จากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันประเทศไทยก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปสู่เศรษฐกิจใหม่ ทำให้หลายธุรกิจปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อเตรียมพร้อมกับการแข่งขันทางธุรกิจ และให้ความสำคัญในการเพิ่มศักยภาพภาพทางด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานขององค์กรมากขึ้น ปัจจุบันมีธุรกิจเกิดใหม่ที่อาศัยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอย่างเช่น สตาร์ตอัพ และจากแนวโน้มของเทรนด์เทคโนโลยีในยุคเศรษฐกิจดิจิตอล ส่งผลต่ออาชีพและรายได้ของมนุษย์เงินเดือน
มาดูกันว่าในยุคเศรษฐกิจดิจิตอล อาชีพไหนมาแรง และอาชีพไหนที่จะกลายเป็นตะวันตกดิน หรือหากิลำบาก ทั้งนี้“ฐานเศรษฐกิจ “ได้สัมภาษณ์ “นพวรรณ จุลกนิษฐ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย)จำกัด ซึ่งถือเป็นบริษัทจัดหางานระดับโลก โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย
ก่อนอื่นนพวรรณ กล่าวถึงความพร้อมทุนมนุษย์ยุคไทยแลนด์ 4.0 ว่า คนเมืองมีความพร้อมมากกว่า จากโอกาสที่มีมากกว่า ทั้งการเปิดโลกไปต่างประเทศ องค์กรมีการฝึกอบรม ตัวอย่างอาหารสำเร็จรูป เป็นอาหารพร้อมรับประทาน และเพิ่มนวัตกรรมเข้าไป ส่วนสินค้าบริการจะเป็นสินค้าที่มีมูลค่ามากขึ้น
อย่างไรก็ดีเธอมองว่า ไทยแลนด์ 4.0 ถือเป็นกิมมิกของรัฐบาล แต่องค์กรธุรกิจจะรู้จักและคุ้นเคยกับเศรษฐกิจดิจิตอลมากกว่า สำหรับอาชีพที่มาแรงในยุคเศรษฐกิจดิจิตอลมีดังนี้
[caption id="attachment_123861" align="aligncenter" width="304"]
นพวรรณ จุลกนิษฐ[/caption]
1. งานด้านดิจิตอล และไอที ยกตัวอย่างเช่น สายงานการตลาดดิจิตอล เงินเดือนสูงกว่าสายงานการตลาดทั่วไป 66% ทั้งนี้สื่อดิจิตอลถือเป็นสื่อเฉพาะทางที่เห็นผลด้านการตลาดทันที สำหรับมหาวิทยาลัยที่สอนด้านการตลาดดิจิตอลโดยตรง เป็นการเปิดสอนคณะบริหารธุรกิจ สาขานวัตกรรม ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และมหาวิทยาลัยศรีปทุม เป็นต้น 2. งานด้านสายอาชีพดูแลสุขภาพ โภชนาการบำบัด ถือเป็นอาชีพที่รองรับสังคมผู้สูงวัย ซึ่งจำเป็นต้องใช้บุคลากรด้านนี้ 3. อาชีพโภชนาการ วิวัฒนาการชะลอวัย ผลจากเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพมาแรงจากกรณีผู้สูงวัยที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ
4. เทรนเนอร์ออกกำลังกาย ครูโยคะ และผู้ที่ทำอาชีพเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ของผู้คน 5. อาชีพนักวางแผนทางการเงิน การลงทุน ประกันชีวิต ประกันสุขภาพที่รองรับสังคมผู้สูงวัย 6. อาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ปัจจุบันมีผู้ที่เรียนจบด้านนี้น้อย สาเหตุที่บุคลากรด้านนี้ยังเป็นที่ต้องการของตลาดอีกมากเนื่องจากยังไม่สามารถนำระบบโปรแกรมสำเร็จรูปมาใช้ได้ 7. อาชีพเฉพาะทาง เช่น นักวิเคราะห์เศรษฐกิจ นักวิเคราะห์ธุรกิจ อาชีพล่าม พยาบาล แพทย์ ที่ปรึกษาด้านการจัดการความเสี่ยง นอกจากนี้มีอาชีพนักบำบัด นักโภชนาการ เป็นต้น
นพวรรณ ยกตัวอย่างอาชีพเฉพาะทางที่ถือเป็นมนุษย์ทองคำ เช่น อาชีพพยาบาล ซึ่งจากประสบการณ์ตรงที่จ๊อบส์ ดีบีฯเข้าไปเฟ้นหาบุคลากรอาชีพพยาบาลในมหาวิทยาลัย ได้คำตอบว่านักศึกษาที่เรียนปี 2 ก็มีโรงพยาบาลมาจองตัวหมดแล้ว สาเหตุหนึ่งเพราะการมีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)ทำให้บุคลากรด้านพยาบาลสมองไหล ส่วนอาชีพแพทย์ยังไม่สมองไหล
8. นักบัญชี ถือเป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมมาตลอด เนื่องจากองค์กรธุรกิจต่างๆ ยังต้องการนักบัญชี อีกทั้งเป็นอาชีพที่ใช้หุ่นยนต์ หรือโรบอตมาแทนมนุษย์ไม่ได้
9. นักกฎหมาย ประเภทของที่ปรึกษากฎหมายที่ตลาดต้องการ คือ กฎหมายลิขสิทธิ์ ที่กำลังมาแรง ตามด้วยกฎหมายภาษีและกฏหมายมรดก แต่นักกฎหมายในประเทศไทยปัจจุบันมีผู้ชายมากกว่าผู้หญิง อย่างไรก็ตามผู้หญิงกำลังมาแรง โดยนักกฎหมายภาษีถือเป็นมนุษย์ทองคำ หรือมีรายได้สูงมากเมื่อเทียบกับที่ปรึกษากฎหมายด้านอื่น ๆ
10. อาชีพครู ต้องมีความรู้เฉพาะทาง มีทักษะในการถ่ายทอด เช่น ธุรกิจคอมพิวเตอร์
11. งานฟรีแลนซ์ หากมีความเก่งเฉพาะทาง ก็สามารถเป็นฟรีแลนด์ได้ดี งานฟรีแลนซ์ที่สามารถสร้างรายได้เพิ่มเติม ตัวอย่างของงานฟรีแลนซ์ที่น่าสนใจในมุมมองของจ๊อบส์ ดีบีฯ มีดังนี้
ขายสินค้าออนไลน์ในยุคสมัยที่อินเตอร์เน็ตเข้าถึงครอบคลุมทั้งประเทศ รวมไปถึงการใช้งานสมาร์ทโฟนที่มีอย่างแพร่หลาย การค้าขายสินค้าออนไลน์ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง ไม่ว่าจะเป็นฝั่งผู้ซื้อ หรือผู้ขาย และแน่นอนว่าทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ สร้างเศรษฐีใหม่มาแล้วหลายต่อหลายคน
นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์การทำธุรกิจอสังหาฯ ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจมาก ๆ ในยุคที่คอนโดมิเนียมและโครงการทาวน์เฮาส์ ทาวน์โฮม เกิดขึ้นจำนวนมากถือเป็นโอกาสของนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่สามารถทำได้หลายทาง ไม่ว่าจะซื้อเพื่อเก็งกำไร ซื้อไว้ปล่อยเช่าระยะยาว หรือสั้น และอื่น ๆ อีกมากมายตามแต่ความต้องการของตลาด
บล็อกเกอร์รีวิวถนัดอะไรก็รีวิวเรื่องนั้น ชอบกิน รีวิวอาหาร ชอบแต่งหน้า รีวิวเครื่องสำอาง ชอบท่องเที่ยว รีวิวโรงแรม ฯลฯ ด้วยอุปการณ์และเทคโนโลยีอันทันสมัยในปัจจุบัน ทำให้เขียน ถ่ายภาพ และการอัพโหลดทำได้ง่าย มีหลายแพลตฟอร์มให้เลือกลงบทความ ลองพิจารณาดูตามความเหมาะสม และอาจจะทำให้กลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงบนโลกออนไลน์ก็เป็นได้
สำหรับอาชีพที่มีทิศทางทำมาหากินค่อนข้างยากขึ้นในยุคเศรษฐกิจดิจิตอล หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นอาชีพที่เป็นขาลง นพวรรณ บอกว่า บางตำแหน่งสามารถใช้เทคโนโลยีมาแทนที่ เช่น เจ้าหน้าที่ด้านการตลาดหรือโบรกเกอร์หุ้น ที่เริ่มบ่นว่ารายได้ลดลง เนื่องจากนักลงทุนหันไปซื้อขายหุ้นผ่านระบบอินเตอร์เน็ต หรือเทรดออนไลน์กันมากขึ้น
นอกจากนี้อาชีพเอเยนต์หรือตัวแทนรับจองที่พักก็ถือเป็นอาชีพที่ทำมาหากิจลำบาก เนื่องจากมีการจองผ่านเว็บไซต์หมดแล้ว ยกเว้น เอเยนต์ที่เก่งจริง ๆก็ยังสามารถอยู่ในอาชีพดังกล่าวได้
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,225 วันที่ 8 - 11 มกราคม พ.ศ.2560