ตลาดหุ้นไทยทรุด ดัชนีร่วงหนักกว่า 25.63 จุด หลังตัวเลขแรงงานสหรัฐฯ ออกมาแย่

05 ส.ค. 2567 | 06:11 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ส.ค. 2567 | 07:46 น.

ตลาดหุ้นไทยวันนี้ 5 ส.ค.2567 ปิดตลาดภาคเช้าดิ่งกว่า 25.63 จุด มาอยู่ที่ระดับ 1,287.45 จุด รับแรงกดดันตัวเลขภาคแรงงานสหรัฐฯอ่อนแอ หวั่นเศรษฐกิจโลกถดถอย โบรกชี้ Downside จำกัด ประเมินแนวรับ 1,280-1,290 จุด แนวต้าน 1,300-1,310 จุด

ความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทยในช่วงระหว่างเปิดตลาดภาคเช้าวันนี้ 5 ส.ค.2567 (ณ เวลา 12.46 น.) ดัชนีร่วงหนักกว่า 25.63 จุด มายืนที่ระดับ 1,287.45 จุด เปลี่ยนแปลง 1.95% จากปิดตลาดก่อนหน้า โดยในช่วงระหว่างเปิดทำการซื้อขายในภาคเช้านี้ดัชนีปรับตัวขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ระดับ 1,296.11 จุด ก่อนที่จะย่อตัวลงมาทำจุดต่ำสุดที่ระดับ 1,285.90 จุด มีมูลค่าการซื้อขายระหว่างวันอยู่ที่ระดับ 28,479.87 จุด 

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ รองกรรมการณผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยวันนี้ มองว่ายังคงแกว่งตัวในแดนลบ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นในภูมิภาค สาเหตุหลักๆ เป็นผลมาจากความกดดันต่อตัวเลขภาคแรงงานของสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด ซึ่งไปกดดันหุ้นกลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมีฯ และ อิเล็กทรอนิกส์ 

ส่งผลให้หลายฝ่ายกังวลใจต่อเศรษฐกิจโลกที่อาจกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย ทำให้การลงทุนมีความระมัดระวังมากขึ้น และจะเห็นได้ว่าเม็ดเงินไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้นไปหลบในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างตราสารหนี้แทน หรือการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่คล้ายกันอย่างกอง REIT แทน

ทั้งนี้ เชื่อว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยในวันนี้ Downside ค่อนข้างจำกัด และอาจไม่ได้ลดลงแรงๆ เหมือนตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงในช่วงที่ผ่านมา โดยประเมินกรอบแนวรับไว้ที่ระดับ 1,280-1,290 จุด และกรอบแนวต้านที่ 1,300-1,310 จุด เป็นต้น

กลยุทธ์การลงทุน เลือกเล่ยหุ้นรายตัวที่มีแนวโน้มว่าผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2567 จะออกมาดี เช่น กลุ่มสื่อสาร กลุ่มค้าปลีก และกลุ่มอาหาร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มองว่าตลอดทั้งสัปดาห์นี้ ดัชนีตลาดหุ้นไทยยังมีแนวโน้มเป็นขาลงได้ต่อ และในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. 2567 ตลาดหุ้นจะมีความผัวผวนค่อนข้างมาก จนกว่าตัวเลขเศรษฐกิจโลกจะไม่เผชิญต่อสภาวะถดถอยอีก

บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า จากการที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวในแดนลบ ปัจจัยมาจากการรายงานตัวเลขภาคแรงงานสหรัฐฯอ่อนแอ จากการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือน ก.ค. เพิ่มขึ้น 1.14 แสนรายต่ำคาดที่ 1.76 แสนรายและตัวเลขการว่างงานเร่งตัวขึ้นมาที่ 4.3% มากกว่าคาดที่ 4.1%  ทำให้เกิดความกังวลต่อเศรษฐกิจที่เข้าสู่ Recession

และคาดว่า FED จะลดดอกเบี้ยฯเดือน ก.ย. 2567 นี้ด้วยโอกาส 100% (แบ่งเป็นลดในอัตรา 0.25% ด้วยโอกาส 78% และเริ่มคาดว่าลดด้วยอัตรา 0.5% ด้วยโอกาส 22%) ตลาดหุ้นตอบรับเชิงลบ นำโดย NASDAQ -2.4% S&P500 -1.8% และ Dow Jones -1.5% และเม็ดเงินเคลื่อนย้ายสู่สินทรัพย์ปลอดภัยทำให้ U.S. Bond Yield 10 ปีลดลง 17.2 bps ทำจุดต่ำสุดของปีที่ 3.8% สภาพแวดล้อมข้างต้นเป็นลบต่อตลาดหุ้นภูมิภาคเช้านี้

สำหรับตลาดหุ้นไทยยังยืนยันมุมมองเดิมว่าการปรับฐานจะไม่แรงเท่าสหรัฐฯ เนื่องจากเศรษฐกิจบ้านเรากำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว โดยคาดว่า GDP Growth ผ่านจุด Bottom ช่วงไตรมาส 1/2567 ที่ขยายตัว 1.5% จากช่วงเดียวกันในปีก่อนไปแล้ว โดยปัจจัยหนุนจากการฟื้นของการลงทุนภาครัฐฯ และภาคการท่องเที่ยว

โดยคาด GDP ปี 2567 ขยายตัว 2.4% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน ขณะที่กำไรบริษัทจดทะเบียนจากการรวบรวมข้อมูลถึงวันที่ 31 ก.ค. ยังสร้าง Positive Surprise ที่ 5% จึงยังไม่มีสัญญาณ Earnings Downgrade ซึ่งยังคงการ EPS 2567 ที่ 94.7 บาท/หุ้น ขยายตัว 24% ทำให้การย่อตัวลงมาวันนี้เป็นโอกาสสะสม โดยหุ้นที่เราคาดว่า Outperform ตลาดวันนี้ คือ กลุ่มได้ประโยชน์จาก Yield ขาลง ICT ,ไฟแนนซ์,ปันผล

SET Index วันศุกร์ที่ผ่านมาปรับลง 9.67 จุด จากความกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัว กดดันกลุ่ม Global Play อย่างกลุ่มอิเล็คทรอนิกส์ DELTA -2.4% HANA -3.2% กลุ่มปิโตรฯ PTTGC -6.4% IVL -2.6% และกลุ่มบรรจุภัณฑ์ SCGP ปรับลง -2.6% ส่วนกลุ่มปรับขึ้นคือกลุ่ม ICT TRUE +2.7% ADVANC+2.2%กลุ่มโรงกลั่นฟื้น BCP +3.7% SPRC +1.3% จากรับเรื่อง Regulatory Risk ไปมาก

  1. ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับฐานแรงต่อเนื่องในช่วง -1.49% ถึง -2.29%
  2. ราคาน้ำมันดิบ Brent -3.41%, WTI -3.66%

ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล อายุ 2 และ 10 ปี ร่วงลงแรง แตะระดับ 3.88% และ 3.79% ตามลำดับ สะท้อนแรงซื้อในสินทรัพย์ปลอดภัยและการให้น้ำหนักโอกาส Fed ลดดอกเบี้ยมีมากขึ้น

ในสัปดาห์นี้ยังคงต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจต่างประเทศที่ต้องลุ้นให้เห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นกว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนปัจจัยภายในประเทศ อาทิ

  • ลุ้นกระแสเงินทุนต่างชาติที่มีความเสี่ยงพลิกมาขาย ตาม Risk sentiment ทั่วโลก
  • CPI เดือน ก.ค.
  • ศาล รธน. วินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล