"กอบศักดิ์" ชี้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ปี 68 มีลุ้นดัชนีตลาดหุ้นไทยพุ่ง 1,800 จุด

04 พ.ย. 2567 | 07:27 น.
อัปเดตล่าสุด :04 พ.ย. 2567 | 07:27 น.

"ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล" ประเมินปี 68 เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น การเลือกตั้งสหรัฐฯใกล้ได้บทสรุป มีลุ้นดัชนีตลาดหุ้นไทยปีหน้ายืนเหนือ 1,800 จุด จากสิ้นปีนี้ที่ 1,495 จุด รับปัจจัยหนุนรัฐฯ ออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจไทย มองกลุ่ม ท่องเที่ยว คอมเมิร์ซ และแบงก์ยังน่าสนใจ

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ FETCO เปิดมุมมองต่อตลาดหุ้นไทยในช่วง 2 เดือนสุดท้ายปี 67 ว่า คาดว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 1,495 จุด และปี 68 ที่ระดับเหนือ 1,800 จุด โดยมองว่าปัจจัยที่มีส่วนช่วยสนับสนุนตลาดหุ้นไทยได้ คือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ยังคงมีออกมาอย่างต่อเนื่อง

มองว่ารัฐบาลชุดใหม่นี้แม้ว่าจะยังคงมีปัญหาอยู่บ้าง แต่ยังคงดำเนินการต่อไปได้ ด้วยสภาพเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาญการฟื้นตัวในทิศทางที่ดีขึ้นหลังจากนี้จะมาช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้นตามไปด้วย เมื่อเศรษฐกิจดีสิ่งที่จะตามมาก คือ การส่งออกดีขึ้น และการท่องเที่ยวดีขึ้น นักท่องเที่ยวมีความสามารถในการใช้จ่ายในการท่องเที่ยว

ส่วนปัจจัยต่างประเทศ ยังคงมีความผันผวนจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ ซึ่งทั้ง "โดนัลด์ ทรัมป์" และ "กมลา แฮร์ริส" มีนโยบายในการบริหารจัดการประเทศที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ความเข้มขนของการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน ไปจนถึงการตัดท่อน้ำเลี้ยงสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ทำให้มองว่าการลงทุนในปี 67 ยังคงมีความท้าทายอยู่ แม้ว่าตลาดหุ้นไทยมีการฟื้นตัวขึ้นมาได้ในระดับหนึ่งแล้ว แต่ที่กังวลใจในเวลานี้ผลของการเลือกตั้งสหรัฐฯ หากถ้า กมลา แฮร์ริส ได้ชัยชนะไป สงครามการค้าระหว่างประเทศจีนอาจจะไม่ได้รุนแรงเท่าไหร่กับทรัมป์ ด้วยเทคนิกการต่อสู้ที่ค่อนข้างสุภาพกว่า แม้ทั้ง 2 คนจะมีแนวคิดเดียวกัน คือ "อเมริกาต้องมาก่อน (America First)"

ในขณะที่ ทรัมป์ ค่อนข้างเดาใจได้ยากกว่า ล่าสุดมีกระแสข่าวว่าจีนอยากมาตั้งโรงงานผลิต EV ที่เม็กซิโก โดยมีแผนที่จะมีการส่งออกไปตลาดหสหรัฐฯ ผ่านนาฟต้า (NAFTA) ซึ่งทรัมป์ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านทวิตเตอร์ทันทีว่า หากว่าจีนสร้างโรงงานเสร็จทรัมป์ก็จะมีการเรียกเก็บภาษีที่แพงขึ้น ดังนั้นแล้วจะเห้นว่าทรัมป์มีมาตรการแปลกๆ ใหม่ๆ ขึ้นมาตอบโต้ให้ลุ้นอยู่ตลอด

