'ในฐานะผู้นำ ต้องมีหน้าที่ให้โอกาส ให้เวที พร้อมทั้งอิสระในการทำงานที่มีความยืดหยุ่น เพื่อให้คนเก่งได้แสดงออก และต้องพร้อมที่จะซัพพอร์ตเมื่อคนในทีมต้องการความช่วยเหลือ'
จากเป้าหมายการจัดตั้ง “กองทุน สิงห์ เวนเจอร์ส” ให้เข้ามาทำหน้าที่มองหาเทคโนโลยี หรือสตาร์ทอัพที่น่าสนใจ มาสร้างเสริมโอกาสใหม่ๆ หรือต่อยอดให้ธุรกิจในกลุ่มของสิงห์ คอร์ปอเรชั่นแข็งแกร่งและยั่งยืนยิ่งขึ้น “ภูริต ภิรมย์ภักดี” ประธานกรรมการบริหาร สิงห์ เวนเจอร์ส จึงได้เลือกผู้นำทัพ ที่ชื่อ “คุณเบนซ์ - วรภัทร ชวนะนิกุล” เข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการ เพื่อทำหน้าที่เป็น ทั้ง “หู” และ “ตา” ที่มองหาโอกาสดีๆ เหล่านั้นให้เจอ และต้องสอดคล้องกับธุรกิจที่กลุ่ม สิงห์ ดำเนินการอยู่
“ตอนเริ่มต้นที่คุณภูริตชวนมาร่วมงาน ไม่ได้บอกอะไรมาก นอกจากบอกว่า ให้มาสร้างโอกาสใหม่ๆ ด้วยกัน ซึ่งเราต้องไปค้นหาคำตอบเองว่าโอกาสใหม่ๆ นั้นคืออะไร แล้วก็มาสร้างทีมใหม่เพื่อขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้า” โดยกรอบการทำงานกว้างๆ คือ การมองหาเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยขยายส่วนงานของกลุ่มสิงห์ รวมทั้งมองว่าสิ่งใหม่ๆ ที่สตาร์ทอัพคิด มีอะไรบ้างที่สอดคล้องและเกื้อหนุนให้การทำงานของกลุ่มสิงห์แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
“คุณเบนซ์” บอกว่า เขาชื่นชอบในการสร้างอะไรใหม่ๆ อยู่แล้ว จากประสบการณ์การทำงานด้านเทคโนโลยี เพราะจบมาทางด้านวิศวะ เครื่องกล หลังจากนั้นไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา ด้านซัพพลายเชน และได้ทำงานด้านคอนเซาท์ กับออราเคิล และบริษัท ดีลอยท์ ทำให้เขารู้สึกสนุกกับงานที่เกี่ยวเนื่องกับการขยายธุริกจใหม่ๆ และงานที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี เพราะฉะนั้น เมื่อได้รับการทบทามให้เข้ามาสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับสิงห์ เขาจึงมองว่ามันเป็นความท้าทาย และน่าทดลอง แม้ช่วงแรกอาจจะคิดอยู่บ้างว่า องค์กรขนาดใหญ่ที่อยู่มานาน จะปรับตัวได้เร็วตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันหรือไม่ ซึ่งเมื่อได้เข้ามาสัมผัสจริงๆ ก็พบว่า สิงห์ เป็นบริาัทที่ปรับตัวและเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
การเริ่มต้นในหน้าที่แม่ทัพของสิงห์ เวนเจอร์ส คือ การเลือกหาทีมงานที่มีความเก่งในแต่ละด้าน เพราะสิ่งที่สิงห์มองหา ถือว่าเปิดกว้างในหลากหลายธุรกิจ แต่ที่สำคัญคนที่จะเข้ามทำงานตรงนี้ ต้องมีทัศนคติที่ดี และมีเซนท์ของธุรกิจพอสมควร เพราะเขาต้องมองให้ออกว่า ธุรกิจใหม่ๆ หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านั้น จะเข้ามาเสริมเติมเต็มกลุ่มสิงห์ได้อย่างไร
