นับเป็นอีกหนึ่งคดีอื้อฉาวข้ามปีต่อกรณีที่กลุ่มธรรมาภิบาลเครือข่ายภาคประชาชนต้านทุจริตและคอร์รัปชันได้เข้าไปช่วยตรวจสอบและช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรถไฟ จำกัด ราว 6,000 คนจนพบความผิดปกติและเรื่องโยงใยไปถึงคณะกรรมการบริหารชุดต่างๆ ที่นายบุญส่ง หงษ์ทองกับพวกรวม 6 คน สร้างมูลค่าความเสียหายมาตั้งแต่ปี 2552-2560 เบื้องต้นกว่า 2,200 ล้านบาท ซึ่งได้ร้องเรียนเรื่องดังกล่าวต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2560 พร้อมกับร้องเรียนไปยังกองปราบปราม สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ให้มีบัญชาถึงกรมส่งเสริมสหกรณ์หน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องสหกรณ์ของประเทศเร่งเข้าไปแก้ไขปัญหาไม่ให้ลุกลาม
พบเส้นทางเงิน1.3หมื่นล.
ล่าสุดกลุ่มธรรมาภิบาลได้ยื่นหนังสือร้องเรียนถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคสช.และประธานกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ อีกครั้ง ผ่านศูนย์ดำรงธรรม
โดยนายวิวัฒน์ สมบัติหลาย ในฐานะประธานกลุ่มธรรมาภิบาล ขอให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินกรณีมีการยักย้าย ถ่ายเท หรือผองถ่ายเงินออกจากสหกรณ์ของนายบุญส่งกับพวกจำนวนกว่า 1.3 หมื่นล้านบาทว่ามีเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ผู้ใดมีส่วนรู้เห็น สนับสนุน หรือเป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิดนี้ด้วยหรือไม่ ให้ตรวจสอบคณะกรรมการดำเนินการชุดชั่วคราวที่มาจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่ได้มีพฤติการณ์อาจเอื้อประโยชน์ หรือประวิงเวลาการดำเนินคดีหรือไม่ แล้วให้มีข้อสั่งการถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปปง. และกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อเร่งดำเนินคดีต่อบุคคลที่ได้ร่วมกันกระทำความผิดทั้งหมดอีกทั้งขอให้ตั้งคณะกรรมการพิเศษที่ไม่มีส่วนได้เสียเพื่อแก้ปัญหาเป็นกรณีเร่งด่วนไม่ให้เกิดปัญหาใหญ่ลุกลาม เนื่องจากล่าสุดกลุ่มธรรมาภิบาลได้ตรวจสอบเชิงลึกพบมูลค่าความเสียหายมากกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเงินดังกล่าวมีแนวโน้มสูงที่จะกระทบไปถึงสหกรณ์พันธมิตรอีก 14 แห่งที่มีทั้งการกู้และการรับฝากเงินมาหมุนเวียนกิจการ หากความเสียหายลุกลามจะเกิดผลกระทบตามมาแน่ๆ
มูลเหตุของคดีดังกล่าวนี้เกิดจากนายบุญส่ง หงษ์ทองกับพวกได้มีการร่วมมือกันเป็นขบวนการและวางแผนกันเป็นขั้นตอนได้กระทำผิดโดยทุจริตขึ้นในสหกรณ์ ด้วยการอนุมัติเงินกู้พิเศษเพื่อเคหะสงเคราะห์โดยไม่มีหลักประกันในการปล่อยกู้ให้กับพวกรวม 6 คน ซึ่งเป็นคณะกรรมการดำเนินการในชุดที่ 7-11 จำนวน 199 สัญญาคิดเป็นเงินจำนวนกว่า 2,279 ล้านบาท ซึ่งไม่เป็นไปตามระเบียบว่าด้วยการให้กู้เงินพิเศษของกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่กำหนดไว้ว่าต้องไม่เกิน 15 ล้านบาท แต่จากการตรวจสอบของกลุ่มธรรมาภิบาลกลับพบว่าปัจจุบันมีเงินเข้า-ออกและเงินหมุนเวียนในสหกรณ์ตั้งแต่ปี2552-2560 เป็นจำนวนเงินสูงมาก และมีรายได้หลักมาจาก 4 ช่องทางหลัก(ดังแสดงภาพอินโฟประกอบ) รวมเงินหมุนเวียนสหกรณ์เป็นเงินจำนวนกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท
จับตากรมส่งเสริมฯมีเอี่ยว
