สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงงานด้วยความมุมานะและอดทน ตรากตรำพระวรกายเคียงคู่พระองค์ท่าน เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข และสร้างรอยยิ้มให้แก่อาณาประชาราษฎร์มาอย่างยาวนานตลอดระยะเวลากว่า 70 ปี
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเล็งเห็นว่า ทุกข์ของราษฎรนั้นรอไม่ได้ แม้จะต้องเสด็จพระราชดำเนินลุยน้ำ บุกป่า ฝ่าดง ในระยะทางที่ไกลเท่าใด อันตรายรอบด้าน ก็มิทรงเกรงกลัว ย่อท้อต่ออุปสรรคและความยากลำบาก ด้วยมีพระราชประสงค์ที่รับทราบปัญหาความเดือดร้อนของราษฎร แล้วนำมาจัดทำเป็นโครงการจนเป็นที่มาของแนวพระราชดำริในหลากหลายโครงการ ตกผลึกสู่การนำไปปฏิบัติเพื่อให้ครอบคลุมในทุกด้าน ทั้งสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและศิลปวัฒนธรรม โดยมีแนวคิดปรัญญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นฐานราก
สำหรับหลักการทรงงานในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ยึดถือแนวพระราชดำริจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้านการทรงงานพัฒนาบนหลักการ 5 ประการ ได้แก่
1. ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาในระดับพื้นฐานของประเทศ คือ “ชนบท” กล่าวคือแหล่งผลิตอาหารและเกษตรกรรม เพื่อให้คนส่วนใหญ่ของประเทศมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
2. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้าน “จิตใจ” เพื่อนำไปสู่ความสุข สันติ และเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
3.ให้ความสำคัญกับ “โอกาส” ของราษฎร ที่จะได้รับการพัฒนาหรือมีส่วนร่วมในการพัฒนา โดยไม่แบ่งเชื้อชาติ
4.ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ “ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” โดยมีคนเป็นศูนย์กลาง
5. ให้ความสำคัญกับการส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ และโครงการของรัฐบาล ซึ่งยังประโยชน์สุขแก่ราษฎร
พระราชกรณียกิจที่สำคัญในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ครอบคลุมในทุกด้านเพื่อช่วยปวงราษฎร์ให้อยู่ดีกินดี อาทิ การส่งเสริมคุณภาพชีวิต การฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เกื้อกูลกันอย่างมั่นคงและยั่งยืน ที่สำคัญทรงนำภูมิปัญญาไทยสมบัติศิลป์ของแผ่นดินอันเกิดจากศรัทธาแรงกล้าของพสกนิกรถ่ายทอดสู่สายตา อารยประเทศให้เป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น
สร้างโรงเรียนเจ้าแม่หลวงอุปถัมภ์ 1 เพื่อให้ชาวไทยภูเขาใน ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีโอกาสทางการศึกษา จัดตั้งโครงการ “หมู่บ้านรวมไทย” ขึ้นในพื้นที่บริเวณปางอุ๋ง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อเปลี่ยนพื้นที่ป่าฝิ่นให้กลายเป็น พื้นที่ปลอดภัยและฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จัดตั้งโครงการ “ป่ารักน้ำ” แห่งแรก ณ บ้านถ้ำติ้ว อำเภอสอยดาว จังหวัดสกลนคร เพื่อให้ราษฎรในท้องถิ่นเห็นความสำคัญของการปลูกต้นไม้ ที่สำคัญทรงกำเนิดโครงการศิลปาชีพสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถฯ ทรงริเริ่มโครงการหัตถกรรมเพื่อช่วยเหลือราษฎรเป็นครั้งแรกที่หมู่บ้านเขาเต่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และทรงจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (SACICT) เพื่อส่งเสริมและขยายผลงานศิลปาชีพในระยะยาวให้กว้างขวางและเพิ่มพูนประโยชน์มากยิ่งขึ้น เป็นต้น
ซึ่งนี่เป็นส่วนน้อยจากหลากหลายโครงการของพระองค์ท่านที่ทรงพระราชดำริขึ้น เพื่อประชาชนชาวไทยทุกคน จนพระองค์ได้รับการถวายพระราชสมัญญา “อัคราภิรักษศิลปิน” ที่หมายความได้ว่า “ศิลปินที่ยิ่งใหญ่ ผู้ปกปักรักษางานศิลปะ” ทรงพระปรีชาสามารถรอบรู้เป็นเลิศในศาสตร์และศิลป์ของงานศิลปะโบราณทุกสาขาอย่างลึกซึ้ง ทรงใส่พระราชหฤทัยและทรงเห็นถึงคุณค่า รวมถึงความสำคัญในมรดกภูมิปัญญาของช่างโบราณไทย ทรงทุ่มเทประกอบพระราชกรณียกิจ เพื่อฟื้นฟู ทำนุบำรุง อนุรักษ์สืบสานงานศิลปะทุกสาขาที่สืบทอดมาจากบรรพชน สร้างคุณค่าและความภาคภูมิใจแก่ชาวไทย
“แม่ของแผ่นดิน” สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเป็นต้นแบบที่ดี ทรงมานะอดทนอย่างไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยพระวรกาย ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของพสกนิกร ก่อเกิดโครงการในพระราชดำริมากมายกลายเป็นแม่ของแผ่นดินของปวงชนชาวไทยทุกคน
ข้อมูล : หนังสือเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา ราชินีศรีแผ่นดิน โดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ สำนักงาน กปร.
หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,495 วันที่ 11 - 14 สิงหาคม พ.ศ. 2562