โคเวสโตร จับมือกับ EDUCA ส่งต่อแนวคิด จัดกระบวนการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมศึกษา สานต่อแนวทางสร้าง “ครูต้นแบบ” ในงาน EDUCA 2019 ของ ปิโก ไทยแลนด์ ภายใต้แนวคิด พลังของชุมชนแห่งการเรียนรู้
นายสุริยา สัมฤทธิ์จินดากุล ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กรประจำภูมิภาคอาเซียน บริษัท โคเวสโตร (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตวัสดุโพลิเมอร์ระดับโลก เปิดเผยว่า โคเวสโตร มีแนวทางการดำเนินธุรกิจซึ่งให้ความสำคัญด้านความยั่งยืน และนำความยั่งยืนมาเป็นส่วนสำคัญ ในกระบวนการวิจัยและพัฒนาเพื่อคิดค้น ผลิตและส่งต่อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อทั้งชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงเน้นสร้างประโยชน์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ โดย โคเวสโตร สามารถคิดค้นและพัฒนาวัสดุ ให้สอดคล้องกับความเป็นอยู่ผ่านนวัตกรรมต่างๆ ที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อให้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
เพื่อดำเนินตามแนวทางของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาด้านความอดอยาก, การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม, การสร้างการศึกษาที่เท่าเทียม, การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากร ทางทะเล ถ้าสามารถส่งเสริมประเด็นดังกล่าว ให้ทุกคนดำเนินตามแนวคิดนี้ได้ เชื่อว่าจะช่วยทำให้โลกสดใสขึ้น โดย โคเวสโตร มีกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมด้านชุมชน การศึกษา และสิ่งแวดล้อม ด้วยการจัดทำสื่อการเรียนการสอน โดยเปิดตัวหนังสือชุดสำหรับเด็ก “จุดประกายความคิดเพื่อชีวิตที่สดใส” หรือ “Bright Minds for a Brighter World” เพื่อเป็นสื่อการเรียนการสอนสำหรับโรงเรียนประถมศึกษาในประเทศไทย มีเนื้อหาเกี่ยวกับการให้ความรู้และปลูกจิตสำนึกแก่เยาวชนเรื่อง 3R ได้แก่ การลดปริมาณการใช้ (Reduce) การนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำมาเข้ากระบวนการแปรสภาพ (Recycle) ผ่านกิจกรรมรูปแบบต่างๆ ที่เยาวชนสามารถทำความเข้าใจได้ง่ายและเกิดความสนุกสนานไปพร้อมกัน”
ในส่วนของการสร้าง “ครูต้นแบบ” บริษัทฯ ทำต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 โดยร่วมมือกับ EDUCA ซึ่งเราเชื่อว่าการส่งผ่านเรื่องความยั่งยืนไปสู่เยาวชนต้องอาศัยความร่วมมือและศักยภาพของครู อาจารย์ ในการจัดการเรียนการสอน อันช่วยให้การศึกษาเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เรื่องการพัฒนาด้านความยั่งยืนถือเป็นหัวใจหลักของ โคเวสโตร และเป็นสิ่งที่เรายึดมั่น เป็นเป้าหมายในการคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ รวมถึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในหลายๆ กิจกรรมที่เราทำ
