KEY
POINTS
เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญจากสมาคมการแพทย์แม่นยำของไต้หวัน (Taiwan Precision Medicine Associations) ให้ไปพูดเรื่อง “การรุกตลาดอาเซียนของการแพทย์แม่นยำ:กรณีศึกษาความร่วมมือของไทย-ไต้หวัน” ซึ่งสมาคมดังกล่าว เป็นการรวมตัวของกลุ่มแพทย์ของ 6 โรงพยาบาลเอกชนในไต้หวัน เพื่อเป็นการยกระดับการแพทย์ให้เข้าสู่การแพทย์ยุคใหม่
ผมโชคดีมากที่ได้รับเกียรติ ที่เขาส่งคำเชิญให้มาร่วมสัมมนาในครั้งนี้ เหตุผลที่เขาเชิญผม เป็นเพราะผมได้ร่วมลงทุนในการสร้างห้องแล็บฯ ในการตรวจหาเซลส์มะเร็งในเม็ดเลือดด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งคิดค้นโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวไต้หวันและญี่ปุ่น ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ทั้งสองท่านในช่วงสี่-ห้าปีที่ผ่านมา ได้รับรางวัลระดับนานาชาติมาอย่างมากมาย อีกทั้งท่านศาสตราจารย์ Dr. Shinya Yamanaga จากประเทศญี่ปุ่น ท่านได้รับรางวัลโนเบลสาขาด้านการแพทย์ ในปี 2012 ซึ่งเผอิญเพื่อนสนิทสมัยเรียนที่ไต้หวันของผม ได้เป็นผู้สนับสนุนด้านเงินทุนให้แก่นักวิจัยกลุ่มนี้อยู่ ผมจึงได้มีโอกาสในการชักนำให้เขามาลงทุนในประเทศไทยเรา อีกทั้งเขาคงเห็นว่าผมเป็นประธานคณะกรรมการการส่งเสริมการค้าและการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เขาจึงเชิญให้ไปบรรยายดังกล่าวครับ
ในอดีตที่ผ่านมาการรักษาของการแพทย์ทั่วไป จะเป็นการใช้ค่าเฉลี่ยกลางของกลุ่มตัวอย่างที่พบเจอโรคภัยต่างๆ แล้วหาทางรักษาจากผลที่ได้รับมาจากการวิจัย ที่ค้นพบในอดีต แต่ปัจจุบันนี้เนื่องจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ ได้ล้ำสมัยตามเทคโนโลยีทั่วไปแล้ว การค้นพบโรคต่างๆ ด้วยการใช้เทคโนโลยีมาช่วย ทำให้การดูแลรักษาโรค สามารถทำได้ด้วยความแม่นยำมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีทางด้านพันธุกรรม(Genetic) ด้านนาโนเทคโนโลยี ด้านเซมิคอนดักเตอร์(Semiconductor) หรือแม้กระทั่ง 3 D-Printing ที่ทำให้มนุษย์เรา มองเห็นสิ่งที่เราคาดไม่ถึงได้ลึกล้ำกว่าในอดีตมาก เราสามารถเห็นโครโมโซม(Chromosome)ของมนุษย์ ในระดับเล็กมาก เราสามารถเห็นเซลล์มะเร็งของมนุษย์ในระดับนาโนไมโครกรัม(Nano Microgram) หรือแม้กระทั่งเห็นเชื้อโรคต่างๆ ที่เป็นแหล่งที่มาจากพันธุกรรมของมนุษย์ได้ในระดับ RNA ซึ่งแตกต่างจากในอดีตมาก ทำให้การแพทย์ของเราสามารถรักษาโรคต่างๆได้อย่างแม่นยำ จนทำให้เชื่อว่า มนุษย์เราในอนาคตข้างหน้า อาจจะสามารถอยู่ได้ถึง 120ปีเป็นอย่างน้อยก็เป็นไปได้เลยครับ
