MTC เด่นสุดกลุ่มไฟแนนซ์ ลุ้นไตรมาส 3/67 ฟันกำไร 1.5 พันล้าน

22 ก.ย. 2567 | 01:30 น.

รัฐบาลชุดใหม่เร่งแก้วิกฤติหนี้ครัวเรือน-ศึกใหญ่น้ำท่วม โบรกชี้ลูกค้าเข้าข่ายมาตรการช่วยเหลือผลกระทบน้ำท่วมเป็นเพียงเปอร์เซ็นต์เล็กน้อยของพอร์ต พร้อมลงเสียง MTC เด่นสุด ด้วยคุณภาพสินทรัพย์ฟื้นตัวต่อเนื่อง คาดไตรมาส 3/67 กำไรโต 17% แตะ 1.5 พันล้าน

จากการที่สภาวะหนี้สินครัวเรือนในประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับที่สูง ซึ่งทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลใจต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อาจติดกับดัก จนทำให้เป็นปัญหาที่รัฐบาลชุดใหม่ได้ยกมาตรการเร่งด่วนมาแก้ไขเป็นเรื่องแรกๆ เพราะด้วยรู้ดีว่าเมื่อประชาชนติดหลุมหนี้สิน กำลังซื้อและการบริโภคก็จะชะลอตัวลง

ดังนั้น จึงเล็งเห็นว่าเศรษฐกิจต้องฟื้นตัวดีขึ้นในวงกว้าง และฟื้นตัวดีกว่าปัจจุบัน ถึงจะหนุนให้ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ดีขึ้น และจะทำให้ธนาคารเริ่มผ่อนคลายการปล่อยสินเชื่อๆ เพิ่มมากขึ้น

ซึ่งไม่ใช่เพียงสินเชื่อส่วนบุคคล แต่รวมไปถึงสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ที่ปัจจุบันกำลังแย่ อีกทั้งจจากการเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ยิ่งเป็นเหมือนแรงซ้ำเติมให้ประชาชนทรุดหนัก

จากกรณีที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยสำหรับธนาคารและองค์กรที่ไม่ใช่ธนาคารนั้น ฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด เปิดมุมมองว่า เมื่อไม่นานมานี้ ธปท. ได้เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ ขอความร่วมมือจากธนาคารและองค์กรที่ไม่ใช่ธนาคารในการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคเหนือ

มาตรการต่างๆ ที่ระบุไว้ในข่าวประชาสัมพันธ์เบื้องต้น ได้แก่

  1. สินเชื่อบัตรเครดิต : ธนาคาร/ผู้ที่ไม่ใช่ธนาคารสามารถลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำได้ไม่เกิน 12 เดือนสำหรับลูกค้าที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยสาธารณะ
  2. สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อดิจิทัล : ธนาคาร/ผู้ที่ไม่ใช่ธนาคารสามารถเพิ่มวงเงินสินเชื่อเพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงเงินสำรองฉุกเฉินได้ โดยต้องได้รับการอนุมัติภายใน 12 เดือนนับจากวันที่พื้นที่ของลูกค้าได้รับการกำหนดให้เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยสาธารณะ
  3. สินเชื่อทุกประเภท : ธนาคาร/ผู้ที่ไม่ใช่ธนาคารสามารถช่วยเหลือด้านเงินทุนสำหรับการปรับปรุงบ้าน (สำหรับบ้านที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม) หรือสำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม สถาบันต่างๆ ยังสามารถช่วยปรับสัญญาเพื่อลดหรือยกเลิกค่าธรรมเนียมและปรับโครงสร้างสินเชื่อได้อีกด้วย โดยวงเงินสินเชื่อเหล่านี้ต้องได้รับการอนุมัติภายใน 12 เดือนนับจากวันที่พื้นที่ของลูกค้าได้รับการกำหนดให้เป็นเขตเสี่ยงภัยน้ำท่วม นอกจากนี้ ธปท. จะอนุญาตให้สินเชื่อเหล่านี้อยู่ในระยะเดียวกันกับก่อนที่ลูกค้าจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

ในมุมมองเบื้องต้นนั้น ฝ่ายวิจัยมองว่ามาตรการเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นการป้องกันล่วงหน้ามากกว่า โดยมุ่งหวังที่จะป้องกันผลกระทบหากน้ำท่วมรุนแรงขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยลูกค้าที่อาจเข้าข่ายมาตรการช่วยเหลือเหล่านี้น่าจะเป็นเพียงเปอร์เซ็นต์เล็กน้อยของพอร์ตโฟลิโอโดยรวม แม้ว่าจะขึ้นอยู่กับขนาดของน้ำท่วมในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าก็ตาม

