‘เคเอฟซี-แมคโดนัลด์’ปรับทัพใหม่ ขายเฟรนไชส์-ทุ่มงบสู้ศึกดูดลูกค้าตลาดฟาสต์ฟูด

06 ก.พ. 2560 | 05:00 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.พ. 2560 | 10:16 น.
ตลาดร้านอาหารบริการด่วนแข่งแรง 2 แบรนด์ดังเปิดเกม-ปรับแผนดูดลูกค้า แมคโดนัลด์ทุ่ม 5,000 ล้านบาทขยายปีก เคเอฟซีเดินหน้าขายเฟรนไชส์สาขาเก่า

จากตัวเลขของบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยสำหรับภาพธุรกิจร้านอาหารบริการด่วน (QSR) ในเมืองไทยปีที่ผ่านมาพบว่ามีมูลค่ากว่า 3.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งกว่า 80-90% เป็นส่วนแบ่งทางการตลาดที่มาจาก3 แบรนด์ยักษ์ต่างชาติที่เป็นที่คุ้นหูกันดี ได้แก่ เคเอฟซี,พิซซ่า และแมคโดนัลด์ โดยในปีนี้มีการประเมินว่าภาพรวมน่าจะมีการเติบโตดีกว่าปีที่ผ่านมาหรือราว 6.8% ซึ่งแน่นอนกว่ากลุ่มธุรกิจไก่ทอดยังคงครองแชมป์การเติบโตสูงสุดมากกว่าเบอร์เกอร์ และพิซซ่า งานนี้เลยได้เห็น 2 แบรนด์ยักษ์อย่างแมคโดนัลด์และเคเอฟซี ต่างรุกขึ้นมาปรับเกมครั้งใหญ่เพื่อชิงลูกค้า

โดยนางแววคนีย์ อัสโสรัตน์กุล ผู้จัดการทั่วไปเคเอฟซี ประเทศไทย บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้บริหารร้านอาหารบริการด่วน "เคเอฟซี" เปิดเผยว่า แผนดำเนินงานในปีนี้บริษัทยังคงให้ความสำคัญกับการเป็นผู้ให้บริการแฟรนไชส์ร้านเคเอฟซี ภายใต้กลยุทธ์การเป็นผู้ให้บริการแฟรนไชส์ร้านเคเอฟซี 100% ภายในปีนี้ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของแบรนด์ควบคู่กับการและบรรลุเป้าหมายในการขยายสาขาร้านเคเอฟซี่ให้ครบ 800 สาขาภายในปี 2563

ล่าสุดได้แต่งตั้งบริษัท ไพรซ์วอเทอร์เฮาส์คูเปอส์ฯ หรือ พีดับบลิวซี ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของการตรวจสอบบัญชีจากประเทศอังกฤษ เพื่อทำหน้าที่จัดการด้านการขายแฟรนไชส์ล็อตที่ 2 ให้กับพาร์ตเนอร์รายใหม่ ทั้งการประเมินราคา รวมถึงการหาผู้ซื้อที่มีศักยภาพมาร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัท

ทั้งนี้รูปแบบการดำเนินธุรกิจของเคเอฟซีภายใต้การบริหารของบริษัทยัมฯ จะเป็นในรูปแบบผู้ดูแลและสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของแฟรนไชส์ โดยมีสำนักงานที่กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางในการทำงาน ควบคู่กับการวางกลยุทธ์ทางการตลาด และการสื่อสาร รวมถึงการพัฒนาแบรน์ด้านต่างๆ โดยโมเดลธุรกิจนี้ได้ถูกนำมาใช้และประสบความสำเร็จมาหลากหลายประเทศ อาทิ แคนนาดา อังกฤษ ออสเตรเลีย และแอฟริกา ซึ่งในส่วนของประเทศไทยบริษัทจะร่วมกับพาร์ตเนอร์อย่าง "แบรนด์ แอดไวซอรี่ เคาซิล" (Brand Advisory Council) ซึ่งจะทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนด้านของแบรนด์และพาร์ตเนอร์

อย่างไรก็ตามบริษัทได้เริ่มดำเนินการในเรื่องของการประกาศปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจมาตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2560คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงเดือนกันยายนปีนี้

ด้านนายเฮสเตอร์ ชิว ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แมคไทย จำกัด ผู้บริหารร้านอาหารบริการด่วนแมคโดนัลด์ เปิดเผยว่า สำหรับแผนงานในประเทศไทยบริษัทไม่มีแผนในการขยายสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์แต่อย่างใด เนื่องจากมองว่าเนื่องจากรูปแบบการขนส่ง และภูมิประเทศของไทยมีความสะดวกสบายในการขยายตลาดซึ่งรูปแบบการลงทุนเองน่าจะเหมาะสมกว่า

ปัจจุบันแมคโดนัลด์มีจำนวนสาขาในประเทศไทยทั้งสิ้น 240 สาขาใน 35 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งเหลืออีก 42 จังหวัดที่บริษัทสามารถสร้างตลาดได้ ดังนั้นแผนงานนับจากนี้คือการมุ่งพัฒนาในทุกๆด้านเพื่อให้แบรนด์สามารถสร้างการเติบโตได้ครอบคลุมมากที่สุด

ทั้งนี้ในส่วนของแผนงาน 5 ปีนับจากนี้บริษัทมีแผนในการใช้งบประมาณการลงทุนราว 5,000 ล้านบาท ทั้งในส่วนของการขยายสาขาและการพัฒนาแผนงานเพื่อรองรับการเติบโต โดยมีแผนจะขยายสาขาเฉลี่ย 20-25 สาขาต่อปี ควบคู่กับการพัฒนาเมนูที่หลากหลายเพื่อให้สอดรับกับความต้องการทั้งเมนูแบบโกลบัลและโลคัล เพื่อขยายการเติบโต

ขณะเดียวกันบริษัทยังได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านไอที ด้วยการติดตั้งระบบการชำระเงินแบบใหม่ (POS system) พร้อมได้ติดตั้งบริการรูปแบบต่างๆ ของระบบการชำระเงินแบบใหม่นี้ เช่น Dual Point Service และ Self-Ordering Kioskในทุกร้านแมคโดนัลด์ที่เป็นแฟล็กชิพสโตร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและปรับปรุงการให้บริการลูกค้าที่ดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตามบริษัทวางเป้าหมายการเติบโตในสิ้นปีนี้ไว้ที่ 15-20% ซึ่งปัจจุบันมีบริการลูกค้าเข้ามาใช้บริการภายในร้านมากกว่า 8 ล้านคนต่อเดือนด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,231 วันที่ 5 - 8 กุมภาพันธ์ 2560