ปัญหาเรื่องของการมีบุตรนั้น บางครอบครัวโชคดีที่มีบุตรได้โดยไม่มีปัญหาอะไร มาเองโดยธรรมชาติ แต่บางครอบครัวอยากมีบุตรมาก พยายามครั้งแล้วครั้งเล่าก็ไม่สามารถมีได้บางครั้งถึงกับมีอาการท้อแท้แล้วตามมาด้วยทำใจ...
ลองมาฟัง “นพ.ม.ร.ว. ทองทิศ ทองใหญ่” แพทย์ผู้ชำนาญการสูตินรีแพทย์และรักษาภาวะผู้มีบุตรยาก โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล ที่อธิบายว่าการรักษาภาวะมีบุตรยาก ด้วยเทคโนโลยีบลาสโตซิสต์ คัลเจอร์ (Blastocyst Culture) นี้ก็คือการทำการปฏิสนธิของไข่และอสุจิภายนอกร่างกาย แล้วเลี้ยงตัวอ่อนต่อไปจนถึงระยะ Blastocyst แล้วจึงใส่กลับคืนสู่โพรงมดลูก เพื่อให้ไปฝังตัวและเกิดเป็นทารกต่อไป การเลี้ยงตัวอ่อนภายนอกร่างกายจนถึงระยะ Blastocyst นั้นต้องใช้ระยะเวลา 5 วัน และจะต้องใช้นํ้ายาเลี้ยงตัวอ่อนตามความต้องการสารอาหารของตัวอ่อนแต่ละระยะ
ปัจจุบันได้มีการพัฒนาสภาวะแวดล้อม ในการเลี้ยงตัวอ่อนไว้ภายนอกร่างกายได้นานขึ้น (5-6 วัน) จนกระทั่งตัวอ่อนเจริญเติบโตไปถึงระยะ Blastocyst ซึ่งเป็นตัวอ่อนที่มีการพัฒนาไปถึงขั้นสูงที่สุดก่อนที่จะฝังตัวเกิดเป็นเด็ก และเป็นระยะที่อยู่ในโพรงมดลูกตามธรรมชาติ เมื่อใส่ตัวอ่อนกลับคืนสู่โพรงมดลูกตัวอ่อนจึงสามารถฝังตัวได้ทันที จึงทำให้อัตราการตั้งครรภ์ของวิธีการนี้สูงกว่าการใส่ตัวอ่อนในระยะอื่นๆทั้งหมด
การทำเทคโนโลยีบลาสโตซิสต์คัลเจอร์ เหมาะกับใครบ้างนั้น ซึ่งก็คือคู่สมรสที่ฝ่ายหญิงมีปัญหาเรื่องท่อนำไข่ เช่น ท่อนำไข่ตีบ/ตัน ใช้การไม่ได้ หรือกรณีคนที่ทำหมันมาแล้วต้องการมีบุตร คู่สมรสที่ฝ่ายชายมีปัญหาเรื่องเชื้ออสุจิ คู่สมรสที่พยายามมีบุตรด้วยวิธีธรรมชาติเกิน 1 ปี แต่ยังคงไม่สามารถมีบุตรได้ โดยไม่ทราบสาเหตุ
ทั้งนี้คู่สมรสควรได้รับการปรึกษาจากแพทย์เบื้องต้น เพื่อรับทราบถึงข้อจำกัด รวมถึงการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ก่อนเริ่มกระบวนการรักษา โดยฝ่ายหญิงจะต้องมีการตรวจประเมินร่างกายเบื้องต้น เพื่อเช็กการทำงานของรังไข่ ท่อนำไข่ และตรวจเช็กสภาพของมดลูกและโพรงมดลูก ส่วนฝ่ายชายจะต้องมีการตรวจเช็กคุณภาพและการทำงานของอสุจิ ก่อนเริ่มกระบวนการการรักษาต่อไป
หน้า 24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,527 วันที่ 1 - 4 ธันวาคม พ.ศ. 2562