สำหรับมาตรการ "สินเชื่อทุกประเภท" หน่วยงานกำกับดูแลกล่าวว่าสามารถรักษาการจัดฉากสินเชื่อได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ให้กู้สามารถชำระคืนเงินกู้ได้ในแง่ของต้นทุนสินเชื่อ และช่วยให้ลูกค้าเลื่อนการกลายเป็น NPL ออกไป 12 เดือน ฝ่ายวิจัยถือว่าข่าวนี้โดยรวมมีมุมมองที่เป็นกลาง โดยคงคำแนะนำซื้อ สำหรับ MTC โดยมูลค่าที่เหมาะสมเท่ากับ 50.00 บาท

นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เผยว่า ตั้งแต่ 9 ส.ค. หลังจากราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมากว่า 90% สำหรับ JMT และ 61% สำหรับ BAM มองเป็นโอกาสล็อคกำไรสำหรับนักลงทุนสายเก็งกำไรขึ้นมา เพราะทางฝ่ายประเมินว่าธุรกิจบริหารสินทรัพย์แม้จะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่การยังฟื้นตัวค่อนข้างช้าอยู่

เนื่องจากต้องรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เป็นจุดเปลี่ยน ทางฝ่ายมองว่าจุดกลับตัวของอุตสาหกรรมบริหารสินทรัพย์ คือ เศรษฐกิจต้องฟื้นตัวดีขึ้นในวงกว้าง และฟื้นตัวดีกว่าปัจจุบัน ที่จะหนุนให้ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ดีขึ้น อีกทั้ง จะทำให้ธนาคารกล้าปล่อยสินเชื่อมากขึ้นด้วย หนุนธุรกิจบริหารหนี้ที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกันฟื้นตัว

จากปัจจัยที่กล่าวมาในข้างต้น ทางฝ่ายจึงยังคงน้ำหนักการลงทุนกลุ่ม Asset management เท่ากับ Underweight และมีการขยับไปใช้ราคาเป้าหมายปี 68 และยังแนะนำขาย ทั้ง BAM และ JMT ในขณะที่กลุ่ม Finance นั้น ทางฝ่ายชอบทาง MTC มากกว่า จากทิศทางคุณภาพสินทรัพย์ฟื้นตัวต่อเนื่อง

ประเมินว่าในช่วงที่เหลือของปี 67 ตลาดน่าจะหันมามองหุ้นที่มีคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแกร่งและมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ แนวโน้มการเติบโตของกำไรของ MTC จะโดดเด่นสุดในปี 67-68 อีกด้วย ขณะเดียวกันทางฝ่ายคาดว่า NPLs/Loans ของ MTC ในไตรมาส 3/67 จะดีขึ้น

เพราะเน้นกลุ่มจำนำทะเบียนรถ ที่ระดับความเสี่ยงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการเช่าซื้อจักรยานยนต์ใหม่ของคู่เทียบ จะทำให้แนวโน้ม NPLs/Loans เด่นกว่าคนอื่นๆ ขณะที่ KTC SAWAD TIDLOR ทางฝ่ายยังไม่คิดว่าแนวโน้มจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ในไตรมาส 3/67 เพราะลูกค้าไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิต หรือ เช่าซื้อจักรยานยนต์ใหม่ยังฟื้นตัวช้า และการสำรองยังสูงต่อ

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ MTC ว่า คาดการณ์สินเชื่อสิ้นเดือนมิ.ย.67 ขยายตัวแข็งแกร่ง 16.4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน และ 4.8% จากไตรมาสก่อนหน้า และ 7.9% นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน เป็น 155 พันล้านบาท

นำโดยสินเชื่อที่มีหลักประกัน คือ สินเชื่อจำนำรถจักรยานยนต์ รถยนต์ และโฉนดที่ดิน ซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์บริษัทที่เน้นสินเชื่อความเสี่ยงตํ่า ส่วนสินเชื่อไม่มีหลักประกัน คือ สินเชื่อส่วนบุคคลและนาโนไฟแนนซ์ยังคงชะลอตัว ในไตรมาส 2/67  เปิดสาขาใหม่ 192 แห่ง ณ สิ้นไตรมาส 2/67 มีสาขาทั้งหมด 7,980 แห่ง