ทั้งนี้นายกิ่งแก้ว โยมเมือง หัวหน้าฝ่ายกฎหมายกลุ่มธรรมาภิบาล ให้ข้อมูลในเชิงลึกอีกว่าทางกลุ่มได้รับข้อมูลใหม่จากสมาชิกสหกรณ์ว่านายบุญส่งกับพวกรวม 6 คนได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกรมส่งเสริมสหกรณ์โดยการนำเงินออกจากสหกรณ์ด้วยวิธีการที่ผิดระเบียบข้อบังคับและผิดกฎหมายตั้งแต่ปี2552-2559 รวมมูลค่าความเสียหายเป็นเงินกว่า 3,129 ล้านบาท นอกจากนั้นสมาชิกที่เป็นลูกหนี้เงินกู้ คือ กู้ฉุกเฉิน กู้สามัญ และกู้พิเศษ ได้กู้เงินรวมเป็นจำนวน 1,993 ล้านบาท ต่อมาเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2561 นายทะเบียนสหกรณ์ได้มีคำสั่งที่ 2/2561 สั่งให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด พ้นจากตำแหน่งและได้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการชั่วคราวจำนวน 15 คน โดยเป็นคณะกรรมการที่มาจากเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ 9 คน และที่มาจากสมาชิกของสหกรณ์จำนวน 6 คน มีกำหนดระยะเวลาปฏิบัติงานจำนวน 180 วัน
ปัจจุบันปรากฏว่าการดำเนินการแก้ไขปัญหาและการดำเนินคดีอาญาต่อนายบุญส่งกับพวกไม่มีความคืบหน้า อีกทั้งคณะกรรมการดำเนินการชุดชั่วคราวที่กรมส่งเสริมสหกรณ์แต่งตั้งมานั้นซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมสหกรณ์จำนวนเกินกว่ากึ่งหนึ่งมีความสนิทสนมเป็นพิเศษกับนายบุญส่งกับพวก และยังได้เคยถูกนายบุญส่งแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นประธาน อีกทั้งคณะกรรมการชุดชั่วคราวยังได้เดินทางไปพบนายบุญส่งกับพวกที่โครงการอาลีบาบารีสอร์ท อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี
นอกจากนั้นยังพบว่าเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2555 หนังสือออกโดยสหกรณ์เลขที่ 022/2555 ได้แต่งตั้งผู้ประสานงานที่นายบุญส่งให้นายวิสิทธิ์ ศิริเลิศ และนายนิทัต สุขสุสร เป็นผู้ประสานงานกับสหกรณ์ออมทรัพย์อื่นหรือสถาบันการเงินเพื่อให้สหกรณ์ได้กู้หรือรับฝากเงิน อีกทั้งตามรายงานการประชุมของคณะกรรมการชุดที่ 7 (ครั้งที่ 1/2555 ลงวันที่ 5 กันยายน 2555) ได้มีผู้แทนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์เข้าร่วมประชุมด้วยคือนายวิสิทธิ์ ศิริเลิศและนางวิวาห์พร ลักษณะโภคิน ดังนั้นคณะกรรมการดำเนินการชุดชั่วคราวซึ่งทราบเรื่องดีอยู่แล้วแต่กลับยังแต่งตั้งให้บุคคลดังกล่าวเข้าทำหน้าที่ จึงน่าจะมีเจตนาพิเศษเพื่อไม่ให้มีการดำเนินคดีอาญานายบุญส่งกับพวกในครั้งนี้หรือไม่ และคณะกรรมการชุดชั่วคราวยังไม่ชี้แจงข้อมูลและเอกสารสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดีแก่พนักงานสอบสวน หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ และปปง.
โดยในครั้งนี้กลุ่มธรรมาภิบาลขอให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงหากพบว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดขอให้ลงโทษในสถานหนัก อีกทั้งยังได้สอบถามถึงเรื่องการดำเนินคดีในฐานความผิดต่างๆที่ไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด ดังนั้นคงต้องตามลุ้นกันว่าท้ายที่สุดแล้วคดีนี้จะมีผลสรุปอย่างไร ใครจะโดนร่างแหรับผิดชอบต่อกรณีความเสียหายดังกล่าวนี้และสมาชิกจะได้รับเงินคืนทั้งหมดหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์คงจะไม่ปล่อยให้คนชั่วลอยนวลอีกต่อไป
| เซกชั่น : เศรษฐกิจมหภาค
|หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 12 ฉบับ 3393 ระหว่างวันที่ 19-22 ส.ค2561