วิกฤตการเงินไทยปี 40 หากไม่พูดถึง ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนวีไอก็คงไม่ได้ เพราะไม่เพียงเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์การเงินในช่วงนั้น ที่สำคัญยังเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จสร้างความมั่งคั่งเติบโตจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ครบรอบ 27 ปี ในวันที่ 2 กรกฏาคมนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" จึงถือโอกาสเปิดมุมมอง เพื่อสะท้อนสถานการณ์เศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยในปัจจุบัน
27 ปี บทเรียนฯ เทียบสถานการณ์เศรษฐกิจไทยวันนี้
เหตุการณ์ในช่วงก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งปี 40 ต้องถือว่าเศรษฐกิจไทยช่วงนั้นบูมสุด ๆ เติบโตร้อนแรง เร่งเร็วเกินไปจนแตก ทางการเองก็ไม่ค่อยเข้าใจเศรษฐกิจ และไม่มีประสบการณ์ ชะล่าใจ พลาดตรงที่ว่า "เปิดเสรีการเงิน" ให้เงินโฟลว์เข้า-ออกได้ แต่กลับตรึงอัตราแลกเปลี่ยน แม้จะมีคนเตือนแล้ว แต่ด้วยประสบการณ์ที่ไม่มี เลยเกิดความผิดพลาดครั้งใหญ่
แต่ดีตรงที่ว่าวิกฤตครั้งนั้นฟื้นตัวเร็ว แม้ว่าจะใช้เวลาหลายปี แต่ไทยตอนนั้นมีความสามารถในการแข่งขันค่อนข้างดี เป็นเศรษฐกิจที่โครงสร้างประชากรเป็นคนหนุ่มแน่น ขณะที่ประเทศคู่แข่งรอบบ้านยังน้อย บางประเทศยังไม่เปิดด้วยซ้ำ เทียบกับวันนี้ เราเป็นสังคมสูงวัย เด็กเกิดใหม่ที่จะเป็นพลังในอนาคตมีน้อยและโตไม่ทัน หากจะสร้างให้เศรษฐกิจเติบโตในระดับ 5% และเวทีเวลานี้ก็เต็มไปด้วยคู่แข่งขัน
รอบนี้ไม่ชัดเจนว่า วิกฤต แต่ป่วย...
"การจะพูดว่า รอบนี้เป็นวิกฤตยังไม่ชัดเจน แต่อาการประเทศไทยเวลานี้ เหมือนคนเจ็บป่วยเรื้อรัง ตับไตค่อยๆ เสื่อม สถานการณ์ตลาดหุ้นก็ "ทรงๆ ทรุดๆ" ไม่ได้ตกร่วงรุนแรง แต่ไม่รู้ว่าจะไปต่ออย่างไร ไม่รู้ว่าจะสู้หรือผลิตสินค้าแข่งขันกับประเทศอื่นได้อย่างไร เพราะเราเป็นสังคมคนแก่ ดังนั้นโอกาสจากนี้ การจะสู้แข่งขัน ผมกลับมองว่ายากกว่าช่วงที่ฟื้นจากวิกฤตการเงินปี 40 มาใหม่ๆ เพราะล้มอย่างไร ประเทศไทยช่วงนั้นก็ยังเป็นคนหนุ่มที่ฟื้นกลับมาง่ายและพร้อมจะสู้ต่อ แต่รอบนี้โจทย์คือจะทำอย่างไงที่จะปรับโครงสร้างให้เป็นคนหนุ่มแน่น พร้อมกลับมาสู้อีกครั้ง
แต่ที่น่าห่วงตรงที่ว่า เมื่อสถานการณ์ตอนนี้ "ไปแบบเรื่อย ๆ" หลายคนกลับมองว่า ปัญหาวันนี้เป็นเรื่องปกติ มองว่าไม่เป็นเรื่องด่วนที่จะต้องทำในทันทีทันใด หน่วยงานรัฐก็มอง เศรษฐกิจไทย NORMAL ไม่ได้มีปัญหา ไม่ได้คิดว่าต้องเร่งแก้ปัญหา คนเกิดน้อยไม่ทันกับสังคมคนแก่ ต้องเร่งปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม ทำให้ไม่มีใครเป็นเจ้าภาพที่จะเริ่มทำ ไม่เหมือนช่วงวิกฤตปี 40 ที่มองว่าต้องรีบฟื้นเศรษฐกิจ มีการออก"ศปร."เพื่อที่จะรีบปฏิรูปประเทศ แต่ตอนนี้คือไปแบบเรื่อย ๆ
