KEY
POINTS
อัยการสูงสุดและ DSI กังวลว่าการให้เลขาธิการ ก.ล.ต. เป็นทั้งพนักงานสอบสวนและผู้มีความเห็นแย้งขัดต่อหลักการตรวจสอบถ่วงดุลในกระบวนการยุติธรรม ขณะที่ ก.ล.ต. ยืนยันว่าจะออกระเบียบภายในเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลที่เป็นพนักงานสอบสวนและผู้ทำความเห็นแย้งเป็นบุคคลเดียวกัน
DSI ระบุว่าการพัฒนาบุคลากรของ ก.ล.ต. ให้มีความเชี่ยวชาญในการสอบสวนคดีต้องใช้เวลานาน และ ก.ล.ต. ยังขาดเครื่องมือพิเศษสำหรับปราบปรามอาชญากรรมที่ร้ายแรง ด้าน ก.ล.ต. ชี้แจงว่าได้เตรียมความพร้อมด้านบุคลากรมาตั้งแต่การเสนอแก้ไขกฎหมายฉบับแรก และพนักงานมีประสบการณ์ในการทำสำนวนคดีอยู่แล้ว
DSI เห็นว่าคดี High Impact ไม่ได้มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากคดีพิเศษตาม พ.ร.บ. การสอบสวนคดีพิเศษฯ ที่ DSI รับผิดชอบอยู่แล้ว ขณะที่ ก.ล.ต. ชี้แจงว่าไม่ต้องการให้เกิดความซ้ำซ้อน โดยคดี High Impact จะอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ เท่านั้น เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านระยะเวลาการดำเนินการที่มีอยู่ในปัจจุบัน
การประชุมครม.มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ แต่เผชิญการคัดค้านจากหลายหน่วยงาน ทั้งอัยการสูงสุด DSI และศาลยุติธรรม กังวลเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุล ความเชี่ยวชาญในการสอบสวนคดี และความซ้ำซ้อนกับอำนาจของ DSI ในการจัดการคดีที่มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ขณะที่ ก.ล.ต. ยืนยันความพร้อมและความจำเป็นในการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายตลาดทุนR
กรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่มีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2568 มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ....
จากการตรวจสอบของ “ฐานเศรษฐกิจ” พบว่า ในเอกสารที่กระทรวงการคลังเสนอให้ที่ประชุมครม.พิจารณานั้นได้มีการายงานผลการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอ ครม. คณะที่ 5 ด้านเศรษฐกิจและการเกษตร มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคลัง เป็นประธาน ประกอบด้วยการพิจารณาของครม.ด้วย โดยในที่ประชุมมีการหารือและถกเถียงกันในหลายประเด็น ดังนี้
สำนักงานอัยการสูงสุดเห็นว่า การกำหนดให้เลขา ก.ล.ต. เป็นทั้งพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบและผู้ที่มีความเห็นแย้งขัดต่อหลักตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจในกระบวนการยุติธรรม เช่นเดียวกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI เห็นว่า การกำหนดให้ สำนักงานก.ล.ต. ทำหน้าที่ทั้งเพียงฝ่ายเดียวย่อมไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม
ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ชี้แจงว่า เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการสอบสวนเสร็จสิ้นจะต้องส่งความเห็นพร้อมสำนวนไปยังพนักงานอัยการ เพื่อพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องหรือให้สอบสวนต่อไป พนักงานเจ้าหน้าที่มิได้มีอำนาจในการฟ้องร้องดำเนินคดีด้วยตนเอง การดำเนินการต่างๆ จึงยังอยู่ภายใต้หลักการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ
สำหรับอำนาจของเลขา ก.ล.ต. ในการทำความเห็นแย้งนั้น เพื่อดำรงหลักการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับ สำนักงาน.ก.ล.ต. จะออกระเบียบภายในเพื่อกำหนดให้พนักงานที่เลขาธิการมอบหมายเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ เพื่อป้องกันมิให้บุคคลที่เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบและผู้ทำความเห็นแย้งเป็นบุคคลเดียวกัน
