ความเคลื่อนไหวดัชนีตลาดหุ้นไทยววันนี้ 2 ต.ค.67 ปิดตลาดที่ระดับ 1,451.40 จุด ลดลง 13.26 จุด เปลี่ยนแปลง 0.91% ในช่วงระหว่างวันดัชนีปรับตัวขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ระดับ 1,464.27 จุด และย่อตัวลงมาทำจุดต่ำสุดที่ระดับ 1,447.40 จุด มีมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสิ้น 57,903.77 ล้านบาท
มูลค่าการซื้อขายตามประเภทนักลงทุนในวันนี้ พบว่า กลุ่มสถาลันและนักลงทุนรายย่อยในประเทศ มีสถานะซื้อรวม 5,720.8 ล้านบาท แบ่งเป็น 4,655.62 ล้านบาท และ 1,065.18 ล้านบาท ในขณะที่กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และนักลงทุนต่างประเทศ มีสถานะขายสุทธิรวม 5,720.8 ล้านบาท แบ่งเป็น 359.63 ล้านบาท และ 5,361.17 ล้านบาท
นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นไทยในวันนี้่ 2 ต.ค.67 ยังคงเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการคาดการณ์ของทางฝ่ายวิเคราะห์ยูโอบี เคย์เฮียน ที่มองว่าในช่วงครึ่งแรกเดือนต.ค.และต่อเนื่องไปจนถึงครึ่งแรกเดือนพ.ย. ตลาดหุ้นไทยจะมีความผันผวน
หลักๆ เป็นผลมาจากการปรับตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็วของดัชนีตลาดหุ้นไทย ทำให้นักลงทุนต่างประเทศได้รับผลตอบแทนรวมกว่า 20% ทั้งจากราคาหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า (ดัชนี SET เพิ่มขึ้น 13.7% พร้อมกับการแข็งค่าของค่าเงินบาทที่ 10% นับจาก 6 ส.ค.) ส่งผลให้มีโอกาสที่จะเห็นการขายทำกำไรของฝั่งนักลงทุนต่างชาติออกมา
ประกอบกับหุ้นส่วนใหญ่ตอบรับกับข่าวดีจากมาตรการกระตุ้นของรัฐบาลและการปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว รวมถึงจากการคาดการณ์ว่าผลประกอบการกลุ่มพลังงานและเกี่ยวข้องอาจชะลอตัวจาก ราคาน้ำมันดิบที่ลดลงในไตรมาส 3/67 ซึ่งส่งผลให้จะมีผลการขาดทุนสต๊อกน้ำมัน
อีกทั้งตามปกติในช่วงไตรมาส 3/67 จะเป็นโลวซีซันของกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เนื่องจากการบริโภคที่ชะลอตัวลงตามปัจจัยฤดูกาล รวมถึงเป็นช่วงของการเพาะปลูกไม่ใช่ฤดูเก็บเกี่ยว ทำให้เศรษฐกิจในต่างจังหวัดชะลอตัว อย่างไรก็ดี คาดว่าหลังจากที่มีการประกาศงบผ่านพ้นไปแล้วหลังเดือนพ.ย.67 คาดว่าทิศทางตลาดจะกลับมาดีขึ้น
โดยมองว่าตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 4/67 จะพีคที่สุดในปีนี้ เนื่องจากเป็นไฮซีซันของการบริโภค การท่องเที่ยว รวมถึงคาดว่าจะได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากการเร่งดำเนินการตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทั้งนี้ ประเมินกรอบดัชนีตลาดหุ้นไทยในช่วงเดือนต.ค.67 ไว้ที่แนวต้าน 1,435-1,450 จุด และแนวรับที่ 1,400 จุด
ด้วยการที่อัตราแลกเปลี่ยน เงินบาท/ดอลลาร์ อาจแข็งค่ามากเกินไปและธนาคารแห่งประเทศไทยส่งสัญญาณแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้อัตราแลกเปลี่ยน เงินดอลลาร์/บาท มีแนวโน้มอ่อนค่าหลังลงมาทดสอบ 32-32.5 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งจะสนับสนุนการหมุนเวียนไปสู่กลุ่ม กลุ่มท่องเที่ยว การแพทย์ อาหารและอาหารสัตว์เลี้ยง และอิเล็กทรอนิกส์
โดยทางฝ่ายแนะนำ ERW VRANDA BCH BDMS BTG TFG ITC CCET มีความน่าสนใจ ขณะเดียวกันก็มีโอกาสที่เงินจะหมุนมายังกลุ่มที่ยังปรับขึ้นน้อย (Laggards) ทางฝ่ายคาดว่าตลาดจะหมุนกลุ่ม (rotation) ไปสู่กลุ่มที่ราคายังตามหลังและมีแรงผลักดันจากกำไรในอนาคตที่แข็งแกร่ง อย่างกลุ่มไฟแนนซ์ แบงก์ ค้าปลีก และโรงไฟฟ้า โดยแนะนำ MTC KBANK KTB CPALL TNP RATCH EGCO