เศรษฐี-ขาใหญ่แห่โอนหุ้นหนีภาษีมรดก

14 ม.ค. 2559 | 04:00 น.
เผยเศรษฐี บริษัทจดทะเบียน -นักลงทุนรายใหญ่ แห่โอนหุ้นให้ทายาท มูลนิธิ โดย “ชัย โสภณพนิช” โอน BLA และ BKI ให้ภรรยา-บุตร-มูลนิธิรวม 713 ล้าน, “วิชัย ทองแตง” โอน BDMS เกลี้ยงพอร์ตให้บุตรทั้ง 4 คน มูลค่า 3.6 พันล้าน เช่นเดียวกับ“หมอเสริฐ” โอนหุ้น ร.พ.กรุงเทพ และ BA รวมกว่า 2.87 พันล้านให้ทายาท ขณะที่บรรยากาศกรมที่ดินหงอยผิดตา พบคนส่วนใหญ่แห่โอนตั้งแต่ ธ.ค. ปี 57 และปลายปี 58 หนีกฎหมายภาษีรับมรดกบังคับใช้ ก.พ.นี้

[caption id="attachment_26182" align="aligncenter" width="600"] ตัวอย่างการโอนหุ้นของบริษัทจดทะเบียน ตัวอย่างการโอนหุ้นของบริษัทจดทะเบียน[/caption]

หลังจากที่ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2558 ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ภาษีการรับมรดกพ.ศ. 2558 และพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ.2558 ว่าด้วยภาษีการรับให้ ในกรณีที่โอนทรัพย์สมบัติก่อนผู้ให้เสียชีวิต โดยทั้ง 2 ฉบับให้มีผลบังคับใช้ในอีก 180 วัน หรือในต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้

"ฐานเศรษฐกิจ " ได้สำรวจการเคลื่อนไหวโดยเฉพาะการโอนถ่ายหุ้นของบรรดาเศรษฐีและนักลงทุนรายใหญ่ ก่อนที่กฎหมายภาษีใหม่ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ พบว่า

  "สมยศ"โอนให้ลูก 220 ลบ.

พลตำรวจเอกสมยศ พุ่มพันธ์ม่วง ได้โอนหุ้นบมจ.เอคิว เอสเตท ( AQ ) ได้แจ้งการจำหน่ายหุ้นAQ ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน - 8 ธันวาคม 2558 จำนวน 1,500 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 11.85%ของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว พบเป็นการโอนให้ทายาท 2 คน สัดส่วนเท่ากัน คือ คนละ 500 ล้านหุ้น คิดเป็น 3.95 % คือ นางสาวชมกมล พุ่มพันธุ์ม่วง และนายรชต พุ่มพันธุ์ม่วง หรือบุตรทั้ง 2 คนถือรวม 1,000 ล้านหุ้นคิดเป็นมูลค่า 220 ล้านบาท

ภายหลังการจำหน่ายหุ้นดังกล่าวข้างต้น พลตำรวจเอกสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วงถือหุ้นจำนวน 500 ล้านหุ้น คิดเป็น 3.95% ของหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด ขณะที่AQ แจ้งว่า การขายหุ้นดังกล่าวไม่ได้ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในอำนาจการควบคุมของบริษัท

 "กรุงไทยคาร์เร้น"จัดการมรดก

สอดคล้องกับนายศักดิธัช จันทรเสรีกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ. กรุงไทยคาร์เร้นท์ แอนด์ ลีส (KCAR ) แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ว่า บริษัทได้รับแจ้งจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท คือกลุ่มครอบครัว จันทรเสรีกุล คือนายไพฑูรย์ และนางวิภาพร จันทรเสรีกุล ได้โอนหุ้นของบริษัทให้แก่บุตรเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2559 รวม 49.48 ล้านหุ้น หรือ 19.80% คิดเป็นมูลค่า 440.37 ล้านบาท ภายหลังการโอนหุ้น นายไพฑูรย์ จะเหลือถือหุ้น 10 ล้านหุ้น และนางวิภาพร เหลือถือหุ้น 40.51 ล้านหุ้น

การโอนหุ้นดังกล่าวเพื่อจัดการสินทรัพย์ให้กับกลุ่มสมาชิกครอบครัว ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการควบคุม นโยบายการบริหารและการดำเนินงานของบริษัทแต่อย่างใด

 "โสภณพนิช"ขยับครั้งใหญ่

ความเคลื่อนไหวของตระกูลโสภณพนิช โดยนายชัย โสภณพนิช โอนหุ้นบมจ.กรุงเทพประกันชีวิต (BLA)จัดโครงสร้างการถือหุ้นใหม่ โดยโอนหุ้นBLA จำนวน 11.88 ล้านหุ้น เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2558 โดยโอนให้มูลนิธิชัย-นุชนารถ โสภณพนิช ,นางนุชนารถ โสภณพนิช(คู่สมรส) และบุตรประกอบด้วยน.ส.ชนิดา นางสาวเลอลักษณ์ ,นายชวาล , นางเชาวนี, นางสาวลสา โสภณพนิช คิดเป็นมูลค่ารวม 570.24 ล้านบาท