สำนักงานอัยการสูงสุด เห็นว่า ควรให้พนักงานอัยการซึ่งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการสั่งคดีกับผู้ต้องหาในชั้นศาลเข้ามามีส่วนร่วมในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการรวบรวมพยานหลักฐานและการดำเนินการอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินคดีตั้งแต่ในชั้นสอบสวน เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินคดีเกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ยังจะส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนในด้านประสิทธิภาพของการดำเนินคดีอาญา
ด้านก.ล.ต. ชี้แจงว่า ร่าง พ.ร.ก. กำหนดให้ รัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของ ก.ล.ต. เสนอต่อ ครม. เพื่อพิจารณาให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นใดในหน่วยงานของรัฐมาปฏิบัติงานที่ สำนักงานเป็นการชั่วคราว ดังนั้น พนักงานอัยการสามารถมีส่วนร่วมตั้งแต่ในชั้นสอบสวนร่วมกับพนักงานเจ้าหน้าที่ของ สำนักงานก.ล.ต. ได้ ทั้งนี้ ปัจจุบัน สำนักงาน ก.ล.ต. ได้รับความอนุเคราะห์จากสำนักงานอัยการสูงสุด โดยมีพนักงานอัยการที่ปรึกษาให้คำแนะนำในการพิจารณาดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอยู่แล้วด้วย
สำนักงานศาลยุติธรรมเห็นว่า การกำหนดให้ ก.ล.ต. มีมติในคดีที่อาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุนหรืออาจมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศตามร่าง ม.313/16 เป็นการใช้ถ้อยคำที่มีความคลุมเครือจึงยังไม่มีความชัดเจนว่าหลักเกณฑ์ใดบ้างที่ ก.ล.ต. จะมีมติกำหนดให้เป็นคดีที่พนักงานสอบสวนตาม พ.ร.บ. นี้มีอำนาจสืบสวนและสอบสวนได้
ขณะที่ ก.ล.ต. ชี้แจงว่า ร่าง พ.ร.ก. กำหนดกรอบของคดีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจสอบสวน โดยครอบคลุมเฉพาะคดีที่อาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุน หรืออาจมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ อันจะต้องเป็นไปตามมติของ ก.ล.ต. ซึ่งจะต้องพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น ขนาดของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด มูลค่าความเสียหาย และจำนวนผู้เสียหาย เป็นต้น
การกำหนดให้ ก.ล.ต. มีอำนาจกำหนดลักษณะคดีที่สามารถสอบสวนได้ภายใต้กรอบของกฎหมายนั้น สืบเนื่องจากสภาพแวดล้อมในระบบตลาดทุนมีพลวัตสูง สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ดังนั้น เพื่อให้ครอบคลุมถึงอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในรูปแบบใหม่ๆ ในอนาคตอันอาจส่งผลกระทบในหลากหลายรูปแบบ จึงจำเป็นต้องให้อำนาจแก่ ก.ล.ต.
สำนักงานศาลยุติธรรมเห็นว่า ในหมวด 16/2 (การสอบสวนคดี) ร่าง พ.ร.ก. ไม่ได้กำหนดคุณสมบัติของพนักงานสอบสวนและอำนาจของพนักงานสอบสวนในการเข้าค้นในเวลากลางคืนหรือเหตุฉุกเฉินไว้
สำนักงาน ก.ล.ต. ชี้แจงว่า เนื่องจากการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายที่ผ่านมา ไม่ปรากฏกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่มีความจำเป็นต้องเข้าค้นในเวลากลางคืน จึงไม่ได้กำหนดคุณสมบัติของพนักงานสอบสวนในการเข้าค้นในเวลากลางคืนไว้ ส่วนการค้นในเหตุฉุกเฉินนั้น ร่าง พ.ร.ก. กำหนดให้ดำเนินการเกี่ยวกับวิธีพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งหากกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้วจะมีการออกระเบียบเกี่ยวกับการสอบสวน ซึ่งรวมถึงคุณสมบัติของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่จะมีอำนาจดำเนินการค้นในเหตุฉุกเฉินได้ต่อไป
สำนักงานศาลยุติธรรมเห็นว่า การกำหนดให้ ก.ล.ต. มีมติในคดีที่อาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุน หรืออาจมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอาจยังไม่มีความเหมาะสม เนื่องจากองค์ประกอบของ ก.ล.ต. ประกอบด้วยผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจเป็นส่วนมาก
DSI เห็นว่า ก.ล.ต. ถูกออกแบบมาเพื่อวางนโยบายเป็นสำคัญมากกว่าการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ จึงอาจไม่เหมาะสมที่จะให้อำนาจแก่ ก.ล.ต. ที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจเป็นส่วนมากในการกำหนดคดีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของ สำนักงานก.ล.ต. มีอำนาจสอบสวน