แน่นอน คนเก่งหลายๆ คนมักมีอีโก้ของตัวเอง เพราะฉะนั้นสิ่งที่ “คุณเบนซ์” บอกว่าขาดไม่ได้ คือ ทัศนคติที่ดี ส่วนตัวเขาเองในฐานะผู้นำ ก็ต้องทำหน้าที่ให้โอกาส ให้เวที พร้อมทั้งอิสระในการทำงานที่มีความยืดหยุ่น เพื่อให้คนเก่งเหล่านี้ได้แสดงออก โดยตัวเขาเองต้องพร้อมที่จะซัพพอร์ตเมื่อคนในทีมต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งขณะนี้เขามีทีมแล้วประมาณ 70 คน
ส่วนของเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพที่มองหา เพื่อการเข้าไปร่วมลงทุนด้วย ผู้บริหารหนุ่มคนนี้บอกว่า ช่วงแรกจะค่อนข้างกว้าง ไม่ได้โฟกัสชัดเจน ที่ผ่านมา มีทั้งไปดูเทคโนโลยีเกี่ยวกับยา เรื่องของไบโอดีเซล แต่ขณะนี้ภาพที่โฟกัส เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น สตาร์ทอัพที่มองหาต้องเป็นระดับซีรี่ส์เอขึ้นไป ส่วนธุรกิจที่โฟกัสตั้งเป็น 3 แกนหลัก คือ Deep Tech เกี่ยวกับ Future of Foods, Comsumer และธุรกิจอะไรที่เปลี่ยนโลก เช่น รถที่ขับเองได้ หรือหุ่นยนต์ที่มาช่วยมนุษย์ ซึ่งเร็วๆ นี้ น่าจะได้เห็นการร่วมลงทุนใหม่ๆ เกี่ยวเทคโนโลยีที่ทำมห้การผลิตเกี่ยวกับน้ำมีประสิทธิภาพ (Effective) มากยิ่งขึ้น
“ผมมองหาอะไรที่เป็นโอกาสทั้งลงทุน และการเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ สามารถช่วยขยาย และต่อยอด ทำให้เรานำมาใช้ในประเทศ เพื่อการขยายไปสู่ภูมิภาคอาเซียน หรือในระดับโลกได้”
“คุณเบนซ์” ยกตัวอย่างสตาร์ทอัพที่เข้าไปร่วมลงทุนมาแล้ว เช่น GRAIN สตาร์ทอัพในสิงคโปร์ ที่เป็นเหมือน Restaurant Online ส่งตรงถึงลูกค้า และอีกบริษัท ชื่อ แท็กซ์ เป็นระบบการรู้จำใบหน้าหรือ ระบบการจดจำใบหน้า (recognition system) ซึ่งจะมีการถ่ายรูปสินค้าบนเชลฟ์ แล้ววิเคราะห์ออกมาเป็นเป็นตัวช่วยในการจัดเรียงสินค้าบนเชลฟ์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังมีธุรกิจรวมทั้งเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สิงห์ เวนเจอร์ส เล็งไว้อีกอย่างน้อย 6-8 ตัว
ความท้าทายของนักบริหารหนุ่มผู้นี้ คือ “ทำอย่างไรให้สิงห์ สามารถนำเทคโนโลยีมาต่อยอดได้ และทำอย่างไรให้สิงห์ ช่วยกันพัฒนาอีโคซิสเต็มของสตาร์ทอัพไทย ให้ก้าวไปสู่ระดับภูมิภาค สามารถผลักดันให้พวกเขาเติบโตได้แบบก้าวกระโดด ไปสู่ระดับยูนิคอร์นได้ในที่สุด" นั่นคือ เป้าหมายสูงสุดที่เขาต้องการเห็น ในฐานะหนึ่งในผู้ทำหน้าที่เป็น CVC หรือแหล่งเงินทุนยักษ์ใหญ่ของไทย