นอกจากนี้นายชัย ได้โอนหุ้นบมจ.กรุงเทพประกันภัย (BKI) จำนวน 3 ล้านหุ้น มูลค่ารวม 143.25 ล้านบาท รวมการโอนหุ้นทั้ง 2 บริษัท คิดเป็นมูลค่า 713.49 ล้านบาท

ไม่แค่นั้นยังมีความเคลื่อนไหวของผู้ถือหุ้นใหญ่รายอื่น คือ นางประไพวรรณ ลิมทรง โอนหุ้น บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต ให้บุตรกว่า 12 ล้านหุ้น จากทั้งหมดที่ถืออยู่ 35.9 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 2.11%

 "วิชัย ทองแตง" โอนเกลี้ยง

สำหรับความเคลื่อนไหวของนักลงทุนรายใหญ่ นายวิชัย ทองแตง ผู้ถือหุ้นบมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) ประกอบธุรกิจโรงพยาบาลกรุงเทพ นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลในเครืออีกจำนวนมาก พบว่าโอนให้บุตรและธิดา ทั้ง 4 คน คือ นายอัฐ นายอิทธิ นางสาววิอร และนายอติคุณ จำนวน 173 ล้านหุ้น เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2558 คิดเป็นมูลค่าการโอนรวม 3.6 พันล้านบาท (คำนวณจากราคาปิด ณ 8 ธ.ค.58 ) ภายหลังการโอนหุ้นครั้งนี้ทำให้นายวิชัย ไม่เหลือหุ้นในชื่อตัวเองแม้แต่หุ้นเดียว

 "หมอเสริฐ"โอนหุ้น BDMS-BA

ด้านน.พ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เศรษฐีหุ้นไทย มีความเคลื่อนไหวการโอนหุ้น 2 บริษัท ให้กับทายาท ดังนี้ โอนหุ้นบมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ ให้นางสาวอาริญา บุตรสาว จำนวน 100 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่า 2 พันล้านบาท

โอนหุ้นบมจ.การบินกรุงเทพ (BA) ประกอบธุรกิจสายการบินบางกอกแอร์เวย์ โอนหุ้นBA ให้นางอาริญา ปราสาททองโอสถ บุตรสาว จำนวน 40 ล้านหุ้น เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2558 คิดเป็นมูลค่า 868 ล้านบาท รวม 2 บริษัท มีมูลค่ารวม 2.8 พันล้านบาท

 "มาลีนนท์" PCSGH ตื่นตัว

นอกจากความเคลื่อนไหวการโอนหุ้นของนักธุรกิจข้างต้นแล้ว พบว่ายังมีตระกูลดังอื่น ๆที่ปรับตัวเพื่อรับภาษีมรดก เช่น นายประชุม มาลีนนท์ ผู้บริหาร บมจ.บีอีซี เวิลด์ ( BEC )ขายหุ้นจำนวน 34 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 32 บาท ให้บุตร 2 ราย นายอภิชัย เตชะอุบล ผู้บริหาร บมจ.ไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม(TFD)โอนหุ้น 29.5 ล้านหุ้น ให้กับภรรยาและบุตร

นายธีรวัฒน์ ธัญลักษณ์ภาคย์ ผู้บริหาร เสนาดีเวลลอปเม้นท์ ( SENA )โอนหุ้น 158.84 ล้านหุ้นให้บุตร 2 ราย คิดเป็นมูลค่า 406.63 ล้านบาท

นายศิริพงษ์ รุ่งโรจน์กิติยศ และนางวรรณา เรามานะชัย (ภรรยา) ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารบมจ. พี.ซี.เอส.แมชีน กรุ๊ปโฮลดิ้ง ( PCSGH )ประกอบธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ระดับเทียร์-1 ของไทย ขายหุ้นให้บุตรรวมกัน 690 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 6.30 บาท มูลค่ารวม 4.37 พันล้านบาท ขณะที่นายศิริพงษ์ กล่าวว่า การขายหุ้นครั้งนี้ไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้างการบริหารในองค์กร

นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ผู้ถือหุ้นและผู้บริหารบมจ. อาร์เอส ( RS )โอนหุ้นให้บุตร 10 ล้านหุ้น นางอิง ภาสกรนที ผู้บริหาร บมจ.อิชิตัน กรุ๊ป( ICHI) โอนให้บุตร 2 ราย รวม 60 ล้านหุ้น เป็นต้น
เช่นเดียวกับเศรษฐีหุ้นอันดับ 3 นายสมโภชน์ อาหุนัย ผู้ถือหุ้นใหญ่บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ซึ่งถือครองหุ้นมูลค่า 3 หมื่นล้านบาท ได้โอนหุ้น EA ให้น.ส.สุภาภรณ์ อาหุนัย (พี่น้อง)จำนวน 5 แสนหุ้น เป็นต้น