สำนักงาน ก.ล.ต. ชี้แจงว่า ก.ล.ต. ซึ่งมีอำนาจหน้าที่วางนโยบายการส่งเสริมและพัฒนา ตลอดจนกำกับดูแลตลาดทุน และประกอบไปด้วยผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และเลขา ก.ล.ต. รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ด้านบัญชี และด้านการเงิน ย่อมเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ที่ดีที่สุดที่จะพิจารณาลักษณะของคดีที่อาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุน หรือระบบเศรษฐกิจของประเทศ
นอกจากนี้ ในประเด็นด้านกฎหมาย ก.ล.ต. มีกรรมการที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ทั้งนี้ ปัจจุบัน ก.ล.ต. ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฝ่ายกฎหมาย (ด้านที่ปรึกษา) และคณะอนุกรรมการฝ่ายกฎหมาย (ด้านคดี) รวม 6 คณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะอนุกรรมการฝ่ายกฎหมาย (ด้านคดี) ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญา รวมทั้งอธิบดีอัยการสำนักคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร และอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
ดังนั้น ในกระบวนการกลั่นกรองก่อนที่ ก.ล.ต. จะมีมติเกี่ยวกับคดี High Impact จึงสามารถนำเข้าสู่การพิจารณาให้ความเห็นของคณะอนุกรรมการดังกล่าวได้ หรือหากมีความจำเป็น สามารถแต่งตั้งคณะอนุกรรมการชุดใหม่ เพื่อรองรับการพิจารณาให้ความเห็นเกี่ยวกับลักษณะของคดี High Impact เป็นการเฉพาะได้
DSI เห็นว่า หากสำนักงาน ก.ล.ต. ยังไม่มีความพร้อมในเรื่องพนักงานสอบสวนอาจส่งผลให้หากต้องรับผิดชอบคดี High Impact ก็จะต้องมีการรับโอนข้าราชการกระทรวง กรม หรือ ตำรวจ มาปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งจะต้องมีการผลิตบุคลากรเพื่อทำหน้าที่เป็น "พนักงานสอบสวน" ซึ่งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อสนับสนุนงานสอบสวนนี้จะต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร
สำนักงานก.ล.ต. ชี้แจงว่า สำนักงานก.ล.ต. ได้เตรียมความพร้อมด้านบุคลากรตั้งแต่การเสนอแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ (ฉุดส่งเสริมตลาดทุนดิจิทัลและเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลตลาดทุน) ซึ่งเป็นร่างกฎหมายฉบับแรกที่เสนอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของ สำนักงานก.ล.ต. มีอำนาจสอบสวนในความผิดบางประเภท และ ครม. ได้มีมติเห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 66
นอกจากนี้ ปัจจุบันพนักงานเจ้าหน้าที่ของ สำนักงานก.ล.ต. มีการปฏิบัติงานในส่วนของการดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่ง โดยทำสำนวนคดีส่งไปยังพนักงานอัยการเพื่อฟ้องร้องผู้กระทำความผิดอยู่แล้วหลายกรณีด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรม เช่น การปั่นหุ้น การแพร่ข่าว หรือการใช้ข้อมูลภายใน เป็นต้น เป็นผลให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีทักษะเกี่ยวกับการทำสำนวนคดีความผิดตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ และการประสานงานกับพนักงานอัยการอยู่ด้วยแล้ว
เพื่อประสิทธิภาพในการปราบปรามการกระทำความผิด ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการสอบสวนโดยบูรณาการ ร่าง พ.ร.ก. นี้รองรับให้เลขา ก.ล.ต. มีอำนาจให้ความเห็นชอบให้คดีหนึ่งคดีใดหรือคดีประเภทใดต้องมีพนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือพนักงานสอบสวนคดีพิเศษหรือเจ้าหน้าที่คดีพิเศษมาสอบสวนร่วมกันหรือปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันกับพนักงานสอบสวนของ สำนักงานก.ล.ต. ได้
อีกทั้งมีบทบัญญัติที่ให้อำนาจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยข้อเสนอแนะของ ก.ล.ต. เสนอต่อ ครม. เพื่อพิจารณาให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นใดในหน่วยงานของรัฐมาปฏิบัติงานที่ สำนักงานก.ล.ต. เป็นการชั่วคราวได้อีกด้วย
