โบรกมอง Virtual Bank เอื้อรายย่อยเข้าถึงสินเชื่อ ต้นทุน-ดอกเบี้ยต่ำ

13 มิ.ย. 2567 | 06:17 น.
อัพเดตล่าสุด :13 มิ.ย. 2567 | 06:35 น.

กูรูฉายภาพ Virtual Bank เอื้อเอกชน ต้นทุนการเงินต่ำทำให้ปล่อยสินเชื่อด้วยดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า รายย่อยเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น จับตากลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลุ่มไอที และสื่อสาร อาจร่วมมือปั้น Virtual Bank

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า Virtual Bank มีวัตถุประสงค์ให้ธนาคารพาณิชย์ดำเนินธุรกิจบนช่องทางดิจิทัลแบบเต็มรูปแบบ โดยจะต้องมีการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล, มีความเชี่ยวชาญในการนำเทคโนโลยีและข้อมูลที่หลากหลายทั้งข้อมูลทางการเงินและข้อมูลทางเลือก เช่น พฤติกรรมการใช้จ่าย มาใช้ประเมินความเสี่ยงและวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

และสามารถนำเสนอบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ (new value proposition) แก่ลูกค้ากลุ่มต่างๆ ได้อย่างครบวงจรและเหมาะสม มองว่าจากการไม่มีสาขาให้บริการจะทำให้ Virtual Bank มีต้นทุนในการดำเนินงานที่ลดลง และมีความสามารถในการให้สินเชื่อกับผู้ประกอบการธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มขนาดเล็กและขนาดกลางได้เพิ่มขึ้นและมีดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์แบบเดิม อีกทั้งยังสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กและกลางเข้าถึงสินเชื่อได้มากยิ่งขึ้น

ต้องยอมรับว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงการขอสินเชื่อที่ค่อนข้างยาก ทำให้การขยายธุรกิจและหาเงินมาหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจนั้นมีกรอบที่จำกัด หรือหากได้สินเชื่อจากธนาคารพาณิลย์มาก็ในอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูงกว่ามากเมื่อเทียบกับธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ โดยมองว่าเมื่อรายย่อยเข้าถึงสินเชื่อจกา Virtual Bank ได้มากขึ้น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังจากนี้จะทำได้ดีมากยิ่งขึ้นอีกด้วย เนื่องจากธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางในประเทศไทยมีอยู่จำนวนมาก

แต่ที่น่าสนใจคือ ธปท. ค่อนข้างให้ความสำคัญในเรื่องของความมั่นคงของ Virtual Bank รวมถึงในเรื่องของความปลอดภัยมาเป็นอันดับต้นๆ ต้องมีศักยภาพ และฐานทุนต้องใหญ่ ไม่มีกฎห้ามธนาคารพาณิชย์ในการเข้าร่วม Virtual Bank และเชื่อว่ามีโอกาสที่จะได้เห็นการร่วมมือกันระหว่างกลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลุ่มสื่อสาร และกลุ่ม IT ในการพัฒนาการให้บริการ Virtual Bank

ทางฝ่ายมองว่าประเด็นดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบกับบริษัทจดทะเบียน ในทางกลับกันยังส่งอานิสงส์เชิงบวกต่อบริษัทจะทะเบียนอีกด้วย โดยเฉพาะหุ้นที่มีการทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับด้านสื่อสาร และไอที สามารถนำเอาความรู้ความเชี่ยวชาญ และความสามารถที่มีมาร่วมพัฒนาระบบเศรษฐกิจในประเทศได้

ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจุบันภาคเอกชนเองก็มีหลายรายที่มีใบอนุญาติและปล่อยสินเชื่อให้กับรายย่อย รวมถึงกลุ่มรากหญ้าอยู่แล้ว ทั้งสินเชื่อประเภทจำนำทะเบียนรถ และสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ แต่ก็ยังคงไม่มากเพียงพอต่อความต้องการ ช่วยได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น และไม่ได้เป็นวงกว้างนัก เพราะการให้สินเชื่อของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก็มีข้อจำกัดการให้ปล่อย เพราะไม่สามารถระดมทุนได้มากพอ ทำให้ต้องมีต้นทุนทางการเงินที่สูง ต้องมีการเพิ่มทุนมาช่วย สภาพการแข่งขันที่รุนแรง ดังนั้น Virtual Bank จึงมาปลดล็อกข้อจำกัดดังกล่าว