สผม.กางแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์ เปิดงบลงทุน 8 โครงการ ร่วม 8 หมื่นล้าน ภาครัฐ/เอกชนร่วมใจ สืบสานศิลปะ วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ หวังถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นไทย พร้อมสร้างแลนด์มาร์กใหม่แห่งการพักผ่อน ดึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ
นายวันชัย ถนอมศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร (สผม.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงถึงแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์ว่า ทาง สผม.ได้เคยร่วมปรึกษาหารือกับ นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เกี่ยวกับแผนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์ จึงกำหนดขอบเขตการพัฒนาออกเป็น 8 จุดใหญ่ๆ มูลค่าการลงทุนร่วม 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการพัฒนาที่อยู่อาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชนโดยพื้นที่แรกจะเริ่มจากบริเวณ เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ มาจนถึงโรงแรมชาเทรียม ริเวอร์ไซด์ ระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร จะพัฒนาเป็นทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเป็นโครงการที่ศึกษาร่วมกันระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับท่านเจ้าคุณพรหมวชิรญาณ เจ้าอาวาสวัดยานนาวา และเอกชนในพื้นที่ ในส่วนของขั้นตอนการออกแบบถือว่าเสร็จสมบูรณ์ รอเพียงงบประมาณการก่อสร้างที่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 300 ล้านบาท
พื้นที่ต่อมาคือบริเวณสะพานสาธร ด้านบนเป็นโครงการรถไฟฟ้า ส่วนด้านล่างเป็นท่าเรือทัวร์ที่มีเรือจำนวนมากมาจอดให้บริการ โดยกทม.มีแผนจะพัฒนาบริเวณนี้ให้เป็นศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยว ถัดไปในพื้นที่ใกล้ๆกัน ถือเป็นพื้นที่ที่มีโรงแรมระดับ 5 ดาวถึง 8 โรงแรม อาทิ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล โรงแรมแชงกรี-ลา ซึ่งในบริเวณนี้โรงแรมทั้ง 8 จะร่วมกันพัฒนาอาคารไปรษณีย์กลางบางรักให้เป็นศูนย์แสดงศิลปวัฒนธรรม หรือตลาดนัดศิลปะ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบของศูนย์ออกแบบเจริญกรุงที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีนี้ โดยกลุ่มลูกค้าที่จะใช้บริการคือกลุ่มลูกค้าที่พักในโรงแรมเหล่านั้น ถือว่ามีกำลังซื้อที่ดีและเป็นกลุ่มที่ชื่นชอบงานศิลปะ โดยจะใช้งบลงทุนประมาณ 2 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อมองในฝั่งตรงข้ามกับอาคารไปรษณีย์กลางบางรัก จะพบกับโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่คือ โครงการไอคอน สยาม ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชยกรรมแบบมิกซ์ยูส ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย อาคารพักอาศัย อาคารศูนย์การค้า ศูนย์ประชุม พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาไทย โดยความร่วมมือของ สยามพิวรรธน์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น (ในเครือเจริญโภคภัณฑ์) กำหนดเปิดให้บริการภายในปี 2560 มูลค่าโครงการ 5 หมื่นล้านบาท โดยเจ้าของโครงการมีแผนที่จะเชื่อมโยงโครงการที่อยู่อาศัยเข้ากับโรงแรม ศูนย์การค้า และแหล่งท่องเที่ยวริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเน้นภาพลักษณ์แม่น้ำเจ้าพระยาในฐานะแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก
ลำดับถัดมาคือบริเวณตลาดน้อย ที่มีส่วนเชื่อมต่อกับแหล่งอารยธรรมจีนโบราณอย่างเยาวราช และต่อเนื่องไปจนถึงแหล่งค้าขายโบราณต่างๆ ที่สามารถเชื่อมโยงไปยังแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสะพานพุทธ ที่ปัจจุบันมีสะพานด้วน (ทางรถไฟที่อยู่ระหว่างสะพานพุทธ-สะพานพระปกเกล้า ที่สร้างไม่เสร็จ) ซึ่งทางกทม.มีแผนที่จะพัฒนาสะพานดังกล่าวให้เป็นสวยลอยฟ้าให้เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ภายใต้รูปแบบสวนสาธารณะ-ทางเดินเท้า-ทางจักรยานลอยฟ้า เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงของย่านดังกล่าวระหว่างสะพานพุทธยอดฟ้ากับสะพานปกเกล้า และรองรับการใช้บริการของนักเรียน/ผู้ปกครองในพื้นที่โดยรอบที่มีมากถึง 25โรงเรียน เมื่อสร้างเสร็จทางด้านซ้ายมือจะเห็นสะพานภูมิพล หรือสะพานวงแหวนอุตสาหกรรม เชื่อมระหว่างถนนพระราม 3 และด้านขวามือเป็นสะพานพระราม 8 โดยโครงการดังกล่าวเป็นภายใต้ความร่วมมือของกทม. กระทรวงคมนาคม กรมทางหลวงชนบท กรมเจ้าท่า
นอกจากนี้ในพื้นที่ดังกล่าวยังมีแผนที่จะพัฒนาทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเชื่อมระหว่างฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนคร โดยเริ่มจากอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สวนสมเด็จย่า) ไปทางวัดประยูรวงศาวาสวรวิหาร ที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1 หรือ Award of Excellence จากโครงการประกวดรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำปี 2556 จากยูเนสโก ,วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร วัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 , วัดอุภัยภาติการาม (วัดซำปอกง) เป็นศาลเจ้าจีนที่เก่าที่สุดในรัตนโกสินทร์ และมัสยิดต้นสน (กุฎีบางกอกใหญ่)มัสยิดแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ มีลักษณะเหมือนโบสถ์ เส้นทางนี้ถือเป็นย่าน 4 ความเชื่อ 3 ศาสนา ที่ควรอนุรักษ์ ตลอดจนบริเวณปากคลองตลาดก็มีแผนที่จะปรับภูมิทัศน์สวนสาธารณะนคราภิรมย์ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น พร้อมสร้างที่จอดรถรองรับได้ 700 คัน เพื่อให้เห็นพระบรมมหาราชวังและวัดโพธิ์ในมุมที่กว้างขึ้น ทั้งนี้ คาดว่างบประมาณในการพัฒนาโครงการทั้งหมดในส่วนของกทม.จะอยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,134 วันที่ 25 - 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559