วันที่ 9 พฤษภาคม 63 นางรักขณา ตัณฑวุฑโฒ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) แถลงที่ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ทำเนียบรัฐบาล ชี้แจงความพร้อมเตรียมการ "เปิดเทอม" ภาคเรียนที่ 1/2563 ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 โดยอ้างถึงมติครม.เมื่อ 7 เมษายน 2563 ให้เลื่อนเปิดเทอม จากวันที่ 16 พฤษภาคม เป็นวันที่ 1 กรกฎาคม
รองปลัดฯ ระบุว่า กระทรวงศึกษาธิการคิดแนวทางจัดการเรียนการสอนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับทุกระดับชั้น ทุกประเภทการศึกษา รวมทั้งเตรียมความพร้อมทักษะที่สำคัญในช่วงปิดเทอมให้กับผู้เรียนที่จำเป็นสำหรับนักเรียนยุคใหม่ ซึ่งรมว.ศึกษาธิการยืนยันเป้าหมายสูงสุดของ คือ "การเรียนรู้นำการศึกษา" จึงจัดการเรียนการสอนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เท่าที่สภาพแวดล้อมจะอำนวย บนพื้นฐาน 6 ประการ
ได้แก่ 1. การจัดการเรียนการสอนต้องคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดของทุกคนที่เกี่ยวข้อง 2. นักเรียนทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนการสอนได้ แม้จะไม่ไปโรงเรียน 3. ใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดย ศธ.และ กสทช. จัดสรรช่องดิจิตอลทีวี 17 ช่อง เป็นการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ประกอบด้วย สพฐ. 15 ช่อง คือการศึกษาขั้นพื้นฐานตั้งแต่อนุบาล 1 จนถึงมัธยม 6 อาชีวะ 1 ช่อง และกศน. 1 ช่อง 4. การตัดสินใจนโยบายอยู่บนพื้นฐานผลสำรวจความต้องการจากนักเรียน ผู้ปกครอง ครู และโรงเรียน โดยยึดหลักการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพสูงสุดเป็นที่ตั้ง ศธ.จะสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ 5. ปรับปฏิทินการศึกษาที่เอื้อต่อการเรียนของเด็ก มีเวลาที่ชดเชยก็จะคำนึงถึงภาระของทุกคน การได้รับความรู้ครบตามช่วงวัยของเด็ก และ 6. บุคลากรทางการศึกษาจะได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง
รองปลัดศธ. กล่าวอีกว่า ต้องปรับวิกฤตนี้เป็นโอกาส เพื่อปรับปรุงระบบการศึกษาของประเทศให้มีความเข้มแข็ง ยกระดับการศึกษาของไทย การออกแบบการเรียนการสอนในช่วงของโควิด - 19 นี้ โดยประการแรกคือ รูปแบบของการเรียนการสอน ออกแบบให้สอดคล้องกับความปลอดภัยของพื้นที่ หากสถานการณ์ทุกอย่างคลี่คลายก็เข้าสู่สภาพปกติ ไปเรียนตามปกติ สำหรับพื้นที่ที่ยังไม่ปลอดภัยก็จัดการเรียนการสอนทางไกล ซึ่งนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา 4-6 สามารถเรียนออนไลน์ควบคู่กับการเรียนทางไกล โดย ศธ.กระจายอำนาจการจัดการศึกษาให้ทางเขตพื้นที่ โรงเรียน กรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง จัดการเรียนการสอนที่จะแตกต่างกัน โดยยึดนโยบายหลักคือ เพิ่มเวลาพัก ลดการประเมิน งดกิจกรรมที่ไม่จำเป็น
นักเรียนจะได้มีเวลาพัก ในช่วงเปิดภาคเรียนที่ 1 เปิดภาคเรียนแรก 1 กรกฎาคม ถึง 13 พฤศจิกายน นักเรียนจะมีเวลาพัก 17 วัน ก่อนที่จะเปิดภาคเรียนที่ 2 1 ธันวาคม ถึง 9 เมษายน 64 มีเวลาพักอีก 37 วัน รวมทั้ง 2 เทอม มีเวลาพัก 54 วัน แล้วกลับเข้าสู่สภาพปกติของปีการศึกษาใหม่ โดยจะมีการทดสอบระบบการเรียนรู้ทางไกล ระบบออนไลน์ ต่าง ๆ ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคมเป็นต้นไป เพื่อให้พร้อมมากที่สุดก่อนที่จะเปิดภาคเรียน
ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ มี 4 หน่วยงานทั่วประเทศทั้ง สพฐ. อาชีวะ กศน. และ สช. ซึ่งจะมีการรูปแบบของแนวทางในการจัดการเรียนการสอนที่แตกต่างกันไป ตามบริบท กลุ่มเป้าหมาย สภาพของพื้นที่ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้กำหนดแนวทางในการจัดการเรียนการสอนไว้เป็น 4 ระยะ ระยะที่ 1 คือ เตรียมความพร้อมระหว่าง 7 เมษายน - 17 พฤษภาคม นี้ เตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบเครือข่าย เพื่อรองรับการให้บริการการเรียนรู้ e-learning ของศธ.
