นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อม ธนาคารเสมือนจริง (Virtual Bank) ว่า ขณะนี้กำลังรอ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศหลักเกณฑ์ Virtual Bank ออกมาก่อน โดยธนาคารได้ตั้งเป้าหมายเป็น 1 ใน 3 สถาบันการเงินอันดับแรก ๆ ที่จะยื่นขอใบอนุญาตกับธปท.
ทั้งนี้ในการพัฒนา Virtual Bank นั้น ธนาคารกรุงไทย จะร่วมมือกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) หรือ AIS ซึ่งที่ผ่านมาได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ไปแล้ว และเตรียมจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างกันขึ้นมาเพื่อดำเนินการ Virtual Bank ในประเทศไทย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : รู้จัก Virtual Bank โลกยุคใหม่ของธนาคารไทยไร้สาขา
บรรจุ Virtual Bank ในแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี
การพัฒนา Virtual Bank ถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ระยะ 5 ปี (2566-2570) ของธนาคารกรุงไทย ในการสร้างแพลตฟอร์มใหม่ ๆ เพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต โดยเฉพาะ WealthTech หรือเทคโนโลยีทางการเงินเพื่อสร้างความมั่งคั่ง เพื่อรองรับการปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในอนาคต
“เชื่อว่าในปี 2567 จะได้เห็น Virtual Bank ของธนาคารกรุงไทยและเอไอเอส โดยคาดว่า ในอีก 2-3 เดือนต่อจากนี้ ธปท. จะประกาศหลักเกณฑ์ออกมา แล้วธนาคารจะยื่นขอใบอนุญาตทันที โดยตอนนี้ต้องวางโรดแมป และเตรียมความพร้อมเอาไว้แล้ว” นายผยง ระบุ
อย่างไรก็ตามในการเดินหน้าเรื่องของระบบและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อรองรับ Virtual Bank นั้น ธนาคารกรุงไทยและเอไอเอส จะต่อยอดความร่วมมือระหว่างกัน เช่น การพิจารณาข้อมูลจากฐานลูกค้า AIS Points Pay ซึ่งจะเป็นกลุ่มหลักที่ธนาคารเข้าไม่ถึง เป็นต้น
ส่วนของวงเงินลงทุนนั้นในการจัดตั้งธนาคารเสมือนจริง จะถูกบรรจุไว้ในงบด้านการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งแต่ละปีจะมีวงเงินอยู่ที่ประมาณ 12,000 ล้านบาท โดยเป็นการพัฒนางานด้านไอทีทั้งหมด
ตั้งสาขาใหม่แบบทันสมัยใช้เทคโนโลยี
ธนาคารยังมีแผนพัฒนาแอปฯเป๋าตังให้สามารถปล่อยสินเชื่อออนไลน์ ในปี 2566 นี้ เพื่อขยายฐานลูกค้าให้ครอบคลุมกลุ่มต่าง ๆ และเป็นช่องทางการเข้าถึงบริการทางการเงินที่สะดวกและรวดเร็ว โดยตั้งเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อออนไลน์ที่เป็นช่องทางธนาคาร ประมาณ 8,000-10,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 5,000 ล้านบาท
ขณะที่การเปิดสาขาใหม่ จะนำร่อง 20 สาขา ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ เช่น ชลบุรี เชียงใหม่ โดยสาขาต่าง ๆ จะใช้ระบบ e-Solution เปลี่ยนกระบวนการให้บริการในสาขาให้ทันสมัยตอบโจทย์ นำประสิทธิภาพของข้อมูลมาตอบสนองความต้องการของลูกค้าครบทั้งออนไลน์และออฟไลน์ คาดว่า 2-3 เดือนจะได้เห็น
ทั้งนี้ประชาชนสามารถเข้าไปใช้บริการจะเห็นถึงความแตกต่าง เช่น การทำธุรกรรมทั้งหมด พนักงานในสาขาจะให้บริการด้วยแทบเล็ต และการลดการระบบเคาน์เตอร์มาใช้ระบบสมาร์ทคิวเพื่อลดการเข้าคิว โดยบางสาขาจะมีกิจกรรมทางการเงินที่ตอบโจทย์ SMEs หรือให้คำแนะนำผู้ประกอบธุรกิจและอาชีพอิสระด้วย
ส่วนการปิดสาขาเดิมของธนาคารกรุงไทย ตอนนี้จะชะลอแผนออกไปชั่วคราว โดยจะสำรวจว่า แม้บางสาขาที่ไม่กำไร แต่ตั้งอยู่ในรัศมี 4 - 10 กิโลเมตร ที่ไม่มีธนาคารรายใดให้บริการ สาขานั้นจะยังไม่รีบปิด เพราะต้องให้ความสำคัญให้บริการครอบคลุม โดยไม่ได้เน้นกำไรเต็มที่จนทำให้ภาคพื้นที่บางส่วนเหลื่อมล้ำขึ้น