การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ (Aged Society) ในปี 2567 ด้วยจำนวนประชากรผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปสูงที่มีมากกว่า 13.44 ล้านคน จากจำนวนประชากรไทยทั้งหมด 65.96 ล้านคน หรือคิดเป็น 20.69% และคาดว่าจะขยับเป็นสังคมสูงอายุแบบสุดยอด (Super Aged Society) มีผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 30% ในปี พ.ศ.2576
กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้รัฐบาลต้องเร่งเดินหน้ายุทธศาสตร์ รับมือการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร ที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการรองรับทั้งด้านสาธารณูปโภค การดูแล การพักฟื้น รวมไปถึงการรักษา
อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ด้านสาธารณสุขไทย คือจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นความดันโลหิต เบาหวาน หลอดเลือดในสมอง มะเร็ง ฯลฯ ปัจจัยสำคัญมาจากอาหารการกินจำพวก หวาน มัน เค็ม และไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้คน ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในระบบสาธารณสุขเป็นจำนวนมาก และทำให้อัตราการเสียชีวิตด้วยโรค NCDs มากกว่าการเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดเชื้อเกินกว่าครึ่ง
ภาพที่ชัดเจนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โรงพยาบาลรวมถึงภาคีเครือข่ายต่างมุ่งหาทางออกของเรื่องนี้มานานหลายปี และปักธงให้ปี 2568 มุ่งหน้าไปที่การป้องกันโรค มากกว่าการรักษาเมื่อเจ็บป่วยแล้ว เรื่องของ “เวชศาสตร์วิถีชีวิต” (Lifestyle Medicine) ที่แพร่หลายในทั่วโลกจึงเป็น “ทางรอด” หนึ่ง ที่ไม่ใช่แค่ “ทางเลือก” ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ รวมทั้งการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาปรับใช้ Lifestyle Medicine และ AI จึงเป็น 2 คีย์เวิร์ดที่จะช่วยลดการป่วยโรค NCDs และผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Medical & Wellness Hub ในอนาคต
ศ.วุฒิคุณ ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ คณะกรรมการบริหาร สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบแล้ว และอัตราการเจ็บป่วยก็เริ่มมีมากขึ้น แต่นับจากปี 2566 เป็นต้นมาหลังจากเกิดสถานการณ์ โควิด-19 พบผู้เสียชีวิตด้วยโรคติดเชื้อน้อยลง เพราะคนหันมาใส่ใจดูแลตัวเอง ระวังตัว กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ เว้นระยะห่าง หรือแม้กระทั่งใส่แมสเพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนในปี 2567 ที่คาดการณ์ไว้ว่าไข้หวัดใหญ่จะระบาดอย่างรุนแรง สุดท้ายสถานการณ์กลับเบาบางกว่าที่คิด ถือว่าประเทศไทยจัดการเรื่องโรคระบาดได้เป็นอย่างดี แต่สิ่งที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่คือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือกลุ่มโรค NCDs เช่น โรคความดัน เบาหวาน ไขมันสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง รวมถึงมะเร็ง
จากสถิติการเสียชีวิตของคนไทยประมาณ 4-5 แสนคนต่อปี พบว่ากว่า 80% ล้วนเป็นผู้ป่วยในกลุ่มโรค NCDs ซึ่งโรคเหล่านี้ต้องใช้เวลารักษา และใช้งบประมาณในระบบสาธารณสุขของไทยนับแสนล้านบาท นอกจากนี้ยังมีภาวะคุกคามสุขภาพที่คนไทยควรตระหนักถึงและต้องให้ความสำคัญคือ บุหรี่ไฟฟ้า ขณะนี้ถือว่าเป็นภัยคุกคามสุขภาพของเด็กและเยาวชนไทยกว่า 20%
