จากผลการวิจัยทั่วโลกของเดลล์ เทคโนโลยีส์ พบว่าคนในยุคหลังมิลเลนเนียล (post-millennials) หรือคนที่เกิดหลังปี 2539 (ค.ศ.1996) และเป็นที่รู้จักในนาม Gen Z มีความเข้าใจและรอบรู้เทคโนโลยีในเชิงลึก แต่สิ่งที่ขาดและถือเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข คือ ทักษะด้าน soft skills หรือการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง แต่ถึงกระนั้นบรรดามืออาชีพระดับอาวุโส ก็ยังมีความหวาดเกรงที่จะโดนเด็กที่โตมาในยุคดิจิทัลแย่งเก้าอี้
“อโณทัย เวทยากร” รองประธานบริหาร เดลล์ อีเอ็มซี ภูมิภาคอินโดจีน บอกว่า ผู้ตอบแบบสำรวจมากถึง 89% ต่างเข้าใจดีว่าเรากำลังก้าวสู่ยุคของความร่วมมือระหว่างมนุษย์และเครื่องจักร (human-machine partnership) โดย 51% (ประเทศไทย 64%) ของบรรดาผู้เข้าร่วมการสำรวจ เชื่อว่ามนุษย์และเครื่องกลจะทำงานร่วมกันเสมือนเป็นทีมเดียวกัน ในขณะที่ 38% (ประเทศไทย 30%) มองว่าเครื่องกลเป็นเสมือนเครื่องมือที่มนุษย์เรียกใช้ได้ตามต้องการ
การที่กลุ่มคน Gen Z เติบโตมาในยุคดิจิทัล ทำให้ชาว Gen Z ส่วนใหญ่ มีความมั่นใจในความสามารถด้านเทคโนโลยี โดยในประเทศไทย 76% ของคนกลุ่มนี้ ต่างระบุว่าความสามารถด้านเทคโนโลยีของตนอยู่ในระดับที่ดีหรือยอดเยี่ยม และ 73% กล่าวว่ามีทักษะในการเขียนโค้ด (coding skills) สูงกว่ามาตรฐานทั่วไป และที่มากไปกว่านั้นก็คือ 95% ของชาว Gen Z ในประเทศไทย ปรารถนาที่จะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา เพื่อให้ความรู้กับเพื่อนร่วมงานที่มีอายุมากกว่า แต่มีประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีน้อยกว่า
ในทางกลับกัน ชาว Gen Z มีความกังวลเกี่ยวกับทักษะที่เหมาะสมในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น รวมไปถึงประสบการณ์ที่ผู้ว่าจ้าง โดยเด็กไทยที่จบใหม่เกือบทั้งหมด หรือประมาณ 96% มีความกังวลใจเกี่ยวกับการว่าจ้างงานในอนาคต ตั้งแต่เรื่องของการขาดทักษะที่เหมาะสม ตลอดจนขาดประสบการณ์ในการทำงาน และประมาณ 60% ที่ระบุว่าการศึกษาของตนอยู่ในระดับดี หรือดีเยี่ยม และมีความพร้อมในการทำงาน โดย 67% มั่นใจว่ามีทักษะด้านเทคโนโลยีที่ผู้ว่าจ้างต้องการ แต่ขาดทักษะที่ไม่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี โดยเฉพาะการสื่อสาร หรือการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน (soft skills)
ขณะเดียวกัน กลุ่มคนที่เป็นมืออาชีพในระดับอาวุโส มีความกังวลว่าจะโดนเด็กรุ่นใหม่แซงหน้า และบทบาทของผู้นำในอนาคตส่วนใหญ่จะกลายเป็นของเด็กรุ่นใหม่ที่โตมาในยุคดิจิทัล สอดคล้องตามการวิจัยของเดลล์ เทคโนโลยีส์ ที่พบว่า 87% ของผู้นำกลัวว่าองค์กรของตัวเอง จะพยายามมอบโอกาสด้านการทำงานที่ทัดเทียมให้กับเด็กรุ่นหลัง
ปัจจุบันในที่ทำงานมีคนทำงานอยู่ถึง 5 เจเนอเรชัน ฉะนั้นองค์กรธุรกิจควรช่วยให้คนทำงานเหล่านี้หาจุดร่วมกันให้เจอ เพื่อผลักดันไปสู่การสร้างวัฒนธรรมของค์กรที่ให้ความสำคัญกับดิจิทัลเป็นอันดับแรก (digital-first) โดยทีมงานที่ต้องทำงานข้ามสายงานและมีทักษะที่ครบครัน สามารถกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ และการแก้ปัญหาด้วยวิธีแบบใหม่ การหมุนเวียนงาน รวมถึงการพัฒนาความก้าวหน้าทางอาชีพตั้งแต่เริ่มต้น สามารถช่วยให้คนเจน Z เกิดประสบการณ์ในการทำงานและพัฒนาทักษะด้านปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นได้ โดยวิธีการโค้ชชิ่งเพื่อนร่วมงาน จะช่วยเพิ่มพูนความสามารถด้านเทคโนโลยีภายในองค์กร โดยมีคนเจน Z เป็นผู้เบิกทาง
จากผลการศึกษาในประเทศไทย พบว่า 91% สามารถใช้โซเชียล มีเดียเป็นเครื่องมือในการสร้างคุณค่าการทำงาน และกว่าครึ่ง หรือประมาณ 58% ชอบนั่งทำงานในออฟฟิศ เมื่อเทียบกับการทำงานจากบ้าน และ 70% ชอบที่จะทำงานเป็นทีมมากกว่าทำคนเดียว
สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะคนทำงานรุ่นเจน Z เติบโตมาในสภาพแวดล้อมการศึกษาที่ต้องทำงานร่วมกัน และคาดหวังความร่วมมือจากที่ทำงาน แม้ว่าการสื่อสารที่ต้องพูดคุยกันต่อหน้าจะไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยในที่ทำงานสมัยใหม่ แต่เทคโนโลยีที่ให้ความรู้สึกเสมือนจริง (immersive technologies) จะช่วยให้คนทำงานทุกประเภทสามารถประสานความร่วมมือกันได้ ทั้งในโลกการทำงานจริงและโลกเสมือนจริง
สรุปคือ ในโลกของการทำงานยุคปัจจุบัน องค์กรที่สามารถสร้างกำลังคน และสนับสนุนคนทำงานในทุกเจเนอเรชันได้ จะเติบโตได้ในยุคที่การทำงานต้องมีความร่วมมือกันระหว่างมนุษย์และเครื่องกล คนทำงานที่ผสานการทำงานร่วมกันได้ดี นับเป็นขุมพลังที่จะช่วยให้องค์กรปฏิรูปและประสบความสำเร็จได้ในอนาคตดิจิทัล
หน้า 22 ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 28 ก.พ. - 2 มี.ค. 2562