19 กันยายน 2567 ณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ มีการแถลงข่าวการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพระหว่างสถานพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯ กับ สปสช. รองรับการให้บริการ 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งจะมีการเปิดตัวในวันที่ 27 กันยายน 2567 นี้ โดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีเปิด
นพ.สุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพเพื่อรองรับ 30 บาทรักษาทุกที่ในพื้นที่กรุงเทพฯ นั้น กรุงเทพมหานครพยายามที่จะทำให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของประชาชนอยู่ที่ตัวประชาชนจริง ๆ ไม่ว่าประชาชนจะไปรักษาพยาบาลที่ใด
ทั้งโรงพยาบาลหรือระดับปฐมภูมิ เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น คลินิกเอกชน รวมถึงร้านยา หน่วยบริการจะสามารถเห็นข้อมูลประวัติการรักษา ประวัติการแพ้ยา ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้รับความยินยอมจากประชาชน
สำหรับความก้าวหน้าการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพนั้น ระบบการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพประชาชนของหน่วยบริการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย รพ. ในสังกัดกรุงเทพมหานคร ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง ได้เชื่อมโยงระบบข้อมูลครบทุกแห่งแล้ว และได้อัปเดตและนำเข้ารายชื่อแพทย์ในระบบ Health Link แล้ว
โดยแพทย์ที่ทำการตรวจรักษาที่ต้องการดูประวัติคนไข้ในระบบ Health Link สามารถเรียกดูประวัติผ่านระบบ HCIS และระบบ e-PHIC ได้โดยอัตโนมัติ รวมทั้งได้ทดสอบการแสดงตนยืนยันสิทธิเมื่อสิ้นสุดการรับบริการ (ปิดสิทธิ) ด้วย Smart card และการส่งเบิกค่าบริการ 13 แฟ้มเรียบร้อยแล้ว
เป็นส่วนที่สนับสนุนการให้บริการสุขภาพในพื้นที่กรุงเทพฯ ทำให้ผู้ใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท เข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น ยกระดับสุขภาพปฐมภูมิและเครือข่ายสาธารณสุข เพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เชื่อมโยงไร้รอยต่อ
ขณะที่พญ.เลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม. มีโรงพยาบาลที่อยู่ในความดูแล 12 แห่งซึ่งรวมถึง รพ.วชิระพยาบาล ที่เป็นโรงเรียนแพทย์ด้วย โดย กทม. ให้ความสำคัญกับข้อมูลสุขภาพ เพราะเป็นส่วนที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้
ข้อมูลนี้แต่เดิมคนไข้จะมาโรงพยาบาลจะส่งข้อมูลผ่านกระดาษ แต่วันนี้เราพัฒนามาใช้ระบบ E-Refer ที่มีประสิทธิภาพ โดยเชื่อมต่อข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ไม่เพียงแต่มีข้อมูลคนไข้เท่านั้นแต่ดูว่าคนไข้จะมารับบริการเมื่อใด
ทั้งยังสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลการรับบริการทั้งในระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิทั้งในสังกัดและนอกสังกัด กทม.ได้ อย่างไรก็ตามยังใส่ใจความปลอดภัยข้อมูลซึ่งการเข้าดูข้อมูลคนไข้แต่ละครั้งต้องได้รับการอนุญาตจากคนไข้เอง โดยคุณหมอจะกดปุ่ม Health link เพื่อส่งข้อมูล OTP ไปที่มือถือคนไข้เพื่อขออนุญาตก่อน
