นายวราห์ สุจริตกุล ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง เปิดเผยว่า คาดว่าจะนำหน่วยลงทุนประเภท ก. เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ภายในวันที่ 7 ต.ค. 2567 นี้ หลังจากเตรียมเปิดให้ผู้ลงทุนทั่วไปที่เป็นผู้ลงทุนรายย่อยในประเทศจองซื้อวันที่ 16-20 ก.ย.2567
ที่ราคาหน่วยละ 10 บาท ซึ่งจะเริ่มต้นขั้นต่ำที่ 1,000 หน่วย หรือคิดเป็นมูลค่า 10,000 บาท โดยบริษัทคาดว่าจะประกาศผลการจองซื้อหุ้นหน่วยลงทุนประเภท ก.แก่ผู้ลงทุนทั่วไปและนักลงทุนสถาบันได้ภายในวันที่ 25 ก.ย.2567 หลังกองทุนฯ จะเสนอขายหน่วยลงทุนที่ราคาเสนอขาย 10 บาทต่อหน่วย รวมมูลค่าประมาณ 1-1.5 แสนล้านบาท
โดยแบ่งผู้ลงทุนเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
ทั้งนี้ เงินที่ได้จากการเสนอขายหน่วยลงทุนในครั้งนี้ ส่วนใหญ่จะนำไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนของกองทุนฯแต่ละปี จะจ่ายให้ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ในรูปแบบเงินปันผลตามผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงของกองทุนฯในอัตราไม่ต่ำกว่า 3%/ปี แต่ไม่เกินกว่า 9%/ปี โดยผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับเงินปันผลปีละ 2 ครั้ง
คำนวณจากมูลค่าที่ตราไว้ (Par) ของหน่วยลงทุนประเภท ก. ที่ 10 บาท/หน่วย ซึ่งไม่ใช่การรับประกันหรือค้ำประกันผลตอบแทน แต่เป็นกลไกคุ้มครองผลตอบแทนของกองทุนฯ ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก.จะได้รับเงินปันผลก่อนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. จากนั้นผลตอบแทนส่วนที่เหลือจะเป็นของหน่วยลงทุนประเภท ข.
สำหรับผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. มีสิทธิได้รับคืนเงินลงทุนตามแนวทางการชำระคืนเงินลงทุนแบบ Waterfall ซึ่งผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับคืนเงินลงทุนก่อนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. ที่มูลค่าเงินลงทุนเริ่มต้นที่ 10 บาทต่อหน่วย อย่างไรก็ดีกลไกดังกล่าวไม่ใช่การรับประกันหรือค้ำประกันว่าผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับเงินลงทุนเท่ากับมูลค่าเงินลงทุนเริ่มต้น
ในกรณีที่ NAV รวมของกองทุนฯ ณ วันครบกำหนดระยะเวลาการลงทุนเบื้องต้น (10 ปี) ต่ำกว่ามูลค่าเงินลงทุนเริ่มต้นของหน่วยลงทุนประเภท ก. ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. อาจได้รับคืนเงินลงทุนน้อยกว่ามูลค่าเงินลงทุนเริ่มต้นได้ ส่วนเมื่อครบระยะเวลาการลงทุนเบื้องต้น 10 ปี
หากกองทุนฯจะระดมทุนต่อจะให้สิทธิผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ขยายระยะเวลาการลงทุนหรือขายคืนหน่วยลงทุน (redeem) ตามแนวทางที่กำหนดได้ อย่างไรก็ดี หากกองทุนฯ ไม่ประสงค์จะระดมทุนต่อ บริษัทจัดการจะรับซื้อคืนหรือไถ่ถอนหน่วยลงทุนประเภท ก. ทั้งหมดโดยอัตโนมัติ
ทั้งนี้ กองทุนฯ มีกลไกการบริหารความเสี่ยงจากการกำหนดอัตราส่วนมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของทั้งกองทุนฯ ต่อเงินลงทุนของหน่วยลงทุนประเภท ก. (ACR) โดยจากข้อมูล NAV รวมของกองทุนฯ ณ วันที่ 6 ก.ย.2567 และในกรณีที่เสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. เป็นมูลค่ารวม 150,000 ล้านบาท ACR จะอยู่ที่ประมาณ 3.36 เท่า
