ใกล้สิ้นปีเข้ามาทุกที หลายๆ คนคงเริ่มทบทวนว่าสิ่งที่ตั้งใจและวางแผนไว้ตั้งแต่ต้นปี มาถึงตรงนี้มีอะไรคืบหน้า สำเร็จไปตามแผนมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะการวางแผนทางการเงิน เพราะล่าสุดจากผลสำรวจการเก็บออมเงินเพื่อการเกษียณอายุของคนไทย พบว่ามีเงินเก็บเพียง 2 ล้านบาทเท่านั้น
การวางแผนเกษียณอายุ หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องของคนใกล้เกษียณอายุแล้วเท่านั้น ทำให้ถูกละเลยและคิดว่ายังไม่จำเป็น แต่ที่จริงยิ่งเริ่มได้เร็วเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะถ้าเรามีการออมหรือลงทุนอย่างเหมาะสม สมํ่าเสมอ และมีระยะลงทุนที่ยาวนานพอ ดอกเบี้ยที่ทบต้นทบดอก และผลตอบแทนจากการลงทุนจะช่วยให้เงินออมเพื่อวัยเกษียณงอกเงยต่อเนื่อง
ดังนั้น การวางแผนการเงินจึงเป็นเรื่องจำเป็น และเกี่ยวข้องโดยตรงกับคนทุกระดับฐานะการเงิน ไม่ว่าจะมีหรือไม่มี ยิ่งมีหนี้ยิ่งมีเงินน้อย หรือยิ่งไม่มีเงินเก็บเลยยิ่งต้องรีบวางแผนทางการเงิน เพราะถ้าไม่รีบวางแผนการเงินตั้งแต่เดี๋ยวนี้ เราจะหลุดพ้นจากวงจรความจนไปได้อย่างไร อย่างคนที่มีปัญหาการเงินชักหน้าไม่ถึงหลัง ถ้ามีการวางแผนการเงินที่ดี ทำบัญชีรายรับ รายจ่าย รู้ที่มาที่ไปของเงิน ลดหรือตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป จะทำให้มีเงินออมมากขึ้น สามารถนำไปลดภาระหนี้สินที่มีอยู่ และมีวินัยทำต่อเนื่องอย่างเคร่งครัด ก็จะช่วยให้ฐานะการเงินดีขึ้นได้
ปัจจุบันความหมายของการวางแผนการเงิน มักถูกนำไปตีความในวงแคบๆ คือ การวางแผนการลงทุน ซึ่งถูกต้องเพียงแค่บางส่วน แต่จริงๆ แล้วขอบเขตของการวางแผนการเงินส่วนบุคคลครอบคลุมกว้างกว่าการวางแผนการลงทุน การวางแผนการลงทุนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการวางแผนการเงินส่วนบุคคลเท่านั้น เริ่มต้นจากการวางแผนสภาพคล่อง เพื่อให้มั่นใจว่า เราจะมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินที่มากเพียงพอ คืออย่างน้อย 3 - 6 เท่าของค่าใช้จ่ายทั้งเดือน
เมื่อเรามั่นใจกับสภาพคล่องพอแล้ว ถัดมาจะเป็นเรื่องของการวางแผนบริหารความเสี่ยง เพื่อปกป้องความมั่งคั่งผ่านการวางแผนภาษี การวางแผนการเกษียณอายุและการวางแผนการลงทุน และสุดท้ายก็จะเป็นการกระจายความมั่งคั่ง เพื่อส่งต่อทรัพย์สินที่ได้สั่งสมมาต่อไปให้แก่ลูกหลานหรือทายาทผ่านการวางแผนมรดก ซึ่งการวางแผนการเงินที่ถูกต้องครบถ้วน จะต้องมีการวางแผนที่ครอบคลุมทุกด้าน
หน้า 23 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,531 วันที่ 15 - 18 ธันวาคม พ.ศ. 2562