อดีตผู้ว่าการ สตง. อัดกรมศุลฯ ตีความประกาศห้ามนำเข้าสินค้าดิวตี้ฟรี เอื้อ ‘คิงเพาเวอร์’ เปิดทางซื้อสินค้า 2 หมื่นบาท หิ้วเข้าประเทศได้ ทำรัฐเสียประโยชน์รายได้ ส่อหลีกเลี่ยงภาษี สร้างไม่ความไม่เป็นธรรม เตือนโดน ม.157 จี้เปิดสัมปทานรอบใหม่ ปี 2562 ต้องเลิกผูกขาด
ประกาศกรมศุลกากรที่ 60/2561 เรื่องการปฏิบัติพิธีการศุลกากรของติดตัวผู้โดยสารที่นำติดตัวเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรพร้อมกับตนทางท่าอากาศยาน ที่ออกมาล่าสุด ข้อ 2.5 ระบุว่า ของที่ซื้อจากร้านค้าปลอดอากรขาออกในเมือง หรือร้านค้าปลอดอากรภายในอาคารผู้โดยสารขาออก ณ สนามบิน จะต้องนำออกไปนอกราชอาณาจักรเท่านั้น หากนำกลับเข้ามาให้ผ่านการตรวจที่ช่องแดง (Goods to Declare) และชำระอากร นับเป็นประเด็นที่น่าสนใจ
โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับสัมปทานดิวตี้ฟรี รวมถึงคำชี้แจงครั้งล่าสุดของ นายชัยยุทธ คำคุณ รองอธิบดีกรมศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร ที่ระบุว่า สินค้าที่ซื้อจากร้านค้าปลอดอากรในเมือง หากไม่เกิน 2 หมื่นบาท สามารถนำกลับเข้ามาในราชอาณาจักรได้
นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวยืนยันกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ไม่ถูกหลัก ไม่ควรตีความแบบเกรงใจกันมาก แต่ต้องเกรงใจประชาชนทั้งประเทศที่ไม่มีโอกาสแบบนี้ รวมถึงคู่ค้าอื่น ๆ ที่นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาขาย
ตีความเช่นนี้เกิด 2 มาตรฐาน ในการขายสินค้าระหว่างดิวตี้ฟรี กับผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าทั่วไป เมื่อบอกว่า ซื้อออกไปก็ควรจะนำออกไป ไม่ใช่ฝากไว้ก่อนแล้วค่อยมาเอา ซึ่งไม่ตรงกับวัตถุประสงค์แน่นอน
‘ดิวตี้ฟรี’ ต้องออกนอก ปท.
กรณีที่อ้างว่า เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ซื้อที่เป็นคนไทยให้ซื้อสินค้าได้ถูก ไม่ต้องนำออกนอก แล้วยังช่วยให้เกิดการจ้างงานในประเทศด้วยนั้น ก็ไม่ใช่เหตุผลที่แท้จริง
เพราะเรื่องของภาษีเป็นเรื่องของความเป็นธรรม มองในมุมของคนที่ขายไม่ได้ เขาก็ต้องปลดพนักงานออก ความเป็นธรรมอยู่ที่ตรงไหน ใครไม่รู้จักวิธีการเช่นนี้ ซื้อของแบบตรงไปตรงมา ซื้อสินค้าซึ่งคิดรวมภาษีเอาไว้แล้ว ตรงข้ามกับการซื้อแบบนี้ที่มีโอกาสรั่วไหล ไปจองไว้ก่อน กลับมาค่อยมาเอา เป็นการเอื้อกับผู้ประกอบการดิวตี้ฟรี
และประเทศไทยเราก็มีดิวตี้ฟรี ฟรีผูกขาดอยู่เพียงแค่รายเดียว (กลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์) ยืนยันว่า ของที่ซื้อจากดิวตี้ฟรีในราชอาณาจักร ในเมือง หรือสนามบิน ต้องขนออกนอกราชอาณาจักร ซึ่ง สตง. ยืนหยัดทักท้วงเรื่องนี้มาตลอด