ซึ่งกรณีที่ ACR ลดลงต่ำกว่า 2 เท่า ติดต่อกัน 5 วันทำการ บริษัทจัดการจะเพิ่มสัดส่วนของสินทรัพย์สภาพคล่องหรือกันส่วนสำรองเพื่อการจ่ายเงินปันผลให้เพียงพอต่อการจ่ายผลตอบแทนขั้นต่ำแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ได้เป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปี
และกรณี ACR ลดลงต่ำกว่า 1.5 เท่า ติดต่อกัน 5 วันทำการ บริษัทจัดการอาจพิจารณาเปลี่ยนสินทรัพย์ลงทุนให้เป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องจำนวนไม่น้อยกว่าเงินลงทุนเริ่มต้นของหน่วยลงทุนประเภท ก. ภายในระยะเวลา 90 วัน
และเก็บไว้เป็นเงินสำรองตามมาตรการชำระคืนเงินลงทุนของหน่วยลงทุนประเภท ก. โดยจะทยอยเปลี่ยนสินทรัพย์เพื่อผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. หรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติจากผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ทั้งหมดหรือบางส่วน
ดังนั้น จึงเสมือนว่าผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ได้รับความคุ้มครองจากกลไกการบริหารความเสี่ยงก่อนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. และเพื่อตอบแทนการให้ความคุ้มครองตามกลไกบริหารความเสี่ยงดังกล่าว ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. จะได้รับเงินปันผล หรือมีสิทธิขายคืนหน่วยลงทุนตลอดอายุโครงการ จาก NAV ข. ส่วนที่เกินจาก NAV เริ่มต้นของหน่วยลงทุนประเภท ข. ที่ 300,000 ล้านบาท
นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทจัดการกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง กล่าวว่า คาดการณ์ว่ากองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่งจะเริ่มลงทุนได้ภายในวันที่ 1 ต.ค.2567 หลังปิดการเสนอจองซื้อหน่วยลงทุนให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไปและนักลงทุนสถาบันแล้ว
ซึ่งมองว่าการลงทุนนั้นก็ต้องดูจังหวะการลงทุนที่เหมาะสม โดยอาจเป็นการเลือกทยอยเข้าลงทุนแทนการซื้อก้อนใหญ่เพียงครั้งเดียว เพราะเม็ดเงินลงทุนก้อนใหญ่หลัก 1-1.5 แสนล้านบาท โดยกองทุนฯมีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆ รวมถึงการบริหารทั้งแบบเชิงรุก (Active Investment) และแบบเชิงรับ (Passive Investment)
ส่วนใหญ่ลงทุนในหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯและจะเน้นลงทุนในหุ้นบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีความมั่นคงในระยะยาว ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี อาทิ บริษัทที่อยู่ใน SET100 ที่ได้รับคะแนน SET ESG Ratings ระดับ A ขึ้นไป หรือบริษัทนอก SET100 ที่ได้รับคะแนน SET ESG Ratings ที่สูงกว่า เป็นต้น
นอกจากนี้ อาจพิจารณาลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ที่มีอัตราผลตอบแทนดีหรือมีแนวโน้มเติบโตสูง หรือมีสภาพคล่องและมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ขณะเดียวกันมองว่ากองทุนดังกล่าวเหมาะกับผู้ลงทุนที่ต้องการออมเงินและคนที่เกษียณอายุแล้ว เพราะมีนโยบายการจ่ายปันผล 2 ครั้ง/ปี ทำให้ผู้ลงทุนสามารถมีสภาพคล่องได้ในระยะยาว
