นายกวิศพงษ์ สิริธนนนท์สกุล ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 พ.ค.2563 ที่ผ่านมา ในการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชน จังหวัดสงขลา ได้เสนอให้ นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ให้มีมาตรการควบคุมการเข้า-ออกของผู้โดยสารที่เดินทางโดยสายการบินบริเวณสนามบินนานาชาติหาดใหญ่
โดยขอให้มีการกำหนดจุดลงทะเบียนบริเวณสนามบินเพื่อความปลอดภัย และเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่เดินทางเข้า-ออก เนื่องจากพบว่าปัจจุบันมาตรการควบคุมการเข้า-ออกของผู้โดยสารยังไม่เข้มข้นมากพอ
“ต้องไม่ลืมนะครับว่าจังหวัดสงขลาเราไม่พบว่ามีการระบาด หรือผู้ติดเชื้อที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่เอง ผู้ติดเชื้อของจังหวัดสงขลาล้วนมาจากนอกพื้นที่ อาทิ เดินทางมาจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือเจ้าหน้าที่ตรวจตคนเข้าเมือง(ตม.)ที่ติดจากคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่ถูกควบคุมตัว”
ซึ่งหากเราไม่มีมาตรการที่เข้มงวดมากเพียงพอสำหรับผู้ที่เดินทางเข้า-ออก จังหหวัดสงขลาก็เสี่ยงจะมีผลกระทบต่อมาตรการผ่อนคลายที่มีการดำเนินการมาระยะที่ 2 แล้วในปัจจุบัน
ฉะนั้นจึงอยากให้มีการเข้มงวดตามมาตรการที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด รวมถึงพื้นที่รอยต่อกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) ซึ่งก็พบว่ายังหละหลวมเช่นกัน
“เราต้องพึงระลึกเสมอว่า พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่สีแดงที่มีผู้ติดเชื้อภายในพื้นที่ค่อนข้างสูง จึงยังจะต้องมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการคัดกรองบุคคลที่เข้า-ออกพื้นจังหวัดสงขลาต่อไป”
ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา กล่าวว่า เห็นด้วยกับมาตรการคลายล็อค เพื่อให้วิถีชีวิตและธุรกิจได้ฟื้น เพื่อให้เมืองมีชีวิตชีวา แต่ยังไม่เห็นด้วยถ้าจะคลายล็อคเมือง โดยการเปิดการเดินทางระหว่างจังหวัด
ส่วนธุรกิจที่ยังไม่อยากให้มีการผ่อนคลายในขณะนี้คือ สถานบันเทิง และโรงภาพยนต์
ในขณะที่ผลการสำรวจหาดใหญ่โพลล์ ของมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ที่มีการสำรวจ “หาดใหญ่โพล” ในเรื่อง “ความเห็นของประชาชนในจังหวัดสงขลาต่อการเปิดเมือง-เปิดธุรกิจ” โดยการเก็บแบบสำรวจออนไลน์จำนวน 480 คน ระหว่างวันที่ 13-14 พ.ค.63
ผลการสำรวจความเห็นของชาวสงขลา มีข้อเสนอแนะถึงจังหวัดเกี่ยวกับมาตรการจัดการสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ดังนี้ ร้อยละ 90.00 เห็นว่าควรมีระบบการตรวจคัดกรองและกักตัว ผู้เดินทางเข้าประเทศผ่านด่านชายแดนให้รัดกุมมากที่สุด รองลงมาