SCBX ยุติ "Robinhood" ลดขาดทุนปีละ 2 พันล้าน "ทรีนีตี้" อัพกำไรเพิ่ม 2-3%

26 มิ.ย. 2567 | 05:50 น.
อัปเดตล่าสุด :26 มิ.ย. 2567 | 09:38 น.

โบรก ประเมิน SCBX แจ้งยุติให้บริการแอปพลิเคชัน Robinhood ปลดภาระขาดทุนปีละ 2 พันล้านบาท ส่งผลดีระยะยาว แม้บริษัทฯ ต้องตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ แต่คาดกระทบผลดำเนินงานน้อย ให้ราคาเป้าหมาย 122-128 บาท/หุ้น บล.ทรีนีตี้ อัพกำไรปี ปี 67- ปี 68 ขึ้นราว 2%-3%

หลังจากที่ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด(มหาชน) หรือ SCBX วานนี้ (25 มิ.ย.67) แจ้งยุติการให้บริการแอปพลิเคชัน Robinhood ของบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทภายใต้กลุ่มเอสซีบี เอกซ์ มีผลตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป หลังจากแอปพลิเคชั่น Robinhood ได้ดําเนินการตามภารกิจในการช่วยเหลือสังคมจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค COVID-19 สําเร็จลุล่วงด้วยดีตามเจตนารมณ์

 

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า เป้าหมายในการทําแอปพลิเคชั่น Robinhood เริ่มแรกของ SCB เป็นหนึ่งในนโยบายช่วยเหลือสังคม (CSR) โดยไม่หวังกําไร และลดภาระผู้บริโภค เนื่องจากในช่วงแรกทางแอปพลิเคชั่นไม่คิดค่าธรรมเนียม GP (ต่อมามีการคิดค่า GP แต่ยังเป็นอัตราที่ต่ำกว่าแอปพลิเคชันอื่นๆ มาก) 

ทําให้ผลการดําเนินงานขาดทุนมาโดยตลอด โดยปี 2565 ขาดทุน 1,987 ล้านบาท และปี 2566 ขาดทุน 2,156 ล้านบาท จึงมองว่าการหยุดให้บริการแอปพลิเคชั่น ดังกล่าวส่งผลบวกต่อกําไร เราจึงปรับประมาณการกําไรปี 2567- 2568 ขึ้นราว 2% และ 3% จากประมาณการก่อนหน้ามาอยู่ที่ 45,703 ล้านบาท (+5%YoY) และ 48,913 ล้านบาท (+7%YoY) ตามลําดับ

คงคำแนะนํา "ซื้อ" เราปรับราคาเป้าหมายปี 2567 ขึ้นเล็กน้อยเป็น 122 บาท อิง PBV 0.82 เท่า ยังพอมี Upside แม้ว่าจะไม่โดดเด่นเท่ากับธนาคารขนาดใหญ่อื่นๆ อาทิ KTB และ BBL แต่คาดว่าประเด็นข่าวดังกล่าวจะส่งผลบวกในเชิง Sentiment เราจึงคงคําแนะนํา “ซือ”

ด้านบล.ทิสโก้ ประเมินว่า การที่ SCB ประกาศยุติให้บริการแอป Robinhood ตั้งแต่ 31 ก.ค. นี้เป็นต้นไป แม้อาจทำให้มีการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ราว 1,000-2,000 ล้านบาทในไตรมาส 3 /67  แต่มีผลกระทบต่อผลดำเนินงานน้อย และเป็นรายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว นอกจากนี้จะเป็นผลดีในระยะกลาง เนื่องจากธุรกิจนี้มีผลขาดทุนปีละ 2,000 ล้านบาท และ SCB ยังจ่ายปันผลได้สูง 6% ยังคงราคาพื้นฐานที่ 122 บาท
 


 

ในขณะที่ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มองในประเด็นนี้ว่า มองเป็นลบเล็กน้อย แม้ในระยะยาวการที่บริษัท Purple Ventures (บริษัทที่ให้บริการ Robinhood) ยกเลิกการให้บริการดังกล่าวไป จะช่วยให้ SCBX ไม่ต้องแบกรับผลขาดทุนราวปีละ 2,000 ล้านบาท (ซึ่งอาจจะเพิ่มขึ้นอีกหลังจากให้บริการ Robinhood Driver ในปี 2567) รวมถึงสามารถนำเงินลงทุนไปใช้ลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าได้ 

อย่างไรก็ดีจากการที่ SCBX ต้องตั้งค่าใช้จ่ายด้อยค่าทรัพย์สินของ Purple Venture เข้ามาในงบกำไรขาดทุน โดยคาดจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 3/2567 ถึง ไตรมาส 4/2567 ซึ่งปัจจุบัน SCBX อยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกับ Auditor ว่าต้องตั้งด้อยค่าเป็นจำนวนเท่าไหร่

แต่หากพิจารณาจากมูลค่าทรัพย์สินของ Purple Venture ในปี 2566 อยู่ที่ 3,532 ล้านบาท ทำให้มองว่าในกรณีเลวร้ายที่สุด ประเด็นดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อประมาณการราว 2,699 ล้านบาท ภายใต้สมมุติฐานตั้งด้อยค่าเต็มมูลค่าของสินทรัพย์ที่ 3,532 ล้านบาท หักด้วยผลขาดทุนจาก Purple Venture ที่คาดจะลดลงไป 833 ล้านบาท หลังหยุดให้บริการ คิดเป็นผลกระทบต่อประมาณการกำไรสุทธิปี 2567 ราว 2,699 ล้านบาท หรือลดลง 5.9% จากประมาณการเดิมของฝ่ายวิเคราะห์ที่ 46,037 ล้านบาท

อย่างไรก็ดีจากการสอบถามไปยังบริษัทเบื้องต้น คาดผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงทั้งทางบวกและทางลบจะชดเชยกันได้พอดี ทำให้มีโอกาสที่ผลจากการตั้งด้อยค่าทรัพย์สินของ Purple Venture จะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ และเป็นผลดีต่อบริษัทในระยะยาว จึงคงคำแนะนำซื้อ มูลค่าพื้นฐานปี 2567 ที่ 128 บาท