CHAYO ชี้มูลหนี้เปิดประมูล 9 เดือนแรก สูงกว่า 4 แสนล้าน

04 ก.ย. 2567 | 23:30 น.
อัพเดตล่าสุด :05 ก.ย. 2567 | 02:45 น.

CHAYO ตุนงบในกระเป๋าไว้รองรับกว่า 1.1 พันล้าน เตรียมลุยซื้อหนี้ด้อยคุณภาพใหม่เข้ามาบริหารในพอร์ตเพิ่ม รับมูลหนี้ปี 67 สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ แนะรัฐฯไม่จำเป็นต้องตั้งหน่วยงาน AMC แห่งชาติ กองทุน-เอกชน พร้อมซัพพอร์ต

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 จนถึงปัจจุบัน บริษัทสามารถซื้อมูลหนี้ใหม่เข้ามาเติบในพอร์ตได้เพิ่มแล้วกว่า 3,000 ล้านบาท โดยใช้เงินลงทุนไปทั้งหมดประมาณ 400 ล้านบาทเท่านั้น จากงบจัดสรรสำหรับรับซื้อหนี้เสียในปีนี้ที่วางไว้ราว 1,000-1,500 ล้านบาท

ทำให้ในขณะนี้บริษัทยังคงมีเงินสดเหลืออยู่ในมือรองรับการซื้อหนี้ในช่วงที่เหลือของปี 2567 นี้ อีกกว่า 1,000-1,100 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถซื้อหนี้ด้อยคุณภาพก้อนใหม่เข้ามาเติบพอร์ตได้เพิ่ม มูลค่าไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท โดยในช่วงครึ่งหลังปีมองว่าทั้งการซื้อหนี้ใหม่ และทั้งผลการดำเนินงาน มองว่าจะทำได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกปี เพราะเป็นช่วงพีคของธุรกิจ

โดยนับตั้งเดือนมกราคมมาจนถึงปัจจุบันมีมูลหนี้ด้อยคุณภาพที่ปล่อยประมูลออกมาถึงมือแล้วมูลค่ารวมกว่า 400,000 ล้านบาท ซึ่งมีการประกาศผลผู้ชนะไปแล้วราว 300,000 ล้านบาท และยังเหลือที่กำลังจะทยอยประกาศผลในช่วงที่เหลือของปี 2567 นี้อีกราว 80,000-90,000 ล้านบาท มูลหนี้ด้อยคุณภาพที่ถูกปล่อยออกมาในปี 2567 ยอมรับว่าสูงกว่าที่เคยคาดการณ์
 

ในส่วนธุรกิจเร่งรัดติดตามหนี้นั้น แม้ว่าในช่วงไตรมาส 1/2567 จะชะลอตัวลงไปบ้าง เนื่องจากมีการตัดการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญไป แต่ในไตรมาสที่ 2/2567 ผลการดำเนินงานเริ่มกลับมามีกำไรในทิศทางที่ดีขึ้น และคาดว่าในไตรมาส 3-4/2567 จะค่อยๆ ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ธุรกิจการปล่อยสินเชื่อ ภายใต้การบริหารของ บริษัทย่อย ชโย แคปปิตอล หรือ CCAP ที่เป็นบริษัทย่อยนั้น มองว่าด้วยสถานการณ์ปัจจุบันอาจไม่เอื้อต่อการเร่งขยายสินเชื่อมากนัก ทำให้ในช่วงที่เหลือของปี 2567 บริษัทจะหยุดการปล่อยยอดสินเชื่อใหม่ไปก่อน และจะแบ่งเงินจากธุรกิจปล่อยสินเชื่อมาเสริมให้ธุรกิจรับซื้อหนี้ด้อยคุณภาพแทน เนื่องจากเป็นธุรกิจหลักที่ยังคงมีการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า 25% เมื่อเทียบกับธุรกิจสินเชื่อที่ได้ผลตอบแทนเพียงหลัก 10%

ทั้งนี้ บริษัทได้ชะลอการนำ CCAP เข้าระดมทุนโดยมองว่าปัจจุบันภาวะตลาดยังผันผวน ไม่เอื้อต่อการที่จะเสนอขายหุ้น IPO และเพื่อเป็นการให้ CCAP มีเวลาในการสร้างฐานลูกค้า (หรือ Build Ports) มากขึ้น จึงขอเลื่อนระยะเวลาการนำหุ้น CCAP เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ออกไปก่อน โดยคาดว่าจะเป็น ต้นปี 2568 จากเดิมคาด IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์ภายในปลายปี 2567 นี้

อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 บริษัทวางเป้าหมายการเติบโตโดยรวมไว้ที่ไม่น้อยกว่า 20% จากปีก่อน ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ระดับ 1,628.78 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ระดับ 391.14 ล้านบาท โดยผลการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ระดับ 1,008.62 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 79.94 ล้านบาท

ประเด็นที่รัฐบาลจะมีแผนพิจารณาการจัดตั้งหน่วยงานรับซื้อหนี้ด้อยคุณภาพแห่งชาติขึ้นมา เพื่อรับซื้อหนี้ด้อยคุณภาพ และเพื่อเข้ามาเป็นอีกหนึ่งกำลังในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่กำลังมีปัญหาได้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และช่วยเหลือลูกค้าปรับปรุงโครงสร้างหนี้เหล่านี้ ได้มีโอกาสเข้ามาพูดคุยเจรจาปรึกษา ร่วมหาทางออก และสามารถกลับไปดำเนินชีวิตได้ตามปกติ

ความคิดเห็นส่วนตัวมองว่าอาจไม่ถึงขึ้นที่จะต้องจัดตั้งหน่วยงานซื้อหนี้ด้อยคุณภาพแห่งชาติดังกล่าวขึ้นมา เพราะในปัจจุบันทั้ง บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM หรือแม้กระทั่ง บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM ที่มีกองทุน เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ อันดับ 1 ในสัดส่วน 45.79%

ทั้ง 2 หน่วยงานข้างต้นก็มีความสามารถในการรับซื้อหนี้ด้อยคุณภาพมาบริหารจัดการ รวมถึงช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบปัญหาอยู่แล้วได้ โดยหากอยากเพิ่มศักยภาพในการช่วยเหลือให้เพิ่มขึ้น ก็มีหลายช่องทางที่ทำได้ เช่น การที่กองทุนใส่เงินเพิ่มเพื่อให้ทั้ง 2 บริษัทมีขีดความสามารถในการช่วยเหลือประชาชนได้

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการ AMC ภาคเอกชนรายอื่นๆ ก็สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือได้เช่นเดียวกัน ซึ่งตลอดมา CHAYO เองก็เป็นอีกแรงหนึ่งที่พยายามจะเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบปัญหา เข้าไปเจรจาและช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้ต่างๆ หาทางออก และทำให้ลูกหนี้ได้กลับมายืนได้อีกครั้ง