ส่วนกรณีการซื้อที่ ‘ดิวตี้ฟรี’ ในเมือง แล้วไปรับที่ Pick Up Counter แล้วถือกลับมาได้ นายพิศิษฐ์ เน้นย้ำว่า ทำเช่นนี้ไม่ถูก
ไม่ต่างกับการหลีกเลี่ยงอย่างหนึ่ง เนื่องจากประกาศในข้อ 2.5 ระบุเอาไว้ชัดเจน การอ้างว่า เนื่องจากมีมูลค่าไม่เกิน 20,000 บาท ติดตัวกลับมาได้นั้น น่าจะอยู่ในประกาศข้อที่ 3.1 ที่ระบุว่า เป็นของใช้ส่วนตัวที่ติดตัวมา
เตือนโดนมาตรา 157
กรณีของเหล้าและบุหรี่คงไม่ต้องพูดถึง เพราะกำหนดปริมาณไว้ชัดเจน แต่สินค้าประเภทอื่นนั้น แม้จะซื้อมาก็ไม่ได้หมายความว่า เป็นของใช้ติดตัว มาติดตัวเอาตอนขาเข้า หรือประเภทที่ซื้อแล้วไม่ได้ติดตัวไป ฝากเอาไว้ก่อน แล้วค่อยมาติดตัวตอนจะผ่านด่าน แล้วเดิน ‘ช่องเขียว’ ออกมา คงไม่ใช่ การตีความแบบนี้รัฐก็เสียประโยชน์ และไม่เป็นธรรม ยอมได้แค่บุหรี่กับเหล้า แต่อย่างอื่นบอกว่า ต้องเป็นของใช้ติดตัวเกี่ยวกับเรื่องการประกอบวิชาชีพ ถามว่า กระเป๋าหลุยส์เกี่ยวอะไรกับวิชาชีพ คิดว่านี่ไม่ใช่ของติดตัว
“ยุคนี้เป็นยุคปฏิรูป ถ้ายังตีความกฎหมายหละหลวมเช่นนี้ รายได้ที่มาจากภาษี มาเป็นรายได้ให้กับรัฐก็ยิ่งน้อยลง ไปเป็นรายได้ให้กับบริษัทดิวตี้ฟรี ที่ปัจจุบันนี้ก็ผูกขาดเพียงแค่รายเดียวอยู่แล้ว
หากหน่วยงานรัฐยังไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ก็อาจจะโดยข้อหาละเว้นปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 ทำให้รัฐเสียประโยชน์รายได้ เท่ากับเอื้อให้มีการหลบหลีก หลีกเลี่ยงภาษี สร้างความไม่เป็นธรรม”
ต้องเลิกผูกขาด ‘ดิวตี้ฟรี’
นายพิศิษฐ์ กล่าวด้วยว่า
ในปี 2562 สัมปทานดิวตี้ฟรีจะหมดวาระสัมปทาน ดังนั้น ต้องเลิกผูกขาดเสียที หากทำได้ เชื่อว่า ภาษีจะได้มากขึ้น รายได้กระจาย ไม่กระจุกอยู่กับบริษัทใดบริษัทหนึ่งที่จะก่อให้เกิดอำนาจต่อรอง ปัญหาที่ผ่านมา คือ เจ้าหน้าที่เวลาตีความจะตีความไปในลักษณะที่รายได้ไม่เข้ารัฐ รายได้เข้าเอกชน จึงต้องปฏิรูปแก้ไขเรื่องนี้ ต้องปรับเปลี่ยนใหม่ เปิดให้มีการแข่งขันที่แท้จริง
“สิ่งที่เคยหลบเลี่ยงได้ในอดีต แล้วแปลความในลักษณะละเลย ละเว้น ต้องไม่เกิดขึ้น เมื่อมีการเปิดสัมปทานใหม่”
……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,347 วันที่ 11-14 มี.ค. 2561 หน้า 01-02
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
กรมศุลฯ ย้ำ! ซื้อของ Pickup Counter ต้องนำออกนอก ปท. เท่านั้น
ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ : กรมศุลฯ แจงของมีค่าออกนอกประเทศไม่บังคับแจ้ง