3 หน่วยงานเสียงแข็งบี้ "การรถไฟฯ" บริหารเงิน-ทรัพย์สิน แก้เงินขาดมือด่วน

22 พ.ย. 2567 | 07:25 น.
อัปเดตล่าสุด :22 พ.ย. 2567 | 07:31 น.

3 หน่วยงานสำคัญเศรษฐกิจ ประสานเสียงแข็ง ขอให้การรถไฟฯ หาทางบริหารจัดการการเงิน และทรัพย์สินให้เกิดประโยชน์ แก้ปัญหาเงินขาดมือ หลังจากรัฐบาลให้กู้เงินเสริมสภาพคล่องก้อนใหญ่กว่า 1.7 หมื่นล้าน

กรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กู้เงินเพื่อใช้ในการดำเนินงาน (กรณีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วงเงิน 17,500 ล้านบาท โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลัง กำหนดหลักเกณฑ์ในการขอรับการจัดสรรเงินชดเชยของรัฐวิสาหกิจ ตามความเห็นของสำนักงบประมาณต่อไปนั้น

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า การกู้เงินก้อนใหญ่ของรฟท. ครั้งนี้ มีความเห็นที่น่าสนใจของ 3 หน่วยงานเสนอเข้ามาประกอบการพิจารณาของครม. โดยส่วนใหญ่แม้จะเห็นควรให้ รฟท.กู้เงินครั้งนี้เพื่อไปใช้เสริมสภาพคล่องการดำเนินงาน เพื่อแก้ปัญหาเงินขาดมือ แต่ก็ได้เสนอความเห็นเอาไว้ให้รฟท.ปรับปรุงการบริหารจัดการการเงิน เพื่อลดการขาดทุน และหารายได้เพิ่มไว้ด้วย สรุปแยกเป็นหน่วยงานต่าง ๆ ดังนี้

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

สศช. เสนอว่าเห็นควรให้การรถไฟฯ เร่งปรับปรุงรายละเอียดของแผนฟื้นฟูกิจการ และดำเนินการตามแนวทางของแผนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะด้านการหารายได้และการพัฒนาขีดความสามารถของกิจการ

รวมทั้งการพิจารณารายละเอียดและส่งมอบทรัพย์สินที่มีศักยภาพให้กับบริษัทลูกที่จัดตั้งขึ้น เพื่อวัตถุประสงค์ในการบริหารสินทรัพย์ของรฟท.ซึ่งเป็นรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการขนส่งระบบราง ให้มีความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์ สามารถสร้างรายได้ให้กับรฟท.ซึ่งจะช่วยแก้ไขหนี้สินทางการเงินของรฟท.ได้อย่างยั่งยืน

สำนักงบประมาณ

สำนักงบประมาณ เสนอว่า รฟท.ควรบริหารจัดการทางการเงินให้มีสภาพคล่องที่เหมาะสมเพื่อสำรองไว้ใช้เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน สำหรับการดำเนินงานตามแผนวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2566-2571 (แผนฟื้นฟูการรถไฟแห่งประเทศไทย) นั้น เห็นควรให้รฟท.กำกับดูแลการดำเนินงานตามแผนที่สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่มาบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อเพิ่มรายได้ก่อน เนื่องจากสามารถดำเนินการได้เอง

อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งรัดการกำหนดหลักเกณฑ์การขอรับการจัดสรรเงินชดเชยของรัฐวิสาหกิจ และเสนอครม.เห็นชอบตามมาตรา 28 แห่งพ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2562 

ทั้งนี้เพื่อให้ รฟท. ได้รับเงินอุดหนุนสำหรับค่าใช้จ่ายในการให้บริการสาธารณะที่ได้ดำเนินการไปแล้วในปีงบประมาณ 2566 และปีงบประมาณ 2567 เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดสภาพคล่องที่เกิดขึ้น และลดภาระต้นทุนทางการเงินที่ รฟท. ต้องกู้เงินมาใช้ในการดำเนินงาน

 

3 หน่วยงานเสียงแข็งบี้ \"การรถไฟฯ\" บริหารเงิน-ทรัพย์สิน แก้เงินขาดมือด่วน

 

กระทรวงการคลัง

กระทรวงการคลัง เสนอว่า รฟท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งรัดการดำเนินการ ตามแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรของรฟท. โดยเฉพาะการเร่งดำเนินการของบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) ซึ่งเป็นบริษัทบริหารทรัพย์สินของรฟท.สอดคล้องและเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) โดยให้กระทรวงคมนาคมกำกับ ติดตาม และเร่งรัดให้รฟท.ไทยดำเนินการแก้ไขปัญหาองค์กรให้เห็นผลชัดเจนเป็นรูปธรรมตามแผนที่กำหนดโดยเร็ว

อย่างไรก็ดี หากรฟท. ไม่สามารถถ่ายโอนทรัพย์สินหรือให้ SRTA บริหารจัดการให้เป็นไปตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่จัดตั้งได้ เห็นควรให้รฟท. พิจารณาใช้รูปแบบอื่นในการบริหารจัดการทรัพย์สินให้เกิดประโยชน์และรวดเร็วยิ่งขึ้นร่วมด้วย เช่น แนวทางการให้สิทธิกรมธนารักษ์บริหารพื้นที่แนวเส้นทางรถไฟสายใหม่ (ตัวสถานีและเส้นทางรถไฟ) ของรฟท. เป็นต้น 

ทั้งนี้เพื่อทำให้เกิดรายได้จากการบริหารที่มีประสิทธิภาพมาชำระคืนหนี้คงค้างที่สะสม รวมทั้งเพิ่มรายได้และลดรายจ่าย เพื่อให้ฐานะการเงินของรฟท. ดีขึ้นและเป็นไปตามที่ประมาณการไว้ รวมทั้งลดภาระทางการคลังของภาครัฐ

ขณะเดียวกันเพื่อประโยชน์ในการรวบรวมและประมวลความเห็นสำหรับนำเสนอต่อครม.พิจารณาขออนุมัติกู้เงินเพื่อใช้ในการดำเนินงาน (กรณีรายได้ไม่เพียงพอสำหรับรายจ่าย) หรือ การกู้เงินระยะสั้น (วงเงินกู้เบิกเกินบัญชี) สำหรับปีงบประมาณถัดไป ขอให้รฟท. และกระทรวงคมนาคม รายงานความคืบหน้าผลการดำเนินการตามความเห็นของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้เสนอความเห็น เพื่อประกอบการพิจารณาของครม.ด้วย