กำไร บจ. ไตรมาส 3/67 น่าผิดหวัง เหลือ 2 แสนล้าน ชี้พลังงาน-ปิโตรฯแรงฉุดสำคัญ

20 พ.ย. 2567 | 05:47 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ย. 2567 | 07:27 น.

กูรูลงเสียง ผลประกอบการ บจ. ไตรมาส 3/67 น่าผิดหวัง ต่ำ 2 แสนล้าน หดตัวทั้งจากไตรมาสก่อน 20-27% และจากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน 26-33% ชี้กลุ่มพลังงาน-ปิโตรฯ เป็นแรงถ่วงกำไร ลุ้นรัฐเคาะบทสรุปแจกเงินดิจิทัลเฟส 2 หนุนเศรษฐกิจไทยไปต่อไตรมาส 4/67

นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมกำไรสุทธิในไตรมาส 3/67 บริษัทจดทะเบียน (บจ.) คาดอยู่ที่ประมาณ 200,000 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 20% จากไตรมาสก่อนที่ทำได้ 250,000 ล้านบาท และหดตัวลงถึง 25.92% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อนที่ทำได้ราว 270,000 ล้านบาท

ซึ่งผลการดำเนินงานของ บจ. ที่ออกมาในไตรมาส 3/67 ค่อนข้างสวนทางกับตัวเลข GDP ที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะขยายตัวถึง 3% แต่อย่างไรก็ดี ในส่วนนี้อาจต้องไปพิจารณารายละเอียดไส้ในอีกครั้งว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยนั้นมาจากส่วนใดบ้าง และมีความเป็นไปได้ที่อาจมาจากการลงทุนภาครัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา แม้จะเพิ่งเริ่มต้นในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมานี้ก็ตาม

โดยกลุ่มหุ้นที่ผลการดำเนินงานมีการขยายตัวได้อย่างโดดเด่น 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ (แบงก์), กลุ่มสื่อสาร และกลุ่มค้าปลีก บางตัว เช่น CPALL CPAXT และ CRC เป็นต้น

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐาน บริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ จำกัด (Liberator) ให้มุมมองต่อผลประกอบการ บจ. ในไตรมาส 3/67 ว่า สำหรับในไตรมาสที่ 3 มี ต้องยอมรับผลงานโดบรวมของ บจ. ออกมาค่อนข้างหน้าผิดหวัง กำไรสุทธิปรับตัวลดลงทั้งจากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน และจากไตรมาสก่อน

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ผลประกอบการไตรมาส 3/67 ปรับตัวลดลงมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มพลังงานและกลุ่มปิโตรเคมี เพราะมีการบันทึกผลขาดทุนจาก stock loss และรายการพิเศษ, กลุ่มส่งออกเครื่องดื่ม และอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาโดยเฉพาะในช่วงสิ้นไตรมาส 3 กระทบต่อบรรทัดสุดท้าย

ขณะที่กลุ่มทำกำไรได้ดีในไตรมาส 3/67 ได้แก่ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) กลุ่มไฟแนนซ์ และ กลุ่มอาหาร (บางตัว) แต่อย่างไรก็ดี หากเทียบความน่าสนใจแล้ว มองว่ากลุ่มไฟแนนซ์มีความน่าสนใจมากกว่า เนื่องจากด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษญกิจของภาครัฐที่กำลังจะทยอยออกมาเพิ่มเติมในช่วงปลายปี 67 ทำให้คาดว่าจะเป็นผลดีต่อการขยายตัวของการปล่อยสินเชื่อใหม่

อีกทั้งคุณภาพสินทรัพย์ของกลุ่มไฟแนนซ์มีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคนมักเชื่อมโยงว่าเมื่อตัวเลขทางเศรษฐกิจดีขึ้นจะเป็นผลบวกต่อการปล่อยสินเชื่อใหม่ นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มไฟแนนซ์หลายตัวที่กำไรสุทธิสามารถทำสถิติใหม่สูงสุดได้ในไตรมาส 3/67 ที่ผ่านมาราคาหุ้นลงมาต่อนข้างลึก ทำให้มองว่าราคาหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ตอนนี้ไม่แพง