เราต้องยอมรับว่าการแพทย์ของไต้หวันในปัจจุบันนี้ ได้ก้าวหน้าไปมาก ซึ่งเขาอยู่ในอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา ดังนั้นการไปร่วมสัมมนาครั้งนี้ ผมจึงขอกับฝ่ายจัดงานว่า ให้จัดผมอยู่ในช่วงของวันที่ 2 น่าจะเหมาะสมกว่า เพราะผมเกรงว่าจะเป็นการเอามะพร้าวห้าวไปขายสวน ก่อนที่จะไปในครั้งนี้ ผมได้ให้น้องเจนเตรียมสไลด์Presentationไปอย่างดี และในวันแรกของงานผมก็เข้าไปนั่งฟังผู้บรรยายท่านอื่นๆ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์แม่นยำ (Precision medicine) อีกทั้งผู้เข้ามาร่วมสัมมนา ล้วนแล้วแต่เป็นแพทย์เกือบทั้งสิ้น ซึ่งผมเชื่อว่า น่าจะมีไม่กี่ท่านที่ไม่ใช่แพทย์ (หนึ่งในนั้นก็ผมนี่แหละครับ) ทำให้ผมได้ความรู้ใหม่ๆของทางด้านการแพทย์มากมายเลยครับ
นอกจากนี้ในวันที่ 2 ก็มีผู้บรรยายที่เป็นหน่วยงานจากภาครัฐที่มาจากกระทรวงสาธารณสุขของไต้หวัน เข้ามาร่วมบรรยายด้วย ทำให้ทราบว่า เขาได้เตรียมการที่จะรุกตลาดทางด้านการแพทย์ เข้าสู่ตลาดโลกอย่างจริงจังมาก จากเดิมที่เราทราบๆกันว่า ในอดีตที่ผ่านมา ไต้หวันได้เป็นผู้นำในเทคโนโลยีการเกษตร ต่อมาก็ปรับเปลี่ยนมาเป็นด้านอาหาร และการทอผ้า แต่ในปัจจุบันนี้ เขาได้นำเอาเทคโนโลยีด้านเซมิคอนดักเตอร์ และในอนาคตข้างหน้านี้ เขาได้พัฒนาเรื่องเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์ โดยอาศัยการต่อยอดจากเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ ที่ล้ำยุคมากๆอยู่ในขณะนี้นั่นเองครับ
ส่วนตัวผมเมื่อได้มาร่วมงานสัมมนาแล้ว ผมมีความเชื่อว่าไทยเรา หากเราอาศัยภูมิ-รัฐศาสตร์ของเรา ที่ประเทศเพื่อนบ้านยังไม่ได้ขยับตัวหนีเราไปก่อน ซึ่งจะมีเพียงประเทศเดียวที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกันกับเราเท่านั้น นั่นคือประเทศสิงคโปร์ ที่พอจะมีความพร้อมพอฟัดพอเหวี่ยงกับเราได้ ดังนั้นหากเราสามารถจับมือกับไต้หวันได้ ผมมีความเชื่อว่า ไทยเราจะเป็นผู้นำทางด้านการแพทย์ ในแถบประเทศอาเซียนได้อย่างแน่นอนเลยครับ
อาทิตย์หน้าผมจะเอาเรื่องที่ได้ยินได้ฟังมาจากงานสัมมนา มาเล่าให้พวกเราฟังครับ โดยส่วนตัวผม หวังว่าผมคงยังทันยุคของการแพทย์สมัยใหม่ เพราะผมยังไม่ด่วนเป็นอะไรจากไปก่อนแน่นอนครับ เพื่อขอให้เราทุกคนอยู่รอร่วมกับผม เพื่อรอวิวัฒนาการการแพทย์แม่นยำ เข้ามาช่วยดึงเวลาของพวกเรา ไปสู่วัยที่สามารถรอคอยต่อไปให้ถึงอายุ 120 ปีนะครับ