ขาใหญ่-นายหน้าวิ่งฝุ่นตลบ! จุฬาฯ ชี้พิกัดตั้งสถานีไฮสปีดแปดริ้วแห่งใหม่อยู่เขตอำเภอเมือง ห่างสถานีเดิม 4 กม. มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เตรียมปักธงวางผังเมืงอัจฉริยะ
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (อีอีซี) ที่เปิดเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนวันที่ 30 พ.ค. 2561 นี้ แนวเส้นทางจากอู่ตะเภาถึงดอนเมืองมี 9 สถานีหลัก จำนวนนี้มีสถานีเกิดใหม่ 2 สถานี คือ อู่ตะเภากับฉะเชิงเทรา ขณะที่ อีก 7 สถานี สร้างคร่อมพื้นที่สถานีเดิมพร้อมปรับใหญ่ขึ้น เพื่อสร้างให้เป็นเมืองใหม่ ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่
[caption id="attachment_287290" align="aligncenter" width="503"]
พนิต ภู่จินดา
อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะที่ปรึกษาวางผังเมืองอีอีซี[/caption]
ชี้พิกัดสถานีแปดริ้ว
นายพนิต ภู่จินดา อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะที่ปรึกษาวางผังเมืองอีอีซี เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การพัฒนาเมืองใหม่อีอีซีมีประมาณ 3-4 แห่ง ตามแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง สำหรับสถานีฉะเชิงเทราตั้งอยู่ห่างจากสถานีรถไฟเดิม ซึ่งอยู่เขตอำเภอเมือง มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 4 กิโลเมตร หากได้ข้อสรุป ทางจุฬาฯ จะเข้าไปวางผังพัฒนาเมืองอัจฉริยะต่อไป
เนื่องจากรถไฟความเร็วสูงต้องใช้เขตทางกว้าง 1,200 เมตร ต่างจากรถไฟธรรมดาที่ใช้วงรัศมีเพียง 400 เมตร แต่ปัจจุบันยังไม่สรุป แต่สถานีจะไม่อยู่ที่เก่า เนื่องจากมีความแออัด อยู่ในย่านชุมชนและติดกับบริษัทขนส่ง สำหรับสถานีพื้นที่ ด้านหน้ากว้างประมาณ 50-60 เมตร ความยาวประมาณ 200 เมตร แต่ต้องมีพื้นที่พัฒนารอบสถานีเกิดขึ้นแน่นอน เพื่อเป็นรายได้ชดเชยให้กับ ร.ฟ.ท.
"การปักหมุดสถานีรถไฟความเร็วสูงสถานีฉะเชิงเทรา ยอมรับว่า มีการวิ่งซื้อที่ดินดักกระจายทั่วไป แต่หากไม่สร้างสถานีบริเวณที่ซื้อที่ดินก็ต้องทำใจ"
นายพนิต ย้ำว่า เมืองใหม่แปดริ้วจะอยู่บริเวณรอยต่อของ กทม. เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยชั้นดีสำหรับแรงงานด้านมีทักษะสูง ที่สามารถแบกรับค่ารถไฟความเร็วสูง ไม่ว่าจะมา กทม. หรืออีสเทิร์นซีบอร์ด
ขณะที่ เมืองใหม่ชลบุรีอยู่บริเวณสัตหีบ หรือทางตอนใต้ของพัทยา เมืองใหม่ระยองอยู่ทางด้านเหนืออำเภอเมืองระยอง ขณะที่ ศรีราชา บริเวณที่รถไฟความเร็วสูงจอดจะเป็นทีโอดี ซึ่งเป็นพื้นที่แรกที่ ร.ฟ.ท. จะพัฒนารอบสถานี มีที่ดิน 25 ไร่ โดยไม่ต้องเวนคืน ขณะเดียวกัน ก็มีแลนด์แบงก์ของนิคมอุตสาหกรรม 31 แห่ง ล่าสุด ประกาศเขตนิคม 21 แห่ง ซึ่งจะแบ่งนักลงทุนในทางลับอย่างชัดเจน คือ ญี่ปุ่นจะลงทุนในนิคมอมตะ ซึ่งมีอยู่ 13-14 เฟส ขณะที่ จีนจะลงทุนของซีพี ซึ่งซีพีทยอยเก็บที่ดินไม่ต่ำกว่า 10,000 ไร่ ใน จ.ระยอง ซึ่งขณะนี้ได้ขอเป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเปลี่ยนสีผังเมืองจากสีเขียวเกษตรกรรมเป็นสีม่วงทั้งหมดแล้ว
หดสมาร์ทซีตีเหลือ 80 ไร่
