เดินหน้าแห่งที่ 5-6 ผนึกไทย-ลาว
รายงาน : โต๊ะข่าวภูมิภาค
ย้อนหลังไป 25 ปี เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2537 คือวันเปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 เชื่อมระหว่างจังหวัดหนองคาย ข้ามไปฝั่งสปป.ลาวที่บ้านท่านาแล้ง นครเวียงจันทน์ ตัวสะพานยาว 1,170 เมตร มีทางรถ 2 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.5 เมตร ทางเข้า 2 ข้างทางช่องละ 1.5 เมตร และมีทางรถไฟขนาดราง 1 เมตร ตั้งอยู่กึ่งกลาง งบประมาณก่อสร้าง 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 750 ล้านบาท ที่อัตราแลกเปลี่ยนช่วงนั้นเฉลี่ย 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยเป็นเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลออสเตรเลีย
สะพานมิตรภาพไทย-ลาว ช่วยเสริมสร้างความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศ ไม่เพียงให้ประชาชนเดินทางไปมาหาสู่กันสะดวกยิ่งขึ้น แต่ยังส่งเสริมการค้าขายแลกเปลี่ยนจากมูลค่า 3,600 ล้านบาทก่อนมีสะพาน เป็น 43,000 ล้านบาท ในปี 2554 และเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ควบคู่กับการตกลงสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 ที่ 3 ...ตามมาจนถึงปัจจุบันมีถึงแห่งที่ 4 แล้ว และอยู่ในแผนที่จะก่อสร้างอีก 2 แห่ง
หลังจัดตั้งจังหวัดบึงกาฬในปี 2554 คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) บึงกาฬ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยง ภายใต้กรอบความร่วมมือกลุ่มอนุภาคลุ่มแม่นํ้าโขง(Greater Mekong Subregion : GMS) และกรอบอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่นํ้าโขง (Ayeyawady-Chao Phraya- Mekong Economic Cooporation Straegy : ACMECS) แผนงานหนึ่ง คือการก่อสร้างสะพานข้ามแม่นํ้าโขง แห่งที่ 5 แทนการใช้แพขนานยนต์ (เรือบัค)
โครงการนี้จะข้ามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212 บริเวณกิโลเมตรที่ 125+925 หมู่ 2 บ้านดอนยม ตำบลไคสี อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ ข้ามแม่นํ้าโขงไปเชื่อมต่อทางหลวงหมายเลข 13 ที่บ้านกล้วย เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ ของสปป.ลาว ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาทางหลวงของลาวที่จะก่อสร้างถนนเลี่ยงเมืองปากซันด้านตะวันออก
งบลงทุนในโครงการดังกล่าวจํานวน 3,640 ล้านบาท แยกเป็น ค่าก่อสร้างถนน 890 ล้านบาท ในฝั่งไทย 750 ล้านบาท และฝั่ง สปป.ลาว 140 ล้านบาท งานสะพาน 1,510 ล้านบาท ฝั่งไทย 860 ล้านบาท และฝั่งสปป.ลาว 650 ล้านบาท อาคาร สํานักงานด่าน 1,000 ล้านบาท ฝั่งละ 500 ล้านบาท และรวมค่าเวนคืน 240 ล้านบาท
ประเทศไทยจะใช้งบประมาณประจำปี ส่วนฝ่ายสปป.ลาว จะขอกู้เงินจากสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) การก่อสร้างจะเริ่มขึ้นในปี 2562 โดยคาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างตามแผนการ 3 ปี ขณะนี้รัฐบาล 2 ประเทศ และ สพพ. (NEDA) ดำเนินการประกวดราคา
สะพานข้ามแม่นํ้าโขงแห่งที่ 5 นี้ นอกจากจะเป็นเส้นทางที่เลือกในการเดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงในกลุ่มประเทศอนุภาคลุ่มแม่นํ้าโขงแล้ว ยังช่วยพัฒนาระบบโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงระบบโครงข่ายคมนาคมให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเชื่อมโยงสินค้าจากประเทศไทยไปสู่ตลาดจีนตอนใต้ หรือสินค้าจากโซนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยออกสู่ทะเลที่เวียดนาม ไปยังประเทศปลายทางอื่นๆ ในทางกลับกันก็จะเป็นเส้นทางเลือกที่สำคัญอีกเส้นทางหนึ่ง ของการค้าการลงทุนจากประเทศเพื่อนบ้านของอนุภูมิภาคลุ่มแม่นํ้าโขงและจีนตอนใต้ เข้ามาสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 6 เชื่อมอำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี กับแขวงสาละวัน สปป.ลาว นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีคมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการสำรวจออกแบบ ซึ่งทางด้าน สปป.ลาว ก็พร้อมและเร่งรัดการดำเนินการก่อสร้างมาโดยตลอด และทางรัฐบาลก็พยายามเร่งรัดอยู่ตลอดเวลา เพราะเห็นว่าการก่อสร้างสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 6 นี้ จะช่วยให้การคมนาคม ขนส่งสะดวกและร่นระยะเวลาในการเดินทางไปยัง สปป.ลาว-เวียดนาม ได้อย่างมาก นั่นก็จะส่งผลให้เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่งด้วย
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,466 วันที่ 2 - 4 พฤษภาคม 2562