ปัจจุบันประชาชนคนทั่วไปเริ่มหันมาสนใจเกี่ยวกับโรค NCDs และมีความรู้มากขึ้น แต่คนที่จะยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมีน้อย เพราะต้องอาศัยความอดทนและประสบการณ์ส่วนบุคคล ตลอดคนรอบข้าง ที่จะช่วยสร้างค่านิยมในด้านสุขภาพ ทั้งการกิน การควบคุมน้ำหนัก เพื่อให้บุคคลนั้นๆ มีสุขภาพดีมีสุขภาพแข็งแรง นับเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่เรียกว่า “เวชศาสตร์วิถีชีวิต” หรือ Lifestyle Medicine
นพ.พรเทพ กล่าวว่า Lifestyle Medicine จะช่วยป้องกันและรักษาโรค NCDs ได้ จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้องจะสามารถวัดผลได้ว่าแต่ละบุคคลเกิดการเปลี่ยนแปลงของยีนส์ในร่างกายอย่างไรบ้างจนทำให้เกิดโรค สามารถตรวจได้จากเซลล์ของร่างกายและแปลงผลบอกข้อเท็จจริงด้วยระบบ AI ซึ่งในปี 2567 คาดว่าการตรวจยีนส์สามารถระบุแนวโน้มการเกิดโรคได้แล้วมากกว่า 10 ชนิด และในปี 2568 การตรวจเซลล์ก็จะเป็นกระแสความนิยมอีกอย่างในธุรกิจการแพทย์ของไทย
ดังนั้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของแต่ละบุคคลเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่การพบแพทย์ผู้ป่วยก็สามารถออกแบบสิ่งที่จะทำในชีวิตได้ ส่วนคนทั่วไปก็ปรับเปลี่ยนได้เช่นกันโดย Lifestyle Coach อาจเป็นพยาบาล เภสัชกร นักเทคนิคการแพทย์ หรือบุคคลที่มีความรู้ทางด้านการแพทย์ที่สามารถช่วยแพทย์ได้ ตลอดจนแพทย์ทุกแขนง เช่น แพทย์กระดูก แพทย์เบาหวาน เป็นต้น เพราะการใช้ยาคือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่การเปลี่ยนพฤติกรรมคือการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
นพ.พรเทพ กล่าวว่า เทรนด์ธุรกิจในด้านสุขภาพของปี 2568 จะเฟื่องฟู ได้แก่ ผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร อาจต้องคำนึงถึงสุขภาพของผู้บริโภค ด้วยการลดความเค็ม ลดความหวาน ลดของทอด ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน ที่เริ่มมีความรู้เกี่ยวกับการกินอาหารมากขึ้น ถัดมาคือธุรกิจเกี่ยวกับอุปกรณ์หรือเครื่องแต่งกายสำหรับการออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า รองเท้า ที่คนจะให้ความสำคัญและจะเป็นเทรนด์ที่มาแรงมาก
เกี่ยวเนื่องไปถึงธุรกิจเครื่องดื่ม ความนิยมของผู้บริโภคจะเปลี่ยนไป คนจะงดและลดเครื่องดื่มที่ใส่น้ำตาลมากขึ้น รวมทั้งส่วนผสมที่มีไขมันทรานส์ ซึ่งปัจจุบันก็เริ่มเป็นกระแสบ้างแล้วในทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานที่จะเข้าถึงข้อมูลและสามารถศึกษาหาความรู้ได้อย่างรวดเร็ว หากผู้ประกอบการในธุรกิจเหล่านี้ตามเทรนด์ไม่ทันจะกระทบต่อยอดขายสินค้าและผลิตภัณฑ์ได้ รวมถึงธุรกิจการแพทย์ ที่ต้องให้ทั้งการบริการดูแล รักษา และฟื้นฟู
นายมิไฮ อีริเมสซู กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทในกลุ่มบริษัทโรช มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองบาเซิล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เล่าให้ “ฐานเศรษฐกิจ” กล่าวว่า 3 ปัจจัยหลักที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อตลาดเฮลท์แคร์โลก ได้แก่
1. ความต้องการตรวจโรคสูงขึ้นตามจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มโรค NCDs 2. ความต้องการบริการในธุรกิจเฮลท์แคร์เพิ่มขึ้น ทั้งในโรงพยาบาล คลินิก ศูนย์การแพทย์ต่างๆ 3. รัฐบาลทั่วโลกเริ่มหันมาลงทุนเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพมากขึ้น ยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกาลงทุนถึง 20% ของจีดีพี, ยุโรปลงทุน 7-10% ของจีดีพี, ประเทศในภูมิภาคเอเชียรวมถึงประเทศไทยลงทุนเฉลี่ยประมาณ 5% ของจีดีพี