นอกจากนี้ยังมีแอปพลิเคชัน "หมอ กทม." ที่ประวัติการรักษาจะอยู่ในมือคนไข้เอง ซึ่งสามารถเข้าไปดูเองได้ ที่ผ่านมาได้มีการใช้แอปฯ นี้มาแล้วในการตรวจสุขภาพประชาชนนับล้านคน จึงเป็นระบบที่ใช้ได้จริง ตลอดจนในแอปฯ ยังมีปุ่มสีแดงฉุกเฉินที่โทรเข้าสายด่วน 1669 ที่จะทราบจุดที่อยู่คนไข้ เพื่อเข้าไปช่วยเหลือได้
ด้านพญ.ปฐมพร ศิรประภาศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต 13 กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในส่วนกระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานสนับสนุนการทำงานระบบสุขภาพในพื้นที่ กทม. อย่างเต็มที่ โดยจะดูแลผู้ป่วยที่เจ็บป่วยรุนแรงหรือที่จะเจ็บป่วยรุนแรงมากขึ้น ซึ่งต้องเข้ารับการรักษาใน รพ.ขนาดใหญ่
"เรามีความพร้อมในการรับข้อมูลผ่านระบบ Health link แล้ว เชื่อมต่อทั้งจากคลินิกชุมชนอบอุ่น ศูนย์บริการสาธารณสุข เป็นต้น นอกจากนี้หน่วยงานที่ร่วมแถลงข่าวในวันนี้
ที่ผ่านมาก็ได้ MOU เพื่อร่วมจัดระบบสุขภาพในการดูแลประชาชนพื้นที่ กทม. โดยมีโรงพยาบาลสังกัดหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมด้วย อาทิ กระทรวงกลาโหม โรงเรียนแพทย์ สภากาชาดไทย เป็นต้น"
ส่วนบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ในกรณีที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน ระบบข้อมูลนี้ก็ได้มีการเชื่อมต่อแล้วเช่นกัน ซึ่งระบบที่โรงพยาบาลเอกชนจะดูข้อมูลผู้ป่วยได้ใน 72 ชั่วโมงแรก พร้อมกันนี้ขอเชิญชวนประชาชนมาร่วมงาน 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า ในวันที่ 27 ก.ย. นี้ ซึ่งจะได้เห็นการเชื่อมต่อข้อมูลระบบสุขภาพในพื้นที่ กทม.
นายประเทือง เผ่าดิษฐ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า หัวใจหลักสำคัญอย่างหนึ่งของ 30 บาทรักษาทุกที่คือการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของผู้รับบริการในหน่วยบริการ
มีสาระสำคัญ คือ การเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของประชาชนที่เข้ารับบริการ ระหว่างหน่วยบริการ สปสช. และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถใช้ข้อมูลและเข้าถึงฐานข้อมูลตามสิทธิได้โดยสะดวก โดยมีการจัดเก็บและเชื่อมโยงข้อมูลตามมาตรฐานและกฎหมายอย่างครบถ้วนและปลอดภัย
สำหรับการดำเนินการ 30 บาทรักษาทุกที่ในพื้นที่ กทม.ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่าง สปสช. กับหน่วยบริการ เช่น เชื่อมข้อมูลหน่วยบริการ ที่ upload ไว้บน Cloud ทุกแหล่ง cloud หมอพร้อม, กลาโหม, UHOSNET ฯลฯ และสุดท้ายคือการเชื่อมข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลและคลินิกนวัตกรรมผ่านระบบ Health Link โดย BDI เช่น คลินิกเทคนิคการแพทย์, คลินิกกายภาพบำบัด เป็นต้น
ทั้งนี้ สปสช. มีเป้าหมายในการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยบริการในพื้นที่ กทม. ทั้งหมด 1,619 แห่ง ดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลสำเร็จแล้ว 94 % หรือจำนวน 1,535 แห่ง และอยู่ระหว่างการเชื่อมโยงข้อมูลอีก 84 แห่ง ซึ่งจะเรียบร้อยภายในวันที่ 27 กันยายนนี้
รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ตามที่ BDI ได้ร่วมมือกับ กทม. และ สปสช.ในการดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพหน่วยนวัตกรรมที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. ผ่านระบบ Health Link เพิ่มเติมจากการเชื่อมข้อมูลจากโรงพยาบาลนั้น