ผมมองว่าเศรษฐกิจไทยวันนี้อย่างดีก็โตแค่ 2-3% และถ้าไม่ทำอะไรเลย ปัจจัยในการสร้างเศรษฐกิจเมื่อหมดไป เศรษฐกิจก็จะดิ่งไปเรื่อยๆ สุดท้ายเราก็จะเหมือนเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ไม่โตเลย หรือโต 0%
จุดเปราะบาง ตลาดหุ้นไทยรอบนี้
ด้านตลาดทุน เมื่อเทียบกับ 2 ช่วงสถานการณ์ ผมมองว่าอย่างไรโอกาสที่ดัชนีหุ้นไทยวันนี้จะล้มครืนกลับไปเหลือ 200 กว่าจุด (ดัชนี SET ต่ำสุดปี 2542 ที่ 269.19 จุด ) ไม่เลย เราจะเรียกว่าสถานการณ์วันนี้ว่า วิกฤตตลาดหุ้น หรือแม้กระทั่งวิกฤตเศรษฐกิจก็ยังไม่ได้ แต่ความหมายของวิกฤต ก็แล้วแต่มุมมองของแต่ละคน ตอนนี้หุ้นบ้านเราที่ตกหนัก ๆ ไม่ได้เป็นหุ้นทั้งตลาด แต่เป็นหุ้นกลุ่มขนาดเล็ก ขนาดกลางที่ถูกปั่นขึ้นมามาก ๆ จนถูกคอนเนอร์ หุ้นกลุ่มเหล่านี้นักลงทุนรายย่อย หรือรายใหญ่ที่เข้าไปเล่นตาม เพราะอยากได้กำไรเยอะๆ โดยใช้บัญชีมาร์จิ้น (เงินกู้เพื่อซื้อหุ้น) ก็เจ็บหนัก เรียกว่าเป็นวิกฤตของคนกลุ่มนี้ได้ แต่ไม่ได้มีพลังมากขนาดจะส่งผลต่อตลาดหุ้นไทยในภาพรวม เพราะเห็นได้ว่าช่วงที่กลุ่มนี้ทำกำไรได้เม็ดเงินมาก ๆ ดัชนีหุ้นไทยยังไม่ปรับขึ้นเลย เป็นการเล่นกันเองในกลุ่มตัวเล็กตัวกลาง
หุ้นไทย ยังพอมีหวัง ?
วันนี้ตลาดหุ้นไทยถามว่าตกแรงไหม ? คือไม่ ตกทีก็ไม่มาก ขึ้นทีก็สั้น ๆ ไปทีละ 100 , 200 จุด ( ข้อมูล ตลท. ณ 28 มิ.ย 67 หุ้นไทย YTD ตกมาแล้ว 8% กว่า ) ซึ่งโอกาสกำไรจะเกิดขึ้นก็มาจากการที่ตลาดหุ้นลงและลงมาก แต่วันนี้จะไปหวังอะไรว่าหุ้นจะขึ้นมามาก อย่างมากก็กลับไปที่ดัชนี 1500 จุดก็แค่นั้น
แต่การไปมองแค่ดัชนี ผมว่าเป็นการมองโลกในแง่ดีเกินไป ผมลงทุนโดยมองระยะยาว ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่โตเช่นนี้ การหาหุ้นที่จะไปลงทุนระยะยาวก็จะยากไปด้วย เพราะเราไม่ใช่คนเล่นหุ้นตามดัชนี บางคนบอกว่ามีบริษัทเล็กๆไง ที่เติบโตได้ อันนี้ไม่เถียง แต่ภาพการลงทุนของผมเน้นภาพใหญ่มากกว่าซึ่งค่อนข้างจะปลอดภัย อย่างไรก็ดีหุ้นตัวเล็กถ้าเลือกถูกตัว ก็มีโอกาสที่เติบโตได้ เพราะตลาดหุ้น ทุกๆ วิกฤตอย่างไรก็มีโอกาส
ผลตอบแทนจากพอร์ตครึ่งปีแรก?
ครึ่งแรกของปีนี้ พอร์ตผมถ้าเป็นหุ้นในไทยติดลบเล็กน้อย ราว 3-4% เพราะผมไม่เล่นหุ้นเก็งกำไร ไม่ใช่หุ้นแบบที่ขึ้นไปก่อนหน้าเยอะ ๆ ดังนั้นของเราจึงไม่ได้ลงมาก แต่เพราะหุ้นเวียดนามบวกขึ้นมาเยอะ หลักสิบเปอร์เซนต์ ทำให้ผลตอบแทนพอร์ตรวมผมยังเป็นบวกโตระดับ 5% อัพ และเทียบจากมูลค่า วันนี้สัดส่วนกว่า 30-35% ของพอร์ตเป็นการลงหุ้นในเวียดนาม และ 60% เป็นการลงทุนหุ้นในประเทศ ที่เหลือ 5% ถือเงินสด