ระยะที่ 2 ทดลองจัดการเรียนทางไกล ตั้งแต่ 18 พฤษภาคม - 30 มิถุนายน ระดับปฐมวัยถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ผ่านช่องรายการโทรทัศน์ เผยแพร่สัญญาณมาจากพื้นที่การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์ ในช่วงเวลานี้จะเปิดศูนย์รับฟังความคิดเห็นในการเรียนการสอนทางไกลนี้ จากผู้เกี่ยวข้อง
ระยะที่ 3 การจัดการเรียนการสอน 1 กรกฎาคม 2563 - 30 เมษายน 2564 ใน 2 สถานการณ์ กรณีการระบาดโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย ต้องจัดการเรียนการสอน ปฐมวัยถึง ม.ต้น ด้วยระบบทางไกลผ่าน DLTV ส่วนของ ม. 4-6 จะมีระบบการเรียนออนไลน์มาเสริมในเรื่องของการเรียนรู้ต่าง ๆ กรณีที่สถานการณ์ คลี่คลายแล้ว ก็กลับมาเรียนตามปกติได้และยึดหลักสาธารณสุข
ระยะที่ 4 การทดสอบและการศึกษาต่อ โดยประสานกับกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ในการสอบเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย ประสานกับสถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติในการสอบ o-net ของนักเรียนชั้น ป.6 ม.3 และ ม.6
รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ยังเน้นการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการและผู้ด้อยโอกาส โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการจัดทำแพลตฟอร์มของ ศธ. เพื่อเป็นเวทีเชื่อม 176 หน่วยงาน เชื่อมโยงคนพิการทั้งประเทศ ให้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาตนเองมากขึ้น ตามแนวทางปรับบ้านเป็นห้องเรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศธ.เคาะแล้ว ตาราง "เปิดเทอม-ปิดเทอม" 2ภาคเรียนปี63
ครม.ไฟเขียวเลื่อนเปิดเทอมจาก 16 พ.ค.เป็น 1 ก.ค.63
ทั้งนี้ ปฏิทินการรับนักเรียนของสพฐ. เริ่มรับนักเรียนชั้น ม. 1 และ ม.4 ทางออนไลน์ ระหว่างวันที่ 3 -12 พฤษภาคม นี้ สอบคัดเลือก ม. 1 วันที่ 6 มิถุนายน ม.4 วันที่ 7 มิถุนายน โรงเรียนจับฉลากวันที่ 12 มิถุนายน การประกาศผลสอบ ม. 1 ประกาศวันที่ 10 มิถุนายน ม.4 ประกาศวันที่ 11 มิถุนายน การรับรายงานตัว มอบตัวของนักเรียน ม.1 ในวันที่ 12 - 13 มิถุนายน ม. 4 วันที่ 14 - 15 มิถุนายน และในวันที่ 16 มิถุนายน นี้ เด็กทุกคนต้องมีที่เรียน 1 กรกฎาคม เข้าสู่สภาพการเรียนตามปกติ
แนวทางการจัดของอาชีวศึกษา ทั้งระดับ ปวช. ปวส. ปริญญาตรี สายเทคโนโลยี หรือสายปฏิบัติการ แบ่งเป็น 4 รูปแบบ รูปแบบที่ 1 จัดผ่านเอกสารตำราเรียน แบ่งกลุ่มย่อย สลับหมุนเวียนกันมาเรียนตามความเหมาะสมแต่ละพื้นที่ รูปแบบที่ 2 จัดการเรียนการสอนด้วยระบบทางไกล DLTV รูปแบบที่ 3 จัดการเรียนการสอนตามแบบออนไลน์ รูปแบบที่ 4 จัดการเรียนผ่านการสอนผ่านไลฟ์สด
แนวทางจัดการเรียนการสอนของ สช. มี 3 รูปแบบ กรณีสถานที่ปลอดภัย เรียนตามปกติได้ ส่วนพื้นที่ที่ยังไม่ปลอดภัยก็ต้องเรียนผ่านระบบทางไกล ระบบออนไลน์ทางอินเทอร์เน็ต ในช่วงปิดเทอม สช.ได้ร่วมกับสถานศึกษาเอกชนแห่ง 5 แห่ง จัดการศึกษาออนไลน์ให้กับนักเรียนทุกคนได้เข้าถึงการศึกษาออนไลน์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ครอบคลุมทุกสาระการเรียนรู้ ตั้งแต่ป. 1 จนถึง ม. 6 เปิดการสอนทั้งไลฟ์สดและเทป โดยติวเตอร์ชื่อดังเข้ามาร่วมในการสอนออนไลน์
แนวทางการจัดการศึกษาของ กศน. มอบให้ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาของ กศน. ผลิตรายการ ทั้งรายการวิทยุ รายการโทรทัศน์ เพื่อจะตอบโจทย์การจัดการศึกษาตลอดชีวิต สำหรับผู้เรียนทุกช่วงวัย แล้วก็มอบให้สถาบันการศึกษาทางไกล มาพัฒนารูปแบบของกระบวนการเรียนรู้ออนไลน์ ผ่านแอพพลิเคชั่นและช่องทางต่าง ๆ
ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการจะติดตาม ควบคุม การรายงานผลมายังกระทรวง สำหรับผู้ปกครองที่ยังไม่มีความพร้อมทางด้านการเรียน ศธ.ยินดีที่จะสนับสนุนอุปกรณ์ในการเรียนการสอนต่าง ๆ ด้วย