“กองทุนรวมวายุภักษ์เดิม ถูกจัดตั้งขึ้นมาแล้วกว่า 20 ปี ตั้งแต่ 1 ก.ค.2546 โดยเป็นกองทุนรวมปิดมีขนาด 100,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันได้แปรสภาพกองทุนเป็นกองทุนรวมเปิด คงเหลือเฉพาะผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. ได้แก่ กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ ซึ่งล่าสุด ณ วันที่ 6 ก.ย.2567 กองทุนฯ มีมูลค่า NAV ราว 353,596 ล้านบาท และปัจจุบันพร้อมเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. และนับจากปี 2557-2566 กองทุนฯได้รับเงินปันผลจากหลักทรัพย์เฉลี่ยปีละ 12,278 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราเงินปันผลรับต่อมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเฉลี่ย 3.75% ซึ่งเพียงพอที่จะจ่ายผลตอบแทนขั้นต่ำต่อปีแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. นอกจากนี้กองทุนฯมีฐานะทางการเงินที่มั่นคง โดย ณ วันที่ 30 มิ.ย.2567 มีกำไรสะสมกว่า 142,739 ล้านบาท" นางชวินดา กล่าว
นายธนโชติ รุ่งสิทธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด(มหาชน) ในฐานะบริษัทจัดการกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง กล่าวว่า ผู้ลงทุนสามารถซื้อหน่วยลงทุนได้ตามบริษัทจัดการและผู้สนับสนุนการขายหน่วยลงทุนรวม 8 ราย ได้แก่
โดยจะจัดสรรด้วยวิธี Small Lot First ซึ่งผู้จองซื้อทุกรายจะมีโอกาสในการได้รับจัดสรรหน่วยลงทุนเท่ากัน
ในการจองซื้อ ผู้จองซื้อจะต้องชำระค่าหน่วยลงทุนครั้งเดียวเต็มตามจำนวนที่จองซื้อ ที่ราคา 10 บาทต่อ 1 หน่วย โดยผู้จองซื้อที่ได้รับจัดสรรหน่วยลงทุน ไม่ครบตามจำนวนที่จองซื้อ จะได้รับเงินคืนภายใน 7 วันทำการหลังสิ้นสุดการจองซื้อของผู้ลงทุนทุกประเภท สามารถติดต่อขอรับหนังสือชี้ชวนและใบจองซื้อได้ที่บริษัทจัดการและผู้สนับสนุนการขายหน่วยลงทุนทุกราย
ซึ่งหน่วยลงทุนที่ได้รับการจัดสรรจะเป็นรูปแบบไร้ใบหน่วย (Scripless) ซึ่งสามารถเลือกรับหน่วยลงทุนเข้าบัญชีหลักทรัพย์ของตนเอง หรือฝากหน่วยลงทุนไว้กับนายทะเบียนในบัญชีผู้ออกหลักทรัพย์ (บัญชี 600) ก็ได้ ทั้งนี้ หากฝากหน่วยลงทุนเข้าบัญชี 600 จะไม่สามารถซื้อขายหน่วยลงทุนได้ทันวันแรกที่หน่วยลงทุนเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ
และหากผู้ลงทุนที่ฝากหน่วยลงทุนเข้าบัญชี 600 ต้องการซื้อหรือขายหน่วยลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ผู้ลงทุนจำเป็นต้องเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์กับบริษัทหลักทรัพย์ก่อน และทำการโอนหน่วยลงทุนจากบัญชี 600 (ตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนด) เข้าบัญชีหลักทรัพย์ของตน เพื่อทำการซื้อหรือขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อไป
นอกจากนี้ ผู้จองซื้อสามารถแจ้งขอออกใบหน่วยลงทุนได้ ภายหลังหน่วยลงทุนเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ และได้ฝากหน่วยลงทุนตามจำนวนที่ได้รับจัดสรรเข้าบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเองหรือบัญชี 600 แล้ว โดยจะเสียค่าธรรมเนียมตามที่บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ TSD กำหนด
“เชื่อว่าการเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. ของกองทุนฯ จะได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนทั่วไป ที่ต้องการได้รับผลตอบแทนมั่นคงในระยะยาว ในรูปแบบเงินปันผลตามเงื่อนไขที่กำหนดจากหลักทรัพย์ที่เข้าลงทุน” นายธนโชติ กล่าว