กูรูชี้ BTS- BEM ลุ้นรับเม็ดเงินก้อนใหญ่ รัฐซื้อสัมปทานรถไฟฟ้ากลับ

17 ต.ค. 2567 | 23:00 น.

"วิจิตร อารยะพิศิษฐ" มองรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายรัฐเอาจริง แนะต้องชั่งน้ำหนักความคุ้มค่าการลงทุนประชาชนได้ประโชยน์แค่ไหน พร้อมคาด BTS-BEM รับทรัพย์รัฐจ่ายเงินซื้อสัมปทานคืน

จากประเด็นนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายของภาครัฐฯ นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐาน บริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ จำกัด (Liberator) ได้ให้มุมมองว่า ดูเหมือนว่าโครงการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายของรัฐบาลค่อนข้างเอาจริงพอสมควร

จากนี้ก็ต้องรอดูว่า การจัดการแหล่งเงินทุนจะทำได้มากน้อยแค่ไหน เพราะด้วยเม็ดเงินก้อนใหญ่มูลค่าหลักแสนล้านบาท ซึ่งสูงพอสมควร โดยล่าสุดภาครัฐฯ ได้ทำการศึกษาการดำเนินงาน โดยได้พูดถึงความเป็นไปได้ที่จะรูปแบบการตั้งกองทุนซื้อคืนรถไฟฟ้า ที่เป็นการระดมทุนจากประชาชนทั่วไปให้เข้ามาลงทุน

รวมถึงส่วนแบ่งรายได้จาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, เงินจากองทุนอนุรักษ์พลังงาน และ งบประมาณประจำปี ตลอดจนเงินที่ได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดในพื้นที่รถติดที่คาดว่าจะมีรถเข้ามาในพื้นที่สำคัญ เช่น ถนนสีลม, รัชดา และสุขุมวิท ที่รถติดกว่า 700,000 คันต่อวัน
 

ซึ่งคาดว่าจะจัดเก็บได้กว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี โดยที่กองทุนจะมีระยะเวลาลงทุน 30 ปี  ขณะเดียวกันจะต้องขอความเห็นจากกฤษฎีกาในการออกกฎหมายเพื่อขอจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดในพื้นที่ กทม. เพื่อนำเงินที่ได้มาซื้อสัมปทานรถไฟฟ้านำกลับมาเป็นของรัฐ และเพื่อทำให้ภาครัฐสามารถกำหนดราคาค่าโดยสารได้

แต่อย่างไรก็ดี มองว่าในตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนและยังอยู่ในกระบวนการศึกษา เบื้องต้นคาดว่ากว่าจะได้เห็นข้อสรุปที่เป็นรูปธรรม อาจกินเวลาไปถึงไตรมาส 2-3 ปี 2568

ส่วนตัวมองว่าสิ่งสำคัญที่สุดในขณะนี้ คือ เรื่องของการจัดหาแหล่งเงินทุน เพื่อมาสนับสนุนการซื้อสัมปทานรถไฟฟ้านำกลับมาเป็นของรัฐ รัฐบาลอาจต้องไปชั่งน้ำหนักด้วยว่าการลงทุนดังกล่าวคุ้มค่าหรือไม่ ประชาชนจะได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหนเมื่อเทียบกับการนำเอาเงินไปกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ

ทั้งนี้ นักลงทุนอาจมีความกังวลใจว่าเมื่อมีการดึงสัมปทานรถไฟฟ้านำกลับมาเป็นของรัฐ โมเมนตัมในเชิงของผู้ประกอบการ อย่าง บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผลออกมาอาจไม่ได้ดีนักหากจะเวนคืนรถไฟฟ้าจากเอกชนทั้งหมด เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการที่ได้รับสัมปทานอยู่นั้นเสียเปรียบ

แต่ในความเห็นส่วนตัวแล้วมองว่า การดึงสัมปทานรถไฟฟ้านำกลับมาเป็นของรัฐ ถ้าทำจริงต้องเป็นการซื้อคืนจากผู้รับสัมปทานเดิม ดังนั้นแล้วทั้ง BTS และ BEM จะได้รับเงินก้อนมาจำนวนมาก ซึ่งอาจเป็นเงินสดหรืออะไรก็ตามแต่ อีกทั้งหลังจากคืนสัมปทานแล้วก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องแบกรับต้นทุนค่าใช้จ่ายและการบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าอีกแล้ว

ซึ่งก็คงต้องไปรอดูกันอีกว่า หลังจากที่ BTS และ BEM ได้รับเงินมาแล้วจะวางแผนนำไปบริหารจัดการต่ออย่างไร เพื่อเป็นการต่อยอดธุรกิจ และชดเชยรายได้และกำไรในส่วนที่จะต้องสูญเสียไป ทำให้มองว่าหลังจากคืนสัมปทานแล้วจะเป็นอานิสงส์เชิงบวกต่อหน้าหุ้นในระยะสั้นๆ ได้มากกว่า

"มองว่าโครงการรถไฟฟ้า 20 ตลอดสายของรัฐ ค่อนข้างเอาจริงพอสมควร การศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดหาแหล่งเงินทุนจำนวนมหาศาล มูลค่าหลักแสนล้านบาท ภาครัฐอาจต้องชั่งน้ำหนักความสำคัญด้วยว่าประชาชนได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหนเมื่อเทียบกับการนำเงินไปกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอื่นๆ นักลงทุนอาจมองว่าจะเป็นเรื่องที่กดดัน BTS-BEM แต่ส่วนตัวมองว่า การดึงสัมปทานรถไฟฟ้ากลับ ต้องเป็นการซื้อคืน ฉะนั้น BTS-BEMจะได้รับเงินก้อนจำนวนมากบุ๊คเข้ามา ซึ่งจะดีกับหน้าหุ้นดังกล่าว"

ความเคลื่อนไหวราคาหุ้น BTS วันที่ 17 ต.ค.67 ณ เวลา 13.18 น. อยู่ที่ระดับ 4.60 บาท เพิ่มขึ้น 0.06 บาท เปลี่ยนแปลง 1.32% มีมูลค่าการซื้อขายที่ 278.62 ล้านบาท โดยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap.) ที่ 59,781.08 ล้านบาท

ขณะที่ราคาหุ้น BEM อยู่ที่ระดับ 8.25 บาท โดยราคาหุ้น ณ ปัจจุบันยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง มีมูลค่าการซื้อขายที่ 134.12 ล้านบาท  มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ 126,101.25 ล้านบาท และ P/E 33.59 เท่า