 โค้งท้ายโอนที่ดินแผ่ว

ขณะที่แหล่งข่าวจากกรมที่ดิน กล่าวว่า วัตถุประสงค์และหลักการในการจัดเก็บภาษีใหม่ดังกล่าว ก็เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคมและนำรายได้ภาษีที่ได้ไปพัฒนาประเทศ รวมทั้งยังเป็นการปิดช่องโหว่ เนื่องจากที่ผ่านมาการโอนสินทรัพย์แทบจะไม่ต้องเสียภาษีหรือเสียภาษีน้อยมาก กล่าวคือ การให้ทายาทในขณะที่บิดามารดายังมีชีวิตอยู่ เสียค่าธรรมเนียมบวกค่าอากรสแตมป์ร้อยละ1 จากราคาประเมินที่ดิน กรณีเสียชีวิต(มรดก) เสียค่าธรรมเนียมร้อยละ 0.50 จากราคาประเมิน ขณะที่ภาษีมรดกใหม่เสียร้อยละ5 ของมูลค่าทรัพย์สินส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท

 เศรษฐีเร่งโอนที่ดินตั้งแต่ธ.ค.57

ล่าสุด(ข้อมูล ณ วันที่ 12 ม.ค. 59) จากการสำรวจของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่าปริมาณการติดต่อขอโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน /สิ่งปลูกสร้าง/อาคารชุด ตามสำนักงานที่ดิน/สาขาทั่วประเทศ ค่อนข้างบางตา เนื่องจาก ได้มีการเร่งโอนกรรมสิทธิ์ไปช่วงก่อนปีใหม่หรือปลายปี 2558 ก่อนที่ราคาประเมินที่ดินใหม่จะมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2559 พร้อมกับการโอนอสังหาริมทรัพย์ให้กับทายาท เพื่อเลี่ยงภาษีมรดกใหม่ และการโอนกรรมสิทธิ์บ้านจัดสรร และอาคารชุด ตามมาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์จาก2%เหลือ 0.01% โดยช่วงเวลาที่พบว่ามีการเร่งโอนสินทรัพย์ให้กับทายาทคือในเดือนธันวาคม 2557 ซึ่งเป็นช่วงที่มีกระแสว่ารัฐบาลจะบังคับใช้ภาษีมรดก

"ฐานเศรษฐกิจ"สอบถามไปยังนางพรนภา คีรีทวีป หัวหน้าฝ่ายทะเบียนสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครสาขาพระโขนง ระบุว่าบรรยากาศขณะนี้ค่อนข้างเงียบมีประชาชนติดต่อขอใช้บริการกับสำนักงานฯเฉลี่ย 40 รายต่อวัน เทียบจากช่วงก่อนสิ้นปี 2558 จะมีทั้งโอนหนีราคาประเมินและโอนหนีภาษีมรดก เฉลี่ยวันละ กว่า 500 รายต่อวัน และหากย้อนไปช่วงเดือนธันวาคม 2557 ช่วงที่มีกระแสร่างกฎหมายภาษีมรดกเข้าสภา สำนักงานที่ดินสาขาพระโขนง มีผู้มาติดต่อขอทำนิติกรรมประเภทให้ หรือบิดามารดาให้ทายาทกรณียังมีชีวิตอยู่จำนวน 482 ราย กรณีเสียชีวิตแล้วทายาทมารับมรดก 98 ราย และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 ประเภทให้ (กรณีมีชีวิต) มีเพียง 154 ราย กรณีเสียชีวิตทายาทรับมรดก จำนวน 132 ราย

 กรมที่ดินต้นปี 59 ไม่คึกคัก

สอดคล้องกับนางวารินทร์ แซ่ว่อง หัวหน้าฝ่ายทะเบียน สำนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา สาขาหาดใหญ่ส่วนแยกบางกล่ำสะท้อนว่า ขณะนี้การโอนอยู่ในภาวะปกติ มีเพียงทำนิติกรรมกรณีลดหย่อนค่าธรรมเนียมกระตุ้นซื้อบ้าน-คอนโดมิเนียมของรัฐบาลเท่านั้น

ส่วนการโอนทรัพย์สินทิ่ดินในขณะที่ผู้ให้ (บิดามารดา ยังมีชีวิต) เพื่อหนีภาษีมรดก พบว่าช่วงปลายปี 2558 จะติดต่อโอนกรรมสิทธิ์เพิ่มมากกว่าช่วงปกติเฉลี่ย 5-10% ส่วนใหญ่จะเป็นสวนยางขนาดเนื้อที่ 10-20 ไร่ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นที่ดินแปลงใหญ่ ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงเดียวกันกับราคาประเมินฉบับเก่าหมดอายุ เพราะต้องใช้ราคาประเมินอ้างอิงหากใช้ราคาใหม่ค่าธรรมเนียมก็จะเพิ่มขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,122 วันที่ 14 - 16 มกราคม พ.ศ. 2559