แนวทางการร่วมเป็นส่วนหนึ่ง กับการจัดการปัญหาขยะในประเทศไทย ตามวิสัยทัศน์ World Without Waste ของกลุ่มโคคา-โคลา ที่เริ่มตั้งแต่ระดับการผลิต พัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้ 100% และการตามเก็บบรรจุภัณฑ์ที่เป็นผลิตภัณฑ์ของโคคา-โคลาทั้งหมดภายในปี 2030 เพื่อให้บรรจุภัณฑ์สามารถนำกลับมาใช้ได้เกินกว่า 1 ครั้ง ซึ่งสำหรับเมืองไทย อาจจะติดขัดอยู่บ้าง ด้วยกระบวนการแยกขยะที่ยังไม่ดีพอ และกฎหมายไทย ที่ยังไม่เอื้อ โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์พลาสติก ที่ยังไม่สามารถนำกลับมารีไซเคิลแล้วใช้บรรจุอาหารได้
“นันทิวัต ธรรมหทัย” ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์ การสื่อสาร และความยั่งยืน บริษัท โคคา-โคลา(ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า ในฐานะที่โคคา-โคลา ได้พยายามเดินหน้าโครงการเกี่ยวกับขยะมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งมีการเรียนรู้จากโครงการต่างๆ ที่จัดทำขึ้น เช่น โครงการรักษ์น้ำ สิ่งที่ได้เรียนรู้กลับมาชัดเจน คือ ถ้าโครงการจะยั่งยืนได้ โครงการนั้นต้องตอบโจทย์ และถูกขับเคลื่อนโดยชุมชน
ล่าสุด กับกิจกรรม “มาหาเสม็ด” ก็เช่นกัน โคคา-โคลา ได้ทำงานร่วมกับ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และเดอะ คลาวด์ ชวนผู้บริโภคร่วมเดินทางไปเกาะเสม็ด พร้อมทั้งเปิดตัวโครงการ “เก็บ” ไทยให้สวยงาม (Keep Thailand Beautiful) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือที่มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอุทยานแห่งชาติให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบที่ดี ในการจัดการขยะมูลฝอย ผ่านการทำงานร่วมกันเพื่อศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำโครงการ “การจัดการขยะมูลฝอยอย่างยั่งยืนในเขตอุทยานแห่งชาติ” ในพื้นที่นำร่อง 10 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อุทยานแห่งชาติตะรุเตา (เกาะหลีเป๊ะ) อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติเอราวัณ และอุทยานแห่งชาติภูกระดึง
จุดแรกที่เริ่มต้น คือ เกาะเสม็ด มีการพูดคุยกับผู้นำชุมชน และคนในชุมชน พร้อมนำสิ่งที่ทีมทำงานไปศึกษามา นำเสนอกับกรมอุทยานฯ พูดถึงปัญหาในพื้นที่ว่ามีอะไรบ้าง การแก้ปัญหาต้องทำแบบนี้ และจะมีกระบวนการตัดสินใจร่วมกัน ว่าเราจะทำอะไรบ้าง ทำอะไรก่อนหลัง
“เสม็ด ปัญหาหลัก คือ เรื่องของการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมาโดยไม่คำนึงถึงระบบการจัดการขยะที่ยั่งยืน ด้วยความที่เป็นอุทยานเปิด มีคนเข้ามาทุกวัน ทำให้เกิดขยะตกค้าง และขยะที่เกิดขึ้นทุกวัน รวมไปถึงขยะจากทะเล ซึ่งยังไม่มีระบบบริหารจัดการ และส่งเสริมการแยกขยะในวงกว้าง”
สำหรับขยะตกค้าง จะมีบริษัท ไทยไพบูลย์ฯ ซึ่งเป็นบริษัทในพื้นที่เข้ามาจัดการ ส่วนขยะเกิดใหม่ ก็ต้องมีการวางระบบจัดการขยะที่ยั่งยืน ซึ่งอาจขยายไปถึงการปรับภูมิทัศน์ให้สวยงาม เหมาะกับเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเป็นอุทยาทแห่งชาติ ส่วนอุทยานแห่งชาติอื่นๆ ก็จะค่อยๆ ดำเนินการ และเข้าไปศึกษาต่อไป โดยทางโคคา-โคลา จะเซตงบประมาณจำนวนหนึ่งทีไ่ด้รับจากมูลนิธิ โคคา โคลา ประเทศไทย เข้ามาช่วยเรื่องบริหารจัดการ
หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,530 วันที่ 12 - 14 ธันวาคม พ.ศ. 2562