จากการที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ได้แสดงวิสัยทัศน์ในงาน Vision for Thailand 2024 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่าน เกี่ยวกับการแก้หนี้ครัวเรือน และได้เสนอให้มีการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ของรัฐ เพื่อให้รัฐบาลซื้อหนี้กลับมาบริหารเอง โดยให้ราคาส่วนลด 50% จากที่ธนาคารพาณิชย์ได้ตั้งสำรองครบ 100% แล้วเมื่อขายหนี้ออกมาก็จะสามารถตีกลับเป็นกำไรในทางบัญชีได้อีก 50%
หลังจากที่ระดับหนี้ครัวเรือนที่เร่งตัวขึ้น มาอยู่ที่ระดับ 16.37 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.8% ของจีดีพี เพิ่มขึ้นถึง 2.18 ล้านล้านบาท หรือ 15.36% หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ระดับ 14.19 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 84.1%ต่อจีดีพี เมื่อสิ้นปี 2562 ทำให้รัฐบาลต้องตั้งเป็นนโยบายเร่งด่วนที่จะผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ และเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบที่กำลังเข้าขั้นวิกฤต
นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า มองว่าด้วยการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ของภาครัฐในปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ทำให้การประเมินผลกระทบอาจยังมีความไม่แน่นอนอยู่
แต่เชื่อว่าการที่สถาบันการเงินจะตัดหนี้ด้อยคุณภาพออกมาจำหน่าย ต้องเป็นกลุ่มหนี้ที่มีอาการของการเป็นหนี้เสียแล้ว (NPLs) หรืออยู่ State 3 แล้ว ซึ่งการตัดขายหนี้ด้อยคุณภาพออกจะทำให้สถาบันการเงินมีการปรับสัดส่วนหักล้างทางบัญชีที่ดีขึ้น รวมไปถึงปรับโครงสร้างหนี้ และทำให้ NPLs ที่ค้างในระบบถูกดึงออกมาแก้ไขให้ดีขึ้นได้ ทำให้สถาบันการเงินมีความคล่องตัวมากขึ้น
นอกจากนี้ มองว่าการตัดจำหน่ายหนี้ด้อยคุณภาพออกไปในราคาส่วนลด 50% ถือว่าเป็นราคาที่ค่อนข้างดี ส่วนความกังวลถึงผลกระทบที่จะมีต่อการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น เชื่อว่าจะไม่มีผล เนื่องจากหนี้ด้อยคุณภาพเหล่านี้ได้ถูกตั้งสำรองไปเรียบร้อยแล้ว และคงไม่มีการตั้งสำรองใหม่จากก้อนหนี้เดิมซ้ำอีกในอนาคต
โดยการจำหน่ายหนี้ด้อยคุณภาพออกไปยังเป็นผลบวกกับกลุ่มลูกหนี้ได้มีทางออกในการแก้ไขปัญหา และให้ภาครัฐยื่นมือเข้ามาเป็นอีกแรงที่ช่วยฟื้นกลุ่มลูกหนี้ที่มีปัญหาได้ โดยเฉพาะในในส่วนของกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่คาดว่าภาครัฐจะสามารถจัดหาแหล่งเงินใหม่มาปล่อยสินเชื่อ ช่วยพลิกฟื้นธุรกิจให้กับลูกหนี้อีกครั้ง
สำหรับบริษัทบริหารสินทรัพย์ภาคเอกชนที่มีอยู่ในตลาดอยู่แล้วนั้น มองว่ากลุ่มหนี้ด้อยคุณภาพในบางส่วนก็เป็นส่วนที่อาจเข้าขั้นที่บริหารจัดการยาก และการรับซื้อมูลหนี้ดังกล่าวมาอาจมีความเสี่ยงและไม่คุ้ม เพราะมีปัญหาหลายๆ อย่างที่ต้องเข้าไปวางแผนช่วยปรับโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก
ซึ่ง AMC เองก็คงไม่มีศักยภาพพอที่จะหาแหล่งปล่อยสินเชื่อใหม่เข้ามาช่วยลูกหนี้ได้ครบหมดทุกราย และหากไม่มีเงินก้อนใหม่เข้ามาช่วยลูกหนี้ในการหมุนเวียนฟื้นธุรกิจ ก็แทบทำอะไร หรือช่วยเหลืออะไรต่อไม่ได้เลย และไม่มีเจ้าภาพที่ใหญ่มากพอจะเข้ามาช่วย ดังนั้น การที่รัฐจัดตั้ง AMC ขึ้นมาก็เหมือนเข้ามาช่วยกระจายความเสี่ยงให้กับ AMC ภาคเอกชน
โดยมองว่าการที่ภาครัฐตั้ง AMC ขึ้นมานั้น คงต้องมีกลไกบางอย่างจากการอัดฉีดเข้ามาช่วยผลักดันกลุ่มลูกหนี้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ให้สามารถดำเนินธุรกิจไปได้ต่อ