นายปราศรัย เจตสันติ์ คุณครูจากโรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม กล่าวว่า หัวข้อ การจัดกระบวนการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมศึกษา ในบริบทของหน้าที่พลเมืองโลก เป็นกิจกรรมที่ผู้สอนสามารถเชื่อมโยงได้หลายวิชา โดยมี 2 คำสำคัญที่น่าสนใจ คือ “สิ่งแวดล้อมศึกษา” เกี่ยวกับความสามารถทางภูมิศาสตร์ (Geo-Literacy), การเข้าใจปฏิสัมพันธ์ธรรมชาติและมนุษย์ (Interaction), การให้เหตุผลทางภูมิศาสตร์ผ่านการเชื่อมโยง (Interconnection) และการตัดสินใจอย่างเป็นระบบ (Implication) และอีกคำเป็น “พลเมืองโลก” (Global Citizen) ซึ่งบอกเล่าถึงคุณสมบัติของพลเมืองที่มีความสำคัญต่อการจัดการเมืองและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การเห็นอกเห็นใจกัน (Empathy), การเป็นนำหนึ่งใจเดียวกัน (Solidarity), การยอมรับความหลากหลาย (Diversity), การเคารพสิทธิผู้อื่น (Respect), การพึ่งพาอาศัยกัน (Interdependency), การเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน (Interconnect)
รูปแบบของกิจกรรมเวิร์คชอปในงาน EDUCA 2019 เป็นการเล่นสร้างเมืองสมมติ ผู้สอนจะต้องทำให้ผู้เรียนเกิด 3 สิ่งด้วยกัน คือ 1.การเข้าใจปฏิสัมพันธ์มนุษย์กับธรรมชาติ 2.การเชื่อมโยงสัมพันธ์กันของผลกระทบที่ส่งผลกัน และ 3.การนำไปสู่การตัดสินใจบางอย่าง เริ่มจาก 1.เขียนชื่อตัวเองลงในกระดาษโพสต์อิท 2.ให้เขียนหนึ่งคำ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม แล้วแนะนำกับเพื่อนในกลุ่ม พร้อมบอกเหตุผลที่ตัวเองเขียนขึ้นมา 3.บนโต๊ะมีกระดาษ 1 แผ่น โดยให้สมมติเป็นเมืองแล้วเขียนทิศเหนือลงไปตามที่ต้องการ 4.จับฉลาก เพื่อกำหนดว่าเมืองของกลุ่มเป็นแบบใด จากนั้นใช้ปากกาสีน้ำเงินวาดภาพทางภูมิศาสตร์จากฉลากที่จับได้ เช่น แม่น้ำ ภูเขา รอยเลื่อน ฯลฯ
5.นำโพสต์อิทที่เขียนชื่อตัวเองแปะลงไปเพื่อสมมติเป็นที่ตั้งบ้านของตัวเอง 6.ในซองน้ำตาลจะมีการ์ดสำหรับการสร้างเมืองทั้งหมด 40 ใบ สามารถเลือกได้เพียง 25 ใบ อาทิ การ์ดโรงงานอุตสาหกรรม การ์ดชนกลุ่มน้อย ฯลฯ จากนั้นวางการ์ดที่ได้ตรงไหนก็ได้ แต่จะต้องมีเหตุผลบอกว่าวางตรงนี้ทำไม มันมีผลอะไร มันส่งผลอะไร เหมาะสมอย่างไร 7.ใช้ปากกาสีน้ำเงินวาดถนนเพื่อเชื่อมต่อในแต่ละจุดได้ 8.ใช้ปากกาสีแดงวาดเป็นวงกลมจากสถานที่กลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โรงงานถ่านหิน, สถานที่ท่องเที่ยว ฯลฯ เพื่อให้เห็นว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลต่อบุคคลหรือเมืองนั้นอย่างไร, อะไรคือสิ่งที่ควรคำนึงในการตัดสินใจด้านสิ่งแวดล้อม
สิ่งแวดล้อมศึกษากับพลเมืองโลกมีความเชื่อมโยงกัน สิ่งแวดล้อมเป็นผลกระทบจากพลเมืองโลก ซึ่งการทำให้สิ่งแวดล้อมกับพลเมืองโลกไปด้วยกันได้ต้องมองถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน เราจึงต้องปลูกฝังให้เด็กนักเรียนมีความเข้าใจธรรมชาติ ขณะที่ “ครู” ไม่ว่าจะเป็นครูที่สอนวิชาใดก็ตามสามารถสอดแทรกความสำคัญเกี่ยวกับพลเมืองโลกให้นักเรียนเข้าใจถึงสิทธิ์ของผู้อื่น รู้จักการใส่ใจ รู้จักการเข้าอกเข้าใจผู้อื่น ให้รู้ตัวเองว่าทำอะไรและส่งผลกระทบต่อผู้อื่นและสิ่งแวดล้อมหรือไม่ เพราะคำว่านวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน บางครั้งไม่ต้องคิดสิ่งใหม่ก็ได้ เห็นได้จากบางบริษัทใช้กระบวนการที่ทำให้ผลิตภัณฑ์มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในส่วนของคุณครูก็อาจสร้างกระบวนการที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เด็กได้เรียนรู้ถึงการแนวทางที่ช่วยสร้างโลกใบนี้ให้เกิดความยั่งยืน