นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด เปิดเผยว่า “บริษัท บิทคับ เวนเจอร์ จำกัด และ บริษัท ไทย จีพีที จำกัด ร่วมกันเปิดตัว Bitkub AI ภายใต้ บริษัท บิทคับ มูนช็อต จำกัด ที่มุ่งเน้นให้บริการสร้างสรรค์ทุกความต้องการด้านเทคโนโลยี รวมถึงการผลิตแอปพลิเคชันบนบล็อกเชน (DApp : Decentralized Application), การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence)
รวมทั้งการพัฒนาแพลตฟอร์มระดับองค์กร ทั้งในหน่วยงานราชการและภาคเอกชน เพื่อให้ธุรกิจสามารถปรับตัวกับโลกดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตลอดจนแก้ไขปัญหาด้านเทคโนโลยีภายในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ทีมงานคุณภาพที่มีความเชี่ยวชาญ พร้อมที่จะพัฒนาโซลูชันที่ยืดหยุ่นและปลอดภัยในระดับสูงเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ทางธุรกิจของลูกค้า โดย บิทคับ มูนช็อต จะเน้นการให้บริการใน 3 ส่วนหลัก ได้แก่ Consultation, Tech Partner และ Turnkey Solution
“เรากำลังจะเข้าสู่จุดที่โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Infrastructure) จะต้องเปลี่ยนแปลงใหม่ทั้งหมด เนื่องจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมทางเทคโนโลยีครั้งที่ 4 (Fourth Industrial Technology) ทำให้ทิศทางของโลกชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการปฏิวัติดิจิทัลสีเขียว (Digital Green Revolutions) จะถูกพัฒนาบนโครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะมาเพิ่มขีดความสามารถ และปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence) จะกลายมาเป็นตัวแปรสำคัญในยุคเปลี่ยนผ่านและเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม”
แม้กระทั่ง Professor Klaus Schwab ผู้ก่อตั้ง World Economic Forum ยังกล่าวว่า ธีมหลักของการจัดงาน World Economic Forum ในปี 2567 มุ่งเน้นไปในประเด็นของ AI เนื่องจาก AI จะเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่จะมาเปลี่ยนแปลงโลก พร้อมทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการทำงาน
ยิ่งไปกว่านั้น AI จะเข้ามามีบทบาทในการเข้าถึงชุดทักษะเชิงวิชาชีพ (Technical Skills) ในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้า 44% ของทักษะความสามารถ (Skill Sets) ของคนทั้งหมด จะไม่สามารถใช้ได้ ซึ่งในอีก 10 ปีข้างหน้า ประชากรทั้งโลกมีแนวโน้มที่จะจำเป็นต้องกลับไปเรียนเพื่อยกระดับชุดความรู้ใหม่ ๆ (Reskill & Upskill)
ในทางกลับกัน ชุดทักษะที่จำเป็นในโลกอนาคต คือ ทักษะทางสังคม (Soft Skills) อาทิ ทักษะในการพูดในที่สาธารณะ ทักษะในการสร้างและรักษาความสัมพันธ์ ทักษะการทำงานกันเป็นทีม เป็นต้น เนื่องจาก AI นั้นสามารถที่จะลอกเลียนแบบหรือทำซ้ำการทำงานเชิงเทคนิคได้ แต่ไม่สามารถที่จะลอกเลียนแบบการทำงานเชิงมนุษย์ได้
ดังนั้นการเข้ามาของ AI จะส่งผลให้ สินทรัพย์ต่าง ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาจากฐานข้อมูลทางดิจิทัลที่สำรองเอาไว้มีความเสี่ยงที่จะถูกลดมูลค่าลง และทำให้เกิดการเปลี่ยนถ่ายทางมูลค่าไปยังสินทรัพย์ที่ AI ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ อาทิ บิทคอยน์ (Bitcoin) หรือ สินทรัพย์ทางพลังงาน (Energy Assets) เป็นต้น
นอกจากนี้ AI จะเข้ามามีบทบาทอย่างมีนัยยะสำคัญในโลกออนไลน์มากยิ่งขึ้นผ่านการผนวกความสามารถกับ Web 3.0 โดยมี แอปพลิเคชันที่ครอบคลุมทุกการบริการ (Super App) เป็นตัวกลางในการคัดกรองและแสดงข้อมูล ซึ่งลูกค้าสามารถที่จะออกแบบความต้องการได้เอง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการปฏิวัติอุตสาหกรรมทางเทคโนโลยีครั้งที่ 4 เท่านั้น
การเปิดตัว Bitkub AI ในวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการทำ Conversational AI ที่สร้างบน ThaiGPT อีกทั้งยังเป็นการขยายและส่งเสริมเครือข่ายการพัฒนาทางเทคโนโลยีใหม่ให้กับประเทศ พร้อมทั้งผลักดันประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย”