สถานการณ์ความตึงเครียดด้านนิวเคลียร์กำลังทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อรัสเซียส่งสัญญาณเตือนไปยังชาติตะวันตกว่า พร้อมเผชิญหน้าด้วยอาวุธนิวเคลียร์ หลังจากที่ยูเครนได้รับไฟเขียวให้โจมตีดินแดนของรัสเซียด้วย ขีปนาวุธพิสัยไกล ATACMS ที่ผลิตในสหรัฐฯ การโจมตีฐานทัพรัสเซียในพื้นที่ชายแดน Bryansk ได้นำไปสู่การตอบโต้ที่รุนแรง
ล่าสุด ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ได้ลงนามในพระราชกฤษฎีกาอนุมัติหลักคำสอนนิวเคลียร์ฉบับปรับปรุงใหม่ ซึ่งขยายขอบเขตการใช้อาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียให้กว้างขึ้น ภายใต้หลักคำสอนใหม่นี้ รัสเซียระบุอย่างชัดเจนว่า จะใช้อาวุธนิวเคลียร์เมื่อถูกโจมตีโดยประเทศที่ไม่มีนิวเคลียร์แต่ได้รับการสนับสนุนจากมหาอำนาจนิวเคลียร์ หรือเมื่อเกิดภัยคุกคามร้ายแรงต่ออธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน รวมถึงกรณีถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธ นโยบายนี้ส่งผลให้ความตึงเครียดในภูมิภาคยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่กองกำลังรัสเซียกำลังได้เปรียบในยูเครนตะวันออก
ท่ามกลางสถานการณ์ที่น่าวิตก ภาพรวมของคลังแสงนิวเคลียร์โลกยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ข้อมูล ณ ต้นปี 2024 เผยให้เห็นว่า มีเพียง 9 ประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ แต่มีจำนวนหัวรบรวมกันมากถึง 12,100 หัวรบ โดยสหรัฐและรัสเซียครอบครองรวมกันถึง 88 % ของคลังอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดของโลก สะท้อนให้เห็นว่าการแข่งขันสะสมอาวุธระหว่างสองประเทศมหาอำนาจยังคงดำเนินต่อไป
จากจำนวนหัวรบทั้งหมด มีประมาณ 9,583 หัวรบที่อยู่ในคลังทหารและพร้อมสำหรับการติดตั้งบนยานพาหนะนำส่งต่างๆ ทั้งขีปนาวุธ เครื่องบินรบ เรือรบ และเรือดำน้ำ ในจำนวนนี้ มีประมาณ 3,880 หัวรบที่ประจำการอยู่ในกองกำลังปฏิบัติการ และที่น่าวิตกกังวลยิ่งกว่า คือ มีหัวรบประมาณ 2,000 หัวรบของสี่ประเทศมหาอำนาจ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส ที่อยู่ใน ภาวะตื่นตัวขั้นสูงและพร้อมใช้งาน ได้ในเวลาเพียงไม่กี่นาที
แม้ว่าในภาพรวม จำนวนอาวุธนิวเคลียร์ของโลกจะมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับช่วงสงครามเย็น แต่อัตราการลดลงนี้กลับช้าลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา การลดลงส่วนใหญ่เกิดจากการรื้อถอนหัวรบเก่าของสหรัฐฯ และรัสเซียเท่านั้น ที่น่าเป็นห่วงคือ มีสัญญาณบ่งชี้ว่าจำนวนอาวุธนิวเคลียร์ที่พร้อมใช้งานกำลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกครั้ง
การพัฒนาเทคโนโลยีอาวุธใหม่ๆ ยิ่งเพิ่มความซับซ้อนให้กับสถานการณ์ด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ การพัฒนาขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงและระบบการนำส่งอาวุธที่ทันสมัยขึ้น ทำให้เวลาในการตอบสนองต่อการโจมตีสั้นลง เพิ่มความเสี่ยงต่อการตัดสินใจผิดพลาดที่อาจนำไปสู่การใช้อาวุธนิวเคลียร์
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสหรัฐยังอาจส่งผลต่อสถานการณ์ด้วย มีการคาดการณ์ว่าหาก ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง อาจมีการผลักดันให้เกิดการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งอาจส่งผลให้ยูเครนต้องยอมยกดินแดนบางส่วนให้กับรัสเซียเพื่อแลกกับสันติภาพ