ขณะนี้ได้ดำเนินการแล้วเสร็จเป็นจำนวน 1,508 แห่ง โดยครอบคลุมทั้ง รพ. ศบส. คลินิกชุมชนอบอุ่น ร้านยาคุณภาพ คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ คลินิกทันตกรรม คลินิกเทคนิคการแพทย์ คลินิกแพทย์แผนไทย คลินิกเวชกรรม ซึ่งช่องทางในการเปิดดูประวัติการรักษาได้ทั้งจากระบบ HIS ของหน่วยบริการและผ่าน HIE Web portal ของ Health Link ซึ่งพร้อมรองรับการให้บริการประชาชนด้วย 30 บาทรักษาทุกที่
รศ.ดร.ธีรณี กล่าวว่า การเชื่อมโยงข้อมูลในครั้งนี้เราได้ร่วมทำงานกับสภาวิชาชีพต่าง ๆ ในการกำหนด ตรวจสอบ ยืนยันตัวตนผู้ให้บริการและการกำหนดข้อมูลที่สามารถเปิดดูประวัติการรักษาให้สอดคล้องกับการให้บริการและมาตรฐานวิชาชีพ และเพื่อให้ครอบคลุมการบริการเรายังร่วมกับแอปพลิเคชันเป๋าตัง และหมอ กทม. ในการส่งข้อมูลสุขภาพคืนให้ประชนชน
สำหรับหน่วยบริการที่อาจจะยังไม่ได้เชื่อมข้อมูลผ่านระบบ Health Link ผู้ให้บริการก็ยังสามารถเปิดดูประวัติการรักษาของผู้ป่วยผ่าน PHR ได้
นอกจากนี้ เรายังร่วมกับ สปสช. ในการพัฒนาระบบ AI เพื่อช่วยตรวจสอบความผิดปกติของ Transaction การเบิกจ่าย รวมทั้งเชื่อมข้อมูลจากระบบ Health Link เข้ากับระบบตรวจสอบของ สปสช. เพื่อเพิ่มความเร็วในการตรวจสอบ ส่งผลให้กับหน่วยบริการสามารถเบิกจ่าย (Claim) ได้เร็วขึ้น
ขณะนี้เรากำลังเตรียมการเพื่อขยายการเชื่อมข้อมูลสุขภาพให้รองรับการส่งต่อผู้ป่วย (Refer) ซึ่งหน่วยบริการสามารถส่งต่อการรักษาและประวัติการรักษาได้อย่างสะดวกมากขึ้น ระบบการเชื่อมโยงข้อมูลในพื้นที่ กทม. ณ ขณะนี้ มีความพร้อมที่รองรับ 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า ในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่จะมีการเปิดตัวในวันที่ 27 กันยายน นี้
ดร.กิตติ วงศ์ถาวราวัฒน์ หัวหน้ากลุ่มนวัตกรรมแพลตฟอร์มดิจิทัลสุขภาพการแพทย์ สวทช. กล่าวว่า ได้มีส่วนร่วมในการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพจากแพลตฟอร์มกลุ่มงาน AMED Care เป็นแพลตฟอร์มหลังบ้านในการให้บริการการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลแก่หน่วยบริการหรือสถานพยาบาลที่เข้าร่วม 30 บาทรักษาทุกที่ ทั้งในกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ
แพลตฟอร์มกลุ่มงาน AMED Care ที่ให้บริการมี 5 แพลตฟอร์ม ได้แก่ เชื่อมร้านยาดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 32 อาการ ระบบบริการดูแลต่อเนื่องผู้ป่วยในที่บ้าน ระบบบริการคลินิกพยาบาลสำหรับตรวจรักษาโรคเบื้องต้น ระบบบริการคลินิกเวชกรรมสำหรับรักษาโรคทั่วไป และระบบบริการคลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น
ดร.กิตติ กล่าวต่อว่า การเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพเป็นพื้นที่ที่สำคัญในการให้บริการการรักษาแก่ประชาชนในทุกที่เพราะความเจ็บป่วยไม่อาจรอสถานที่และเวลาได้
สวทช. จึงยินดีที่ผลงานการพัฒนาแพลตฟอร์ม AMED Care สามารถสร้างประโยชน์การบริการสาธารณสุขให้ประชาชนและสามารถต่อยอดผลการดำเนินงานไปสู่ระบบฐานข้อมูลสุขภาพที่จะขยายการบริการแอปได้อย่างกว้างขวาง รองรับการให้บริการ 30 บาทรักษาทุกที่