นายจอมพงษ์ ชูทับทิม เลขาธิการหอการค้าจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า คณะกรรมการอีอีซี จ.ฉะเชิงเทรา ได้พิจารณาปรับพื้นที่ทีโอดีรอบสถานีฉะเชิงเทรา ว่า จะหดพื้นที่ลงเหลือ 80-100 ไร่ ซึ่งเปรียบเสมือนไข่แดง แต่อยู่ติดกับสถานี เนื่องจากเป็นสมาร์ทซิตี จึงใช้พื้นที่ไม่มาก เช่น ธรรมศาสตร์รังสิต เอแบคบางนา แต่ใส่สิ่งอำนวยความสะดวกเข้าไป ขณะที่ พื้นที่วงรอบ ๆ จะเหมือนไข่ขาว ซึ่งเอกชนจะทำหน้าที่พัฒนาต่อไป อย่างไรก็ดี ที่ดินในแปดริ้วอยู่ในมือนักลงทุนรายใหญ่ ทั้งนักการเมืองระดับชาติ นักการเมืองท้องถิ่น กลุ่มซีพี ค่ายเบียร์ช้าง ค่ายบุญรอด กลุ่มดั๊บเบิ้ลเอ บริษัทจัดสรรรายใหญ่ อาทิ ค่ายเอสซีแอสเสท เป็นต้น
ร.ฟ.ท. เร่งเต็มสูบ
แหล่งข่าวระดับสูงของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า แนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อู่ตะเภา-ดอนเมือง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เริ่มจากสนามบินดอนเมืองนั้น จะใช้พื้นที่ของสถานีรถไฟปัจจุบัน พร้อมแบ่งเขตทางและปรับชานชาลาให้กว้างขึ้น
ส่วนที่เด่นชัดจะเริ่มจากสนามบินสุวรรณภูมิ จะก่อสร้างเส้นทางเชื่อมเข้ากับสนามบินสุวรรณภูมิอีก 1 แนว ซึ่งมาจากสนามบินอู่ตะเภา เช่นเดียวกับการก่อสร้างแนวเส้นทางเชื่อมเข้าไปยังศูนย์ซ่อมบำรุงที่อยู่ก่อนถึงสถานีฉะเชิงเทราราว 800 เมตร มีพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ ซึ่งจุดดังกล่าวจะเป็นจุดแยกที่มีแนวเส้นทางไปยังแก่งคอยได้ ซึ่งจุดศูนย์ซ่อมบำรุงจะมีทางเข้าออกชัดเจนใกล้กับแนวเส้นทางหลักประมาณ 100 เมตร
"บางส่วนอาจจะต้องก่อสร้างไปพร้อมกับโครงการรถไฟสายสีแดงในเขตเมือง แต่ส่วนใหญ่จะใช้สถานีปัจจุบันแทบทั้งหมด ยกเว้น สถานีอู่ตะเภาที่จะเป็นสถานีใหม่และใช้แนวเส้นทางใหม่ บางสถานีจะสร้างคร่อมสถานีปัจจุบัน เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ บางสถานีอาจจะสร้างก่อนเข้าสู่หรือหลังพ้นสถานี แต่ไม่ควรจะห่างกับสถานีเดิมมากจนเกินไป เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่ออย่างสะดวก โดยจะมีการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดยาวประมาณ 300 เมตร ช่วงสถานีพัทยา-อู่ตะเภา สำหรับรถไฟเส้นทางนี้อีกด้วย"
ในส่วนพื้นที่การพัฒนาเมืองใหม่นั้น เป็นหน้าที่ของกรมโยธาธิการและผังเมืองไปกำหนดจุดเบื้องต้นนั้น ทราบว่า อยู่ในโซนสถานีฉะเชิงเทราและอู่ตะเภาบางส่วน เช่นเดียวกับสถานีศรีราชาที่จะพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ประมาณ 25 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 100 ไร่ พร้อมกับสถานีมักกะสันนั้น ล่าสุด ทราบว่าอยู่ระหว่างการนำเสนอคณะกรรมการอีอีซีพิจารณา ซึ่งหากเอกชนรายใดชนะการประมูลก็จะต้องประชุมร่วมกันในรายละเอียดการพัฒนาแต่ละพื้นที่ต่อไป
……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,370 วันที่ 31 พ.ค. - 2 มิ.ย. 2561 หน้า 01+15
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
●
'คีรี' ท้ารบ 'ซีพี' ชิงไฮสปีด! เปิดอาณาจักรแสนล้าน - 'บีทีเอส' ประกาศยึดทุกโปรเจ็กต์
●
ไฮสปีดเทรนเชื่อม 3สนามบินจ่อประกาศชวนเอกชนร่วมลงทุนปลายพ.ค.