ด้านคุณภาพสินทรัพย์ดีขึ้นจากการขาย NPL และตัดหนี้สูญมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ NPL ratio สิ้นไตรมาส 2/67 ลดลงเป็น 2.9% (จาก 2.9% ในสิ้นไตรมาส 1/67) ด้าน Credit cost ในไตรมาส 2/67 ลดลงเป็น 3.0% ของสินเชื่อรวม ด้าน Coverage ratio สิ้น ไตรมาส 2/67 เพิ่มเป็น 125% (จาก 121% ในสิ้นไตรมาส 1/67) ผู้บริหารคาดว่า NPL ratio ในสิ้นปี 67 จะไม่เกิน 3.2%

นอกจากนี้ MTC ยังมีแผนำเอา AI มาใช้ในการดำเนินงานประจำวันเต็มรูปแบบภายในระยะวลา 5 ปีข้างหน้า เพื่อลดค่าใช้จ่ายดำเนินงาน เพิ่มประสิทธิภาพ และความสามารถในการแข่งขัน

แนวโน้มกำไรไตรมาส 3/67 ยังอยู่ในโมเมนตัมเติบโตเมื่อเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน และจากไตรมาสก่อนหน้า โดย Yield มีแนวโน้มสูงขึ้นจากจำนวนวันในไตรมาส 3 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 และ C/I ratio มีแนวโน้มลดลง จากการเปิดสาขาใหม่ใน ครึ่งหลังปี 67 น้อยกว่าครึ่งปีแรก

ดังนั้น จึงคงคำแนะนำซื้อ ให้ราคาพื้นฐาน 59 บาท อิงกับ P/BV ปี 67 ที่ 3.3 เท่า (Mean-1SD) ทางฝ่ายชอบ MTC เนื่องจากตำแหน่งผู้นำตลาดในตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ และกลยุทธ์การเติบโตที่ประสบความสำเร็จ ช่วยให้รักษาความเป็นผู้นำในตลาดที่มีการแข่งขันสูงได้ ราคาหุ้นปัจจุบันซื้อขายที่ Mean-1SD ตํ่ากว่าอดีต

บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ประเมินผลการดำเนินงาน MTC ว่า ยอดเก็บเงินสด MTC ดีขึ้นในช่วงเดือนก.ค.-ส.ค. แต่แนวโน้มเดือนก.ย. ยังคงผันผวน เพราะสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งเป็นสัญญาณว่ายอดเก็บเงินสดน่าจะดีขึ้นเล็กน้อยทั้งจากไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบช่วงเดียวนในปีก่อน

ทั้งนี้ MTC ยังขยายสินเชื่ออย่างระมัดระวัง โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 3% จากไตรมาสก่อน และ 10% นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้ยอดสินเชื่อเต็มปี 67 โตได้ที่ขอบล่างของเป้า 15-20% ส่วนคชจ.สำรองฯ (credit cost) ยังทรงตัวเนื่องจากบริษัทยังเดินหน้าแผนตัดหนี้สูญ

ในขณะที่คุณภาพสินทรัพย์ของสินเชื่อจำนำทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ดีขึ้น ทั้งนี้ เราคาดว่ากำไรสุทธิในไตรมาส 3/67 จะอยู่ที่ประมาณ 1.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากไตรมาสก่อน และโต 17% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยได้ปรับประมาณการกำไรปี 67 เพิ่ม 4% ปรับเพิ่มราคาเป้าหมายปี 67 เป็น 48.5 บาท เนื่องจากบริษัทคาดว่า credit cost จะทรงตัวในไตรมาส 3/67 จึงปรับลดประมาณการ credit cost เต็มปีเหลือ 3.2% (จากเดิม 3.4%)

และคงประมาณการปี 68 ไว้ที่ 3.0% ซึ่งที่ระดับนี้ฝ่ายวิจัยใส่สมมติฐานว่าจะมีการตัดหนี้สูญก้อนใหญ่ในไตรมาส 4/67 ไว้แล้ว ทั้งนี้ เมื่อใช้ PE ที่ 16.5 เท่า ทำให้ฝ่ายวิจัยได้ราคาเป้าหมายปี 67 ที่ 48.5 บาท (เพิ่มขึ้นจากเดิม 46 บาท) ดังนั้น จึงยังคงคำแนะนำถือ