DSI เห็นว่า พ.ร.บ. การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 มีเครื่องมือพิเศษให้หลายประการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสอบสวนในคดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เช่น ม.24 การให้มาซึ่งข้อมูลข่าวสารด้วยวิธีพิเศษ และ ม.27 การจัดทำเอกสารหรือหลักฐานใดไม่ว่าจะเป็นอิเล็กทรอนิกส์หรือไม่ในการสะกดรอยอาชญากรรม เป็นต้น แต่ในร่าง พ.ร.ก. ดังกล่าวไม่ได้ปรากฏเครื่องมือพิเศษ ซึ่งรวมถึงบุคลากรที่จะมีความชำนาญในการใช้เครื่องมือพิเศษที่จะสนับสนุนการต่อต้านอาชญากรรมที่ส่งผลกระทบร้ายแรงดังเช่นเครื่องมือพิเศษที่มีอยู่แล้วใน พ.ร.บ. การสอบสวนคดีพิเศษฯ
สำนักงานก.ล.ต. ชี้แจงว่า ร่าง พ.ร.ก. มิได้บัญญัติถึงเครื่องมือพิเศษ เนื่องจากเห็นว่าการใช้อำนาจค้นทั้ง ปลอมเอกสาร ปลอมตัว หรือเครื่องมือพิเศษอย่างอื่น อาจไม่มีความจำเป็นนักสำหรับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ประกอบกับในการตรวจสอบการกระทำความผิดของ สำนักงานก.ล.ต. ที่ผ่านมา ยังไม่พบกรณีที่เป็นอุปสรรคถึงขนาดต้องใช้เครื่องมือพิเศษเช่นเดียวกับ พ.ร.บ. การสอบสวนคดีพิเศษฯ
DSI เห็นว่า หาก สำนักงานก.ล.ต. มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องดำเนินคดี High Impact ก็จะต้องเตรียมจัดสรรงบประมาณ เป็นจำนวนมากสำหรับสนับสนุนงานบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมพนักงานสอบสวน ค่าใช้จ่ายในการจับกุม คุมขัง ค่าใช้จ่ายในการดูแลและรักษาของกลาง ค่าใช้จ่ายในการติดตามตัวผู้ต้องหา และค่าใช้จ่ายในการจัดทำห้องสอบสวนและมีอุปกรณ์การบันทึกภาพขณะจับกุมและอื่น ๆ เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ การโอนภารกิจหน้าที่บางส่วนไปยังหน่วยงานอื่น ทั้งที่หน่วยงานที่มีอยู่เดิมยังสามารถปฏิบัติงานได้ อีกทั้งการโอนภารกิจหน้าที่ดังกล่าวก่อให้เกิดภาระทางด้านงบประมาณของประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น
สำนักงานก.ล.ต.ชี้แจงว่า เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเกิดผลสัมฤทธิ์ จำเป็นต้องมีการจัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ การดำเนินการด้านงบประมาณของ สำนักงานก.ล.ต. เป็นไปตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ได้อยู่ภายใต้ พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณแต่อย่างใด
DSI เห็นว่า คดี High Impact มิได้เป็นคดีความผิดทางอาญาที่มีลักษณะพิเศษหรือแตกต่างไปจากลักษณะคดีพิเศษตาม ม.21 วรรคหนึ่ง (1) (ข) แห่ง พ.ร.บ. การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ซึ่งบัญญัติว่า คดีความผิดทางอาญาที่มีหรืออาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือระบบเศรษฐกิจหรือการคลังของประเทศ อีกทั้งคดี High Impact ยังเป็นเพียงส่วนหนึ่งของลักษณะความผิดคดีพิเศษดังกล่าวข้างต้น
สำนักงานก.ล.ต. ชี้แจงว่า การตรา พ.ร.ก. นี้มิได้ต้องการให้เกิดความซ้ำซ้อน โดยคดี High Impact จะอยู่ภายใต้บทบัญญัติการสอบสวนคดีตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ โดยไม่อยู่ภายใต้กฎหมายอื่นอีก และมีวัตถุประสงค์จะแก้ไขปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับระยะเวลาการดำเนินการที่มีอยู่ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รายงานว่า ร่าง พ.ร.ก. นี้มีหลักการบางส่วนซ้ำซ้อนกับร่าง พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่ ครม. มีมติ (14 ก.พ. 66) อนุมัติหลักการ และอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของ สคก. ดังนั้น หาก ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ก. ดังกล่าว ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอแล้ว สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะได้พิจารณาแก้ไขหลักการในร่าง พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีความซ้ำซ้อนกับร่าง พ.ร.ก. ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้สอดคล้องกัน