โดยนโยบายของรัฐบาลไทยทุกรัฐบาลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยังคงมุ่งเน้นการลงทุนทางด้านระบบสุขภาพค่อนข้างสูงและให้ความสำคัญกับธุรกิจสุขภาพพอสมควร ส่งผลให้ภาพรวมธุรกิจเฮลท์แคร์ในประเทศไทยจึงมีแนวโน้มที่ดี เรียกได้ว่าระบบสุขภาพหรือ Healthcare System ของประเทศไทยก้าวหน้ามากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกันอย่างประเทศมาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
แต่กลับเทียบกับประเทศสิงคโปร์ได้ยาก เพราะประเทศสิงคโปร์เป็นเมืองขนาดเล็ก สามารถวางระบบการจัดการได้ง่ายกว่าประเทศไทยที่เป็นเมืองใหญ่ และธุรกิจเฮลท์แคร์ประเทศไทยเติบโตเฉลี่ยเพียง 5% ต่อปี น้อยกว่าประเทศเวียดนามที่มีอัตราการเติบโตสูงกว่า 20% ต่อปี เนื่องจากอำนาจการตัดสินใจด้านการลงทุนของเวียดนามจะทำได้อย่างเร็วผ่านรัฐบาลกลางโดยตรง
“ในภาพรวมตลาดเฮลท์แคร์ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีความแข้มแข็งมาก มีศักยภาพสูง มีโรงเรียนแพทย์และระบบการศึกษาที่ดีมาก แต่แค่นั้นยังไม่พอ ต้องโฟกัสการเป็น Digitization ของธุรกิจเฮลท์แคร์ในโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อให้เกิดการลงทุนในระบบดิจิทัล
รวมถึงเรื่องสิทธิด้านภาษีในการลงทุนซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลควรพิจารณาเป็นหลัก เพราะในสิงคโปร์มีสิทธิด้านภาษีที่ดึงดูดนักลงทุนมากกว่าไทย อาจมองได้ว่านโยบายของรัฐบาลมีส่วนสำคัญที่จะช่วยผลักดันไทยให้เป็น Medical Hub รองรับศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติได้ในอนาคตอันใกล้”
ขณะที่ นายแพทย์ระวีวัฒน์ มาศฉมาดล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.มาสเตอร์ สไตล์ (MASTER) หรือ Group CEO MASTER กล่าวว่า ธุรกิจเฮลท์แคร์ในประเทศไทยในปัจจุบันได้นำเทคโนโลยี AI มาใช้อย่างแพร่หลาย และช่วยขับเคลื่อนการทำงานของบุคคลากรให้มีความรวดเร็วขึ้น เป็นหนึ่งในเครื่องมือถ้าหากใช้เป็นจะทำให้ได้เปรียบคู่แข่ง แต่ก็ต้องพัฒนาคนและบุคลากรด้วยเช่นกันเพื่อไม่ให้ AI เข้ามาทดแทนคน
“เราสามารถใช้ AI ทำงานช่วยคนได้ หากใช้เป็นซึ่งจะทำให้การถูก ดิสรัปชันในธุรกิจเกิดขึ้นได้ยาก อย่าง MASTER เราก็พัฒนาตัวเองและให้พนักงานรวมทั้งแพทย์ให้ AI ให้เป็น ตั้งแต่การหาข้อมูล การพัฒนาตัวเอง การผลิตสื่อ หรือโปรโมทโฆษณา ซึ่งช่วยลดการทำงานโดยใช้แรงคนได้เกิน 50% แล้ว”
ทั้งนี้ ภาครัฐและเอกชนไทยยังคงสนับสนุนประเทศไทยสู่การเป็น Medical Hub รองรับศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติอย่างต่อเนื่อง ในธุรกิจการแพทย์ด้านศัลยกรรมก็ถือว่าประเทศไทยยังได้เปรียบประเทศอื่นรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย สปป.ลาว เมียนมาร์ กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์ ล้วนแต่ให้ความเชื่อมั่นและเดินทางเข้ามาทำศัลยกรรมในประเทศไทย และประเทศเหล่านี้อาจจะต้องใช้เวลาอีกสักพักกว่าจะพัฒนาและแย่งชิงสัดส่วนการตลาดของไทยได้
อย่างไรก็ตาม นโยบายของภาครัฐตลอดจนเทรนด์ของผู้บริโภคเกี่ยวกับเรื่อง Lifestyle Medicine และการใช้เทคโนโลยี AI เป็นแรงผลักดันสำคัญขับเคลื่อนธุรกิจ Healthcare ของประเทศไทยมีแนวโน้มการเติบโตค่อนข้างสูงในปี 2568