วันนี้ (17 มิถุนายน 2567) ที่หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยในงานสัมมนา หุ้นไทย 2024 with the Dragon Fire "Discover new opportunities" เรื่อง หุ้นไทยฝ่าไฟมังกร 2024 : จุดพลังฟื้นความเชื่อมั่นตลาดทุน จัดโดยฐานเศรษฐกิจ ว่า
หากมองไปข้างหน้าจะเห็นถึงจุดแข็งและโอกาสของตลาดหุ้นไทย อย่างน้อยใน 7 กลุ่มหลักที่ยังมีโอกาสเติมโตได้ดี ทั้งกลุ่มบริษัทด้านการท่องเที่ยวและบริการ กลุ่มบริษัทที่จะได้อานิสงส์จากมาตรการรัฐ กลุ่มบริษัทที่จะได้รับผลดีจากการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ กลุ่มบริษัทที่มีรายได้จากต่างประเทศสูง กลุ่มบริษัทที่เป็นผู้นำในด้านความยั่งยืน กลุ่มบริษัทที่มีการจ่ายปันผลที่ดี และกลุ่มบริษัทที่อยู่ในธุรกิจเป้าหมาย (New Economy)
สำหรับกลุ่มบริษัทด้านการท่องเที่ยวและบริการนั้น เห็นว่า ปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนของไทย เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Well-Being ในระดับโลก พร้อมรองรับการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทใหญ่ ๆ ในกลุ่มนี้ซึ่งมีอยู่ 30 หลักทรัพย์ จาก 7 กลุ่มอุตสาหกรรม เช่น การท่องเที่ยวและสันทนาการ ธุรกิจเกษตร ขนส่งและโลจิสติกส์ แฟชั่น การแพทย์ อาหารและเครื่องดื่ม และการพาณิชย์
ต่อมาเป็นกลุ่มบริษัทที่จะได้อานิสงส์จากมาตรการรัฐ ทั้งจากการเบิกจ่ายภาครัฐที่จะกลับมาเร่งตัวในช่วงที่เหลือของปี รวมไปถึงมาตรการอื่น ๆ ที่จะออกมา ซึ่งจะช่วยสนับสนุนกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ทั้งธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจพาณิชย์ ร้านสะดวกซื้อ ค้าปลีก สถานบันเทิง ห้างสรรพสินค้า อุปโภคและบริโภค อาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่ม IT
ขณะที่กลุ่มบริษัทที่จะได้รับผลดีจากการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยที่ผ่านมาเห็นว่ามีโครงการต่างชาติที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพิ่มขึ้น 41% คิดเป็นมูลค่าการลงทุนเกือบ 2 แสนล้านบาท ทำให้อุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์จากการลงทุน มีทั้งบริษัทด้านดาต้าเซ็นเตอร์ นิคมอุตสาหกรรม วิศวกรรม การจัดซื้อและการก่อสร้าง สาธารณูปโภค และชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
อีกกลุ่มก็มีความสำคัญ นั่นคือ กลุ่มบริษัทที่มีรายได้จากต่างประเทศสูง ซึ่งปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนไทยได้ขยายธุรกิจไปยังภูมิภาคต่าง ๆ และมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2565 มีบริษัทจดทะเบียน 335 แห่งเปิดเผยรายได้จากต่างประเทศโดยรวมสูงถึง 5.81 ล้านล้านบาท ซึ่งจะต้องไปดูบริษัทใดที่มีรายได้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น และเป็นบริษัทที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในบางเวลาด้วย
ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ กล่าวว่า เบื้องต้นจากการตรวจสอบข้อมูลบริษัทขนาดใหญ่ (Big-Cap) กว่า 20-30 บริษัทใน 10 อุตสาหกรรม มีรายได้จากต่างประเทศเฉลี่ยสูงถึง 71% รองลงมาคือบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม (Mid&Small-Cap) 20-30 บริษัทใน 10 อุตสาหกรรม มีรายได้จากต่างประเทศเฉลี่ยสูงถึง 55% แต่อย่างไรก็ดีควรพิจารณาปัจจัยเสี่ยงอื่นประกอบด้วย
ส่วนอีกกลุ่มนั้นคือ กลุ่มบริษัทที่เป็นผู้นำในด้านความยั่งยืน โดยขณะนี้มีบริษัทจดทะเบียนไทยสามารถเติบโตและเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล รวมทั้งยังมีบริษัทหลายแห่งที่อยู่ในดัชนีความยั่งยืนโลก เช่น Down Jones 28 บริษัท, FTSE4Good 43 บริษัท และ MSCI 35 บริษัท ในจำนวนนี้ยังมีอีก 14 แห่งที่ได้ Top ESG Score ของ S&P Global ด้วย
ส่วนกลุ่มบริษัทที่มีการจ่ายปันผลที่ดี ซึ่งมีอยู่กว่า 30 บริษัทขนาดใหญ่ ที่มีสภาพคล่องสูง จ่ายปันผลสม่ำเสมออย่างน้อย 3 ปีติดต่อกัน และกิจการมีโอกาสเติบโตในอนาคต ก็เป็นอีกกลุ่มที่ต้องพิจารณา
ขณะที่กลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มบริษัทที่อยู่ในธุรกิจเป้าหมาย (New Economy) โดยขณะนี้มีบริษัทจดทะเบียนไทยกว่า 165 แห่ง ที่ดำเนินธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ New Economy เช่น ดิจิทัลและอี-คอมเมิร์ซ, สุขภาพ, เชื้อเพลิงชีวภาพ และยานยนต์สมัยใหม่ เป็นต้น
"หุ้นไทยในปี 2567 จะสามารถลุยไฟในปีมังกรได้หรือไม่ เห็นว่าต้องสวมชุดลุยไฟไปด้วย เพื่อจะเดินเข้าไปแล้ววิเคราะห์จุดแข็งและโอกาสทั้ง 7 ปัจจัยว่าจะดูหุ้นประเภทไหนในระยะยาว ณ ตอนนี้จึงขอแนะนำนักลงทุนว่า จะต้องอดทน รอบคอบ และใจเย็น จะทำให้สามารถลุยไฟผ่านไปได้" ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ ระบุ
อย่างไรก็ตามมองว่า การลงทุนมีความเสี่ยงเสมอ โดยตลาดทุนเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยง แต่สิ่งสำคัญที่สุดควรต้องพิจารณาข้อมูลและหาความรู้อย่างน้อย 4 เรื่อง นั่นคือ
"ปัจจัยทั้งหมดนักลงทุนจะต้องดูข้อมูลให้ดี เพื่อจะได้ฝ่าไฟในปีมังกรไปได้ ที่สำคัญอยากฝากนักลงทุนว่าอย่าไปเชื่ออะไรที่เป็นข่าวลือต่าง ๆ ที่ไม่มีข้อมูล ต้องดูข้อมูลก่อนจะแชร์ออกไปจะได้ไม่เกิดความวุ่นวายในภายหลัง" ประธาน ตลท. กล่าวทิ้งท้าย