุ้น) บริษัทจะยังคงดำเนินการแก้ไขการถือหุ้นไขว้ตามนโยบายที่ได้เคยเปิดเผยไปแล้วให้ได้ทันตามกำหนดเวลา

ขาดทุนจากการด้อยค่าความนิยมและสินทรัพย์ไม่มีตัวตนอื่น

- ปัจจัยที่ใช้พิจารณาเพื่อบ่งชี้การด้อยค่าความนิยมและสินทรัพย์ไม่มีตัวตนอื่น และการตั้งด้อยค่าดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของบริษัทอย่างไร

บริษัทฯ พิจารณาบันทึกผลขาดทุนจากการด้อยค่าความนิยมและสินทรัพย์ไม่มีตัวตน โดยการเปรียบเทียบราคาตามบัญชีกับมูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืน ที่คำนวณโดยการคิดลดกระแสเงินสดในอนาคตที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินงานต่อเนื่องของบริษัทย่อยทั้ง 5 กลุ่มธุรกิจ ซึ่งมูลค่าตามบัญชีของหน่วยสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดเงินสดสูงกว่ามูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืน ซึ่งการด้อยค่าของมูลค่าของเงินลงทุนทั้ง 5 กลุ่มธุรกิจดังกล่าวเกิดจากการเปลี่ยนแปลงแผนธุรกิจและกลยุทธ์ในการดำเนินงานในปี 2567 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืนของเงินลงทุนที่เกี่ยวข้อง อันเป็นผลมาจากแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ให้

กระชับยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงมีข้อบ่งชี้ว่ากลุ่มธุรกิจดังกล่าวอาจไม่เป็นไปตามแผนธุรกิจใหม่ บริษัทฯ จึงพิจารณาบันทึกผลขาดทุนจากการด้อยค่าของเงินลงทุนในงบการเงิน ซึ่งได้ผ่านการสอบทานของผู้สอบบัญชีแล้ว

- ความเห็นของคณะกรรมการและคณะกรรมการตรวจสอบเกี่ยวกับความเหมาะสมของการ ตั้งด้อยค่าเงินลงทุน อันเป็นผลจากแผนการปรับโครงสร้างทางธุรกิจของกลุ่มบริษัท

คณะกรรมการและคณะกรรมการตรวจสอบ เห็นชอบในความเหมาะสมของการตั้งด้อยค่าเงินลงทุน อันเป็นผลจากแผนการปรับโครงสร้างทางธุรกิจของกลุ่มบริษัท ตามคำแนะนำของผู้สอบบัญชี ซึ่งผู้สอบบัญชีได้รายงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบ และได้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 ดังที่ได้เคยรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์เรียบร้อยแล้ว