ส่วนกลุ่มแบงก์ มองว่าในไตรมาส 4/67 จะมีการบันทึกค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่างๆ ก้อนใหญ่เข้ามา ทำให้ผลประกอบการอาจลดลง NIM ถอยลงตาม กนง. ที่ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ข้อดีคือ คุณภาพสินทรัพย์อยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้น ราคาหุ้นกลุ่มแบงก็ยังไม่แพง ถือว่ายังน่าสนใจ ส่วนกลุ่มอาหารคาดว่าในไตรมาส 4/67 อาจไม่ได้มากนัก เพราะราคาเนื้อสัตว์ปรับตัวลดลง

กำไรบจ.หด32%

บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เผยว่า รายงานกําไรบริษัทจดทะเบียนใน SET Index (ไม่รวม PF&REIT) ไตรมาส 3/67 คิดเป็น 91% Market Cap ทํากําไรสุทธิรวม 1.84 แสนล้านบาท หดตัว -25% จากไตรมาสก่อน และ 32% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน

แรงฉุดหลักจากกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะกลุ่มโรงกลั่นบันทึกขาดทุนสต๊อค น้ำมันดิบและกลุ่มปิโตรฯ ที่มีบันทึกด้อยค่าโครงการลงทุนของ PTTGC หากหัก 2 กลุ่ม ดังกล่าว กําไรสุทธิหดตัวน้อยลงเหลือ -7% จากไตรมาสก่อน แต่ขยายตัว 4% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน

กลุ่มที่ขยายตัวทั้งจากไตรมาสก่อน และจากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน งวดนี้กลุ่มขนส่งจาก RCL จากค่าระวางเรือที่สูงขึ้น กลุ่มธนาคารจาก Credit Cost ที่ลดลง และกลุ่มโรงพยาบาลที่เข้าสู่ไฮซีซัน

ผลประกอบการไตรมาส 3/67 เฉพาะที่มีคาดการณ์ของ Bloomberg Consensus คิดเป็น สัดส่วน 86% Market Cap ของ SET Index ทํากําไรต่ำคาด -11% ส่วนใหญ่มาจากกลุ่ม Global Play อย่าง กลุ่มปิโตรฯจาก PTTGC กลุ่มพลังงานหลักๆ มาจากโรงกลั่น กลุ่มบรรจุภัณฑ์จาก SCGP กลุ่มท่องเที่ยวจาก Fx loss ของ MINT

ส่วนกลุ่มที่กําไรดีกว่าคาด คือ กลุ่มรับเหมาจาก CK หนุนจากส่วนแบ่งกําไรบริษัทลูก กลุ่มขนส่งจาก SJWD จาก ควบคุม SG&A และส่วนแบ่งกําไรบริษัทลูก RCL จากค่าระวางเรือและปริมาณขนส่งที่ดี กลุ่มที่กําไรตามคาด คือ กลุ่มอสังหาฯ ธนาคาร อาหาร ค้าปลีก กลุ่มไฟแนนซ์ กลุ่มโรงพยาบาล เป็นต้น

กําไรที่ออกมาต่ำคาด ส่งผลให้ Bloomberg Consensus ปรับคาดการณ์ EPS ปี 67/68 ของ SET ช่วงไตรมาส 4/67 เฉลี่ย -3.8% มาที่ 86.4/97.9 บาท/หุ้น กลุ่มถูกปรับลดส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ กําไรต่ำคาด เช่น กลุ่มพลังงาน ปิโตรฯ กลุ่มบรรจุภัณฑ์ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง ส่วนกลุ่มที่ปรับ กําไรปรับขึ้น กลุ่ม ICT กลุ่มอาหาร

ทั้งนี้ เชื่อว่าผลของการปรับลดประมาณกําไรปี 67/68 ดูดซับไปในราคาหุ้นพอสมควรแล้ว เนื่องจากราคาหลายกลุ่มอุตสาหกรรมลงแรงกว่า การปรับลดกําไรไตรมาส 4/67 ไปมาก ด้าน EPS67/68 ของ SET ปรับลงไตรมาส 4/67 เฉลี่ย 3.8% กดดัน SET Index ลงจากจุดสูงสุดเดือน ต.ค. -3.5% หากไม่รวม DELTA (ปรับขึ้น 30% นับจาก 17 ต.ค.67) การปรับลง SET มากถึง -6.6% สะท้อนการลดลงของราคาหุ้นนําปัจจัยพื้นฐานแล้ว

แนะนําทยอยสะสม 10 หุ้น ความเสี่ยงต่ำต่อการปรับลดประมาณการและกําไรเติบโตดี SET Index ปัจจุบันซื้อขายบน PER67/68 ที่ 16.4/14.8 เท่า หากไม่รวม DELTA ที่ PER 67/68 จะถูก Discount ลง 10% มาที่ 14.5/13.1 ซึ่งเป็นระดับไม่แพง มองการอ่อนตัว SET Index ยังเป็นจุดสะสมประเมินแนวรับ 1,420-1,440 จุด

สําหรับหุ้นที่แนะนําซื้อบน Theme Earnings Momentum ที่กําไรไตรมาส 4/67 ขยายตัวและจะดีต่อในปี 68 โดยที่ความเสี่ยงปรับ ลดประมาณการต่ํา มี 10 หุ้นดังนี้ COM7, CPALL, CPAXT, CRC, TRUE, BBIK, SAK, MTC, TIDLOR และ TASCO เป็นต้น

บล.เอเซีย พลัส ชี้วายุภักษ์หนุน SET

นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด เผยว่า บริษัทจดทะเบียนรายงานกำไรสุทธิไตรมาส 3/67 อยู่ที่ 191,811 ล้านบาท ลดลง 25% จากไตรมาสก่อน และย่อตัวลงถึง 32% จากเทียบข่วงเดียวกันกับปีก่อนที่ทำได้ 281,058 ล้านบาท อีกทั้งกำไรที่ออกมายังต่ำกว่าที่ BLOOMBERG CONSENSUS คาดเกือบ 20% ทำให้ในช่วงนี้น่าจะเห็นการทยอยปรับประมาณการกำไรปี 67 และ 68 ลงกดดันดัชนีอีกระยะหนึ่งได้

แม้เม็ดเงินจากกองทุนวายุภักษ์ 1.5 แสนล้านบาท เข้ามาช่วยพยุงตลาดหุ้นไทย หนุนดัชนีตลาดหุ้นไทยทรงตัวที่ 1,442 จุด (-0.18%) และ SET100 บวกเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2,009 จุด (+0.49%) แต่หากพิจารณาผลตอบแทนหุ้นใน SET100 ออกเป็นรายบริษัท พบว่ามีผลตอบแทนเฉลี่ยที่ติดลบแรงถึง -7.8% ต่ำกว่าดัชนี SET100 ที่ +0.49%

นอกจากนี้ ยังมีหุ้นที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกเพียง 21 จาก 100 บริษัทเท่านั้น แสดงให้เห็นการขึ้นของดัชนี SET100 เป็นการถูกผลักดันด้วยการกระจุกตัวอยู่เพียงหุ้นบางกลุ่มเท่านั้น เช่น DELTA ที่ใน 1 เดือนครึ่ง ปรับตัวเพิ่มขึ้น 52.8% หนุนดัชนี SET100 3.9%

"เม็ดเงินที่เข้ามาช่วยพยุงตลาดหุ้นไทยถูกกระจุกตัวอยู่ในบางหุ้นและบางกลุ่มเท่านั้น ทำให้หากมีปัจจัยต่างๆ เข้ามากดดันตลาด หรือเม็ดเงินที่ไหลเข้าเริ่มจำกัด อาจเห็นการปรับฐานตามมาได้"

ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยนั้น มีความคืบหน้าการแจกเงินดิจิทัลเฟส 2 ล่าสุดรัฐบาลเตรียมนำนโยบายดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุม ครม. 19 พฤศจิกายน 2567 นี้ โดยจะเป็นการรับเงินสดก้อนเดียว 10,000 บาท ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมเงินไว้แล้วที่กว่า 1.8 แสนล้านบาท

