“หมอบุญ” แจง THG เงินไม่หาย - ไม่มีทุจริต แค่เข้าใจผิดภายในองค์กร

21 ก.ย. 2567 | 09:40 น.
อัพเดตล่าสุด :21 ก.ย. 2567 | 09:45 น.

หมอบุญ ผู้ก่อตั้ง บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ชี้แจง THG ไม่มีการทุจริต และเงินไม่ได้หาย แค่เป็นเพียงเรื่องการเข้าใจผิดภายในองค์กร หลังบริษัทแจ้ง ตลท. ตรวจพบรายการอันควรสงสัยของบริษัทย่อย

จากกรณี บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า บริษัทการตรวจพบรายการอันควรสงสัย ของบริษัทย่อย จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง จำกัด หรือ THB และ บริษัท ที เอซ เฮลท์ จำกัด หรือ THH 

ล่าสุด นายแพทย์บุญ วนาสิน หรือ "หมอบุญ" อดีตประธานกรรมการ และเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าว เป็นเพียงเรื่องการเข้าใจผิดภายในองค์กร 

ดังนั้น THG ไม่มีการทุจริต และเงินไม่ได้หาย แต่ยอมรับว่ามีการสั่งซื้อสินค้าจากประเทศเยอรมันจริง แต่บริษัทไม่ได้รับมอบสินค้าดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทเข้ามารับผิดชอบค่าเสียหายดังกล่าวแล้ว คิดเป็นจำนวนเงินเสียหาย 110 ล้านบาท ไม่ใช่ 210 ล้านบาท โดย THG ไม่ต้องแจ้งรายละเอียดเพิ่มเติมกับทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แล้ว เพราะมีการคุยกันภายในเรียบร้อยแล้ว

“เป็นเรื่องการเข้าใจผิดที่ไม่มีการสื่อสารกัน ยืนยัน THG ไม่มีการทุจริตเกิดขึ้น และไม่มีเงินหายด้วย แต่เรายอมรับว่ามีการสั่งซื้อสินค้าจากประเทศเยอรมัน แต่ต้นทางไม่มีการส่งมอบสินค้าดังกล่าวให้ ซึ่งปัจจุบันเรามีการแก้ไขแล้ว และมีบริษัทมารับผิดชอบค่าเสียหายดังกล่าว ซึ่งจำนวนเงินจริง 110 ล้านบาท” นายแพทย์บุญ ระบุ

ก่อนหน้านี้ THG ได้รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า บริษัทการตรวจพบรายการอันควรสงสัยดังนี้

1. เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 คณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทได้รับทราบข้อมูลการทำรายการอันควรสงสัยของบริษัทย่อย จำนวน 2 แห่ง ได้แก่

  • (ก) บริษัท โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง จำกัด (THB) ซึ่งบริษัทถือหุ้นร้อยละ 83.03 ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ THB
  • (ข) บริษัท ที เอซ เฮลท์ จำกัด (THH) ซึ่งบริษัทถือหุ้นร้อยละ 51.22 ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ THH

2. การทำรายการอันควรสงสัยของบริษัทย่อยดังกล่าวประกอบด้วย

  • (ก) การที่ THB และ THH ให้กู้ยืมเงินแก่ บริษัท ราชธานีพัฒนาการ (2014) จำกัด (RTD) ซึ่งเป็นบริษัทที่มีกลุ่มครอบครัว "วนาสิน" เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในเดือนธันวาคมปี 2565 ถึงปี 2566 จำนวนทั้งสิ้น 6 รายการ คิดเป็นยอดเงินรวมทั้งสิ้น 145 ล้านบาท
  • (ข) การที่ THB ให้กู้ยืมเงินแก่ บริษัท ไทย เมดิเคิล กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ RTD เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ในปี 2566 จำนวนทั้งสิ้น 1 รายการ คิดเป็นยอดเงินรวมทั้งสิ้น 10 ล้านบาท
  • (ค) การที่ THH สั่งซื้อสินค้าจากบริษัทซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นในประเทศสิงคโปร์ แต่ไม่ได้มีการรับมอบสินค้าจริง ในปี 2566 จำนวนทั้งสิ้น 2 รายการ คิดเป็นยอดเงินรวมทั้งสิ้น 55 ล้านบาท

3. การเข้าทำรายการอันควรสงสัยตามข้อ 2 ข้างต้น เป็นการดำเนินการโดยฝ่ายบริหารบางส่วนของบริษัทย่อยซึ่งเป็นการกระทำนอกอำนาจหน้าที่ ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบภายในที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของบริษัทย่อย ไม่ได้ปฏิบัติตามประกาศเรื่องรายการที่เกี่ยวโยงกันของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ฯ และไม่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการของบริษัท

4. ณ ปัจจุบัน ยอดหนี้คงค้างของรายการอันควรสงสัยดังกล่าวรวมทั้งสิ้นประมาณ 105 ล้านบาท (ไม่นับรวมดอกเบี้ย)

5. บริษัทได้แจ้งให้ผู้สอบบัญชีของบริษัททราบถึงรายการอันควรสงสัยดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567 และบริษัทขอให้ผู้สอบบัญชีให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับรายการอันควรสงสัยดังกล่าว โดยบริษัทคาดว่า หากมีผลกระทบจะสามารถเปิดเผยผลกระทบทางการเงินนี้ได้ในงบการเงินรวมของไตรมาสที่สามที่กำลังจะจัดทำและเปิดเผยให้ผู้ลงทุนทราบต่อไป

6. บริษัทได้เริ่มดำเนินการแก้ไขเหตุการณ์ที่ตรวจพบเพื่อรักษามาตรฐานในการบริหารจัดการดังนี้

  • บริษัทได้โยกย้ายบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการทำรายการอันควรสงสัยดังกล่าวให้ออกจากตำแหน่งที่เกี่ยวข้องโดยทันที
  • บริษัทได้ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง และอยู่ระหว่างการดำเนินการทางวินัย และ/หรือทางกฎหมายต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำรายการอันควรสงสัยดังกล่าวจนถึงที่สุด เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้น
  • บริษัทได้เน้นย้ำและกำชับให้บุคลากรของบริษัทและบริษัทย่อย ปฏิบัติตามกฎระเบียบภายในที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของบริษัทย่อยอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในอนาคต และการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบดังกล่าวจะต้องถูกดำเนินการทางวินัย และ/หรือทางกฎหมาย อย่างเด็ดขาด
  • บริษัทอยู่ระหว่างการวิเคราะห์ผลกระทบซึ่งอาจเกิดขึ้นต่อฐานะทางการเงิน ผลการดำเนินงาน และความเสี่ยงโดยรวมของบริษัท ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การวิเคราะห์ดังกล่าวจะครอบคลุมทั้งด้านการเงิน การดำเนินธุรกิจ และความเสี่ยงด้านกฎหมาย เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทสามารถจัดการกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ บริษัทอาจพิจารณาว่าจ้างที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกตามความเหมาะสม เพื่อให้ความช่วยเหลือในการวางแผนแก้ไขและป้องกันความเสี่ยงเพิ่มเติม

ข้อมูล : กรุงเทพธุรกิจ