ด้านกระแสเงินลงทุนของต่างชาติ ส่วนตัวมองว่าทิศทางดอกเบี้ยทั่วโลกชัดเจนเมื่อไหร่ ทุนต่างชาติก็จะเริ่มกลับมา ในขณะนี้นักลงทุนมองถึงเรื่องของความเสี่ยงหนักหน่อย แต่คาดว่าเข้าสู่ปี 68 สถานการณ์จะเริ่มชัดเจน บวกกับปัจจัยสภาพคล่องที่ยังมีอยู่มาก แม้ว่าสหรัฐฯ จะมีผู้นำแล้วแต่ะนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังคงลดดอกเบี้ยต่อไป

จากนี้ก็ต้องไปตามลุ้นว่าใครจะขึ้นมานั่งตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไป และมองว่าถ้าไม่มีปัญหาสงครามภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่ลุกลามและรุนแรงมากขึ้น ก็คาดว่าหลังจากนี้เศรษฐกิจจะเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นตามลำดับ ส่งผลให้นักลงทุนก็จะเข้าสู่การลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ทั่วโลกเพิ่มขึ้น

กลุ่มหุ้นน่าลงทุนในช่วงที่เหลือของปี 67 

  1. กลุ่มท่องเที่ยว เพราะยอดตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมใน 10 เดือนแรกปี 67 อยู่ที่กว่า 26 ล้านคน ด้วยเดือนพ.ย. เข้าไฮซีซัน คาดว่านักท่องเที่ยวอาจขยายตัวขึ้นที่เฉลี่ย 1.1 แสนคน/วัน และเดือนธ.ค. อาจทำได้สูงกว่า 4 ล้านคน/เดือน โดยรวมทั้งปีนี้ตัวเลขนักท่องเที่ยวสะสมอาจสูงถึง 36 ล้านคน
  2. กลุ่มคอมเมิร์ซ มองว่าจะได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ กำลังซื้อมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่มีทยอยออกมาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง รวมถึงจากการขยายตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้คาดว่าการอุปโภคและบริโภคภายในประเทศจะเพิ่มขึ้น
  3. กลุ่มแบงก์ มองว่ายังคงมีแนวโน้มที่ดี กำไรในไตรมาส 3/67 ที่ผ่านพ้นไปออกมาดีกว่าที่คาด มองว่าเมื่อเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้นแบงก์ก็ดีขึ้นตาม ไม่ต้องแบกปัญหาหนี้เสีย (NPL) เหมือนกับช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว มีโอกาสปล่อยสินเชื่อให้ภาคเอกชนได้ดีขึ้น แนวโน้ม NPL ก็จะค่อยๆ หายไป ต้นทุนทางการเงินก็ลดลง หากว่าหนี้ครัวเรือนหายไปก็ช่วยล้างบาลานซ์หนี้แบงก์ลงได้

ขณะที่อุตสาหกรรม (sector) ที่มีความน่าสนใจในระยะ 10 ปีนี้ มองว่าตลาดหุ้นไทยยังคงเดินคู่ไปกับ sector เดิมๆ ไปก่อน เช่น ท่องเที่ยว การแพทย์ (‎Medical) กลุ่มนี้น่าสนใจ ไทยมีความสามารถและพัฒนาขึ้นได้ให้เป็นจุดแข็ง และกลุ่มอาหาร ที่อาจต้องดึงเอาเทคโนโลยีมาผสานใช้ให้มากขึ้น

ทั้งนี้ มองว่าการเปลี่ยนแปลงจะเห็นผลชัดเจนมากขึ้นได้ก็ต่อเมื่อไทยมีการพัฒนาศักยภาพนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในภาคธุรกิจให้เพิ่มขึ้น ไทยต้องเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้น โดยตอนนี้ตลาดหุ้นไทยกำลังเผชิญกับปัญหา คือ การขับเคลื่อนยังเป็นกลุ่มเดิมๆ เช่น กลุ่มปิโตรฯ ที่คิดเป็นสักส่วนกว่า 30% ของตลาดหุ้นไทย อีกกว่า 10% เป็นกลุ่มแบงก์ และกลุ่มยานยนต์สันดาปภายใน

ดังนั้น ไทยต้องปรับเปลี่ยนให้ได้ นักลงทุนต่างชาติมองว่าการลงทุนใน บจ. จะเป็นธุรกิจแห่งอนาคตได้หรือไม่ ไทยยังไม่มีสินทรัพย์ที่เป็นอนาคตในตอนนี้ จึงต้องแปลงโฉม นอกจากนี้ ยังมีในเรื่องของการตื่นตัวในเรื่อง "โกกรีน" มากขึ้น รวมไปถึงการขยายตลาดและออกไปลงทุนในต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนไทยด้วย

เพราะมองว่าอัตราการเติบโตของตลาดต่างประเทศมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า ใครที่อยู่แต่ในเมืองไทยจะเหมือนถูกมัดมือมัดแขน ดังนั้นการขยายตลาดต่างประเทศจึงเป้นเรื่องที่สำคัญ

"มองว่าสินทรัพย์มีให้ลงทุนเยอะ ขึ้นอยู่ที่ความชอบเป็นแบบไหน ช่วงวิกฤตลงมาต่ำเป็นช่วงที่น่าลงทุน แต่ตอนนี้ไม่เหมือนกัน มองว่าต้องเลือกลงและไม่ควรลงทั้งตลาด เรื่องรถยนต์ เรื่อง AI ขึ้นอยู่กับผู้นำของสหรัฐฯ ใครจะได้เป็นผู้ชนะ แฮร์ริสมาจะหนุนเรื่องทองคำไปต่อได้ ช่วงต่อไปยังลงทุนได้แต่ต้องเลือกแต่ละสินทรัพย์มีปัจจัยมาเป็นแรงเหวี่ยงและกระทบแตกต่างกัน"

แนะนำรัฐบาล

สิ่งที่อยากจะเสนอแนะต่อภาครัฐฯ นั้น มองว่ามี 3 ประเด็น ประกอบด้วย

  1. หนี้เสีย รัฐบาลต้องรีบเร่งแก้ไขปัญหาและสะสาง เพราะการที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีหรือไม่ต้องขจัดหนี้ก่อน
  2. ธุรกิจขนาดเล็ก (SMEs) ในตอนนี้ยังมีปัญหาเยอะ ในอนาคตหากไม่ปรับตัวเรื่องเทคโนโลยีก็จะไปต่อไม่ได้ ภาครัฐต้องมองว่าจะช่วยอย่างไรให้ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการบุกตลาดของสินค้าจีน ให้สามารถดำเนินธุรกิจไปต่อได้ และสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น
  3. การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ต้องทำให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้มากขึ้น เราต้องเปิดประตูต้อนรับ อาจจะสร้างแรงจูงใจด้วยการให้สิทธิพิเศษทางภาษี โดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัพที่ควรเปิดโอกาสกว้าง ให้พวกเขาสามารถเข้าลงทุนได้ ต้องยอมรับว่ากลุ่มสาร์ทอัพเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพและมีโอกาสเติบโตได้ดีมาก ตลาดที่น่าสนใจลงทุนหลักๆ คือ เอเชีย เพราะเอเชียเป็นโลกการเติบโตแห่งอนาคต โต 6% ได้อยู่ การลงทุนในตลาดรัสเซียและอินเดียไปได้ไม่ง่าย ดังนั้นสตาร์ทอัพจึงมองหาประเทศที่เป็นกลาง ทำให้มองว่าประเทศไทยจึงน่าสนใจที่สุด และมันจะทำให้เราสามารถก้าวเข้าไปในเทคโนโลยีได้ง่ายมากขึ้น ดาต้าเซ็นเตอร์เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ทาง FETCO เตรียมนัดพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในช่วงต้นปี 68 เพื่อปรึกษาหารือในการขอเพิ่มมาตรการทางภาษี ซึ่งเบื้องต้นมีประมาณ 3 กองทุน ได้แก่

  1. รายงานผลจากเสนอขายกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน หรือ  Thai ESG ในช่วงปลายปี 67 ที่ผ่านมา
  2. กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ที่จะหมดสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดย FETCO อยากขอให้กระทรวงการคลังช่วยต่อมาตรการต่อไปภายใต้เงื่อนไขเดิม
  3. อยากขอสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการออมเพื่อการศึกษาของบุตร และกองทุนรวมอื่นๆ เพิ่มเติม