ส่วนกลุ่มที่จะได้รับเงินนั้น คาดว่าจะมีช่วงอายุ 50 ปีหรือ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งมองว่ากลุ่มผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีความเหมาะสม เพราะเป็นกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนมากกว่ากลุ่มอื่น เพราะมีความสามารถในการหารายได้ที่ต่ำกว่ากลุ่มอื่น ประเด็นดังกล่าว รมช.คลัง คาดจะเป็นตัวชูโรงให้ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/67 จะอยู่ที่ระดับ 4.3-4.4% เสริมด้วยการอัดฉีดหลายมาตรการกระตุ้นที่เตรียมไว้ในช่วงปลายปีเพิ่มเติมอีกด้วย

หุ้นที่คาดจะได้ประโยชน์

  • กลุ่มเกษตร-อาหาร ได้แก่ CPF, CBG, OSP, ICHI, M
  • กลุ่มค้าปลีก ได้แก่ CPALL, CRC, BJC, CPAXT
  • กลุ่มเช่าซื้อ ได้แก่ MTC, SAWAD

บล.เคจีไอ ชี้ พลังงาน-ปิโตรฯ ฉุด

นายรักพงศ์ ไชยศุภรากุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยและกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เผยมุมมองต่อผลประกอบการ บจ. ในไตรมาส 3/67 ว่า หุ้นที่ทาง KGI ศึกษาอยู่มีกำไรสุทธิรวมในไตรมาส 3/67 อยู่ที่ 1.401 แสนล้านบาท ลดลง 33% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน และหดตัว 26% จากไตรมาสก่อน ซึ่งถือเป็นไตรมาสที่น่าผิดหวัง

บล.เคจีไอ กำไร บจ.ไตรมาส 3/67

เพราะผลประกอบการโดยรวมต่ำกว่าที่ตลาด (Consensus) คาดไว้ 10% โดยผลประกอบการของกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีอ่อนแอ เนื่องจากมีผลขาดทุนก้อนใหญ่จากสต๊อก มีเพียง 25% ของหุ้นที่ทางฝ่ายศึกษาอยู่เท่านั้นที่ผลประกอบการไตรมาส 3/67 ออกมาดีเกินคาด และ 45% ออกมาตามคาดการณ์ ส่วนที่เหลือ 30% ออกมาน่าผิดหวัง แต่หากตัดกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีไป กำไรสุทธิในไตรมาส 3/67 จะเพิ่มขึ้น 20% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน และ 1% จากไตรมาสก่อน

มีเพียงกลุ่มโรงพยาบาล และ ICT ที่หุ้นในกลุ่มมี % ผลประกอบการดีเกินคาดอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ หุ้นหลักในกลุ่มโรงพยายามมีลักษณะสวนทางกัน โดยของ BDMS พุ่งสูงขึ้นเพราะกำไรทำสถิติสูงสุดใหม่ แต่ของ BH ลดลง เพราะกำไรทำสถิติใหม่ไม่สำเร็จ และการกลับมาของผู้ป่วยตะวันออกกลางอาจจะใช้เวลานานกว่าที่คาดเอาไว้ก่อนหน้านี้

บล.เคจีไอ

ในทางกลับกันหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ก่อสร้าง และบรรจุภัณฑ์ น่าผิดหวัง โดยทั้ง HANA และ KCE ลดลงอย่างมาก หลังประกาศผลผรกอบการ แต่ดัชนีของกลุ่มได้รับอิทธิพลจากราคาที่วิ่งขึ้นมาอย่างแข็งแกร่งของ DELTA ซึ่งปัจจุบันกลายมาเป็นหุ้นที่ใหญ่ที่สุดใน SET ไปแล้ว

ทางฝ่ายได้ทำการคัดหุ้นที่ KGI ศึกษาอยู่ โดยเลือกจากกลุ่ม Top 10 ที่ผลประกอบการไตรมาส 3/67 ออกมาดีเกินคาด พบว่า TRUE CRC SYNEX และ GULF มีธีมการลงทุนน่าสนใจ และนักลงทุนควรพิจารณาเข้าลงทุน

ในขณะเดียวกันกลุ่ม TOP 10 ที่ผลประกอบการไตรมาส 3/67 แย่เกิดคาด ทางฝ่ายมองว่า WHA น่าสนใจเข้าซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว เพราะผลประกอบการที่อ่อนแอเป็นผลมาจากรายการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน และประเด็นภาษี ในขณะที่แนวโน้มระยะกลางยังดีอยู่จากประเด็นการย้ายฐานการลงทุนโดนตรงจากต่างประเทศ (FDI)

อีกทั้งจากประเด็นการที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งจะส่งผลลบต่อตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging Market : EM) และตลาดหุ้นไทยในระยะสั้น โดยความมั่นใจของนักลงทุนจะยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำไปจนกว่าจะเห็นความชัดเจนของนโยบายเศรษฐกิจและภูมิรัญศาสตร์ของ ทรัมป์ ดังนั้น ทางฝ่ายจึงแนะนำให้นักลงทุนยังคงเน้นลงทุนแบบ Defensive และ selective ไปก่อนในช่วงนี้

ทั้งนี้ จากการคำนวน Earnings yield gap ล่าสุด พบว่า Downside ของดัชนี SET Index อยู่ที่ประมาณ 1,410 จุด โดยใช้สมมติฐาน Yield gap เฉลี่ย + 1.0sd และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีที่ 2.50% ทางฝ่ายมองว่า Downside หลักของตลาดจะมาจากการปรับลดประมาณการ EPS ลงอีกจากระดับปัจจุบัน

บล.เคจีไอ

อย่างไรก็ตาม ทางฝ่ายมองว่ากลุ่มที่น่าสนใจ คือ หุ้นผู้บริโภค ท่องเที่ยว และไฟแนนซ์ จากการเข้าสู่ไฮซีซัน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจจะประชุมในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 และคาดว่าจะมีการเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว และการบริโภค

ซึ่งเมื่อพิจารณาธีมเหล่านี้ ประกอบกับการที่นักลงทุนเป็นกังวลความเสี่ยงเรื่องสงครามการค้า น่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนหุ้นกลุ่มผู้บริโภค ท่องเที่ยว และไฟแนนซ์ โดยธีมนี้ทางฝ่ายชอบ CPALL CPAXT CPN AAV และ TIDLOR เป็นต้น

ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า สรุปกำไรไตรมาส 3/67 บจ. ภาพรวมมีกำไรสุทธิ -27% จากไตรมาสก่อน และหดตัว -33% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน ต่ำกว่าคาด 11% แต่หากไม่รวมกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี กำไรสุทธิโดยรวมไม่ได้แย่และใกล้เคียงคาด

กลุ่มอุตสาหกรรมที่แย่ส่วนใหญ่เป็น global-related sector ขณะที่กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคในประเทศยังคงแข็งแกร่ง สำหรับกำไรสุทธิ 9 เดือนแรกปี 67 คิดเป็น 68% ของประมาณการรวมทั้งปี 67 ทำให้ประมาณการ EPS ของ SET ถูกขยับลงราว 2% อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยยังคงเป้า SET ปี 68 ที่ 1,600 จุด

สำหรับ บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า งบไตรมาส 3/67 ของตลาดหุ้นไทย ออกมาที่ 1.93 แสนล้านลาท ลดลงทั้งจากไตรมาสก่อนและจากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน ต่ำกว่าที่ทางฝ่ายและตลาดคาดที่พอๆ กัน คือ 10.6% ซึ่งยังไม่รวม AOT (ประเมินกำไร SET ไตรมาสนี้ไว้ที่ 2.16 แสนล้านบาท)

โดยที่กำไรที่ผิดคาดมาก มาจากผลขาดทุนจาก stock loss และรายการพิเศษของหุ้นพลังงานและปิโตรเคมี กำไร 9 เดือนแรกปี 67 ที่ 7.3 แสนล้านบาท หรือ 69% ประมาณการกำไรทั้งปีของทางฝ่าย โดยมีแนวโน้มที่กำไรปีนี้ จะต่ำกว่าที่คาด จากรายการพิเศษของหุ้นพลังงาน-ปิโตรเคมี ที่สูงมากในไตรมาสนี้