Liberator มองตลาดหุ้นไทยฟื้นตัว เม็ดเงินกองทุนหนุน กรอบ 1,450-1,470 จุด

10 ต.ค. 2567 | 02:51 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ต.ค. 2567 | 02:53 น.

บล.ลิเบอเรเตอร์ คาด SET วันนี้ “ฟื้นตัว” ในกรอบ 1,450-1,470 จุด รับแรงหนุนจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดีกระตุ้นจิตวิทยาบวกต่อตลาดเอเชีย รวมถึงได้อานิสงส์จากเม็ดเงินกองทุนในประเทศ กลยุทธ์มองเป็นจังหวะสะสม เน้นหุ้นแนวโน้มกำไรฟื้นตัวดี โดยวันนี้แนะนำ WICE

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐาน บริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ จำกัด (Liberator) ประเมินภาพรวมดัชนีตลาดหุ้นไทยวันนี้ 10 ต.ค.67 ว่า คาดทิศทางดัชนีตลาดหุ้นไทยวันนี้ "ฟื้นตัว" ในกรอบ 1,450-1,470 จุด ซึ่งได้รับอานิสงส์จากปัจจัยหนุนทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ

โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง ด้วยแรงขับเคลื่อนหลักในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ คาดจะช่วยสร้างจิตวิทยาเชิงบวกต่อตลาดหุ้นเอเชียเช้านี้  ขณะที่คืนนี้มีตัวเลขที่น่าติดตามต่อ คือ ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือน ก.ย. โดยตลาดคาด US CPI ที่ +2.3% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน ลดลงจากเดือน ส.ค. ที่ +2.5% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน

ส่วน US Core CPI คาดทรงตัวที่ระดับ +3.2% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน ดังนั้น โดยภาพรวมจากตัวเลขคาดการณ์ สะท้อนว่าตลาดค่อนข้างผ่อนคลายต่อประเด็นเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ผสานกับตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะภาคแรงงานอยู่ในระดับที่ดี จึงส่งผลให้ ณ ปัจจุบัน ตลาดให้โอกาสกว่า 80% ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะตัดสินใจลดดอกเบี้ยสหรัฐฯ 0.25% ในการประชุมเดือน พ.ย.นี้

ส่วนราคาน้ำมันดิบโลกวานนี้ (9 ต.ค.67) ย่อลงอีกเล็กน้อย ตอบรับตัวเลฃสต๊อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นกว่า 5.8 ล้านบาร์เรล เร่งขึ้นจากสัปดาห์ก่อนที่ +3.88 ล้านบาร์เรล และสูงกว่าที่ตลาดคาดที่ +1.3 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ดี ด้านสต๊อกน้ำมันก๊าซโซลีน ลดลงกว่า -6.3 ล้านบาร์เรล ลดมากกว่าคาดที่ -5.7 แสนบาร์เรล และสต๊อกน้ำมันกลั่น ลดลง -3.1 ล้านบาร์เรล ลดมากกว่าคาดเช่นกันที่ -1.7 ล้านบาร์เรล

สำหรับ SET Index ยังดูค่อนข้างแข็งแกร่งกว่าตลาดภูมิภาค จากแรงหนุนของกองทุนในประเทศ โดยคาดอยู่ในช่วงสะสมกำลัง เพื่อลุ้นการปรับขึ้นในช่วงถัดไป ดังนั้น ยังมองเป็นโอกาสในการทยอยสะสมหุ้นพื้นฐานดี ที่แนวโน้มกำไรมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่อง

หุ้นเด่นวันนี้แนะนำ

กลยุทธ์การลงทุนนั้น ยังมองเป็นจังหวะสะสม โดยเน้นหุ้นที่คาดแนวโน้มกำไรฟื้นตัวดี ซึ่งวันนี้แนะนำ

  • WICE ราคาเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 7.40 บาท คาดกำไรสุทธิไตรมาส 3/67 ที่ระดับ 80 ล้านบาท +7.3% จากไตรมาสก่อน ฟื้นเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน และเพิ่มขึ้น +147% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน จากฐานที่ต่ำในปีก่อน ประกอบกับความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนในปี 68 จะเป็นผลบวกที่ดีต่อ WICE เนื่องจากได้เตรียมขยายงานครอบคลุม supply chain ไว้หมดแล้ว ดังนั้นถือเป็นจังหวะในการทยอยสะสมเพื่อรอการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในช่วงถัดไป
  • WHA ยังมีมุมมองเชิงบวกจากการลงทุนในไทยปี 67 ที่มีทิศทางที่ดีขึ้น สอดคล้องกับมูลค่า FDI ปี 66 ที่เติบโตกว่า +73% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยนักลงทุนจีนเข้ามาสูงสุด จากอุตสาหกรรม EV นอกจากนี้ บริษัทตั้งเป้าปีนี้ธุรกิจโลจิสติกเพิ่มอีก 2 แสน ตร.ม. ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม จะขยายเพิ่มอีก 2,070 ไร่ รวมทั้งจะมีการขยายสินทรัพย์เข้ากองทรัสต์รวม 2.13 แสน ตร.ม.
  • SGC ราคาเป้าหมาย 1.96 บาท คาดกำไรครึ่งหลังปี 67 จะเร่งตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการเติบโตของโครงการ SG Finance+ ซึ่งเป็นการปล่อยสินเชื่อมือถือที่สามารถล็อกได้หากผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะทำให้ NPL Ratio อยู่ในระดับต่ำ ผสานกับการปลดล็อกการเพิ่มทุน จะหนุนให้ SGC ผ่อนคลายดอกเบี้ยจ่าย และมีเม็ดเงินเพิ่มเติมในการปล่อยสินเชื่อ หนุนปี 68 กำไรจะเติบโตแบบก้าวกระโดด 
  • BH คาดกำไรไตรมาส 3/67 ยังคงเติบโตโดดเด่น จากการเข้าสู่ช่วง High Season โดยคาดผู้ป่วยจากตะวันออกกลางยังปรับตัวขึ้นดี ขณะที่ประเด็นของคูเวต คาด BH มีโอกาสถูกเลือกเป็น 1 ใน 3 โรงพยาบาลในไทยที่รัฐบาลคูเวตสนับสนุน สำหรับภาพระยะกลาง คาดได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากการเปิดโรงพยาบาลแห่งใหม่ในภูเก็ตในช่วงปี 69
  • AOT คาดกำไรในช่วง ก.ค.-ก.ย. 67 จะขยายตัวได้ จากช่วงเดียวกันในปีก่อน ตามรายได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ในฝั่งรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการบินอาจลดลงเล็กน้อย จากการยกเลิกร้าน Duty Free ขาเข้าตั้งแต่ ส.ค. 67 ขณะที่ในระยะสั้นคาดมีปัจจัยบวกจาก Golden week หนุนนักท่องเที่ยวจีนสูงขึ้น และการเดินหน้าต่อในช่วงปลายปีคาดนักท่องเที่ยวจะเร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากการเข้าสู่ช่วงฤดูกาล ขณะที่ Upside อาจมาจากมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐฯ

ปัจจัยที่ต้องจับตา

10 ก.ย.      เงินเฟ้อ CPI ของ US, 
                 ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ US
11 ก.ย.      เงินเฟ้อ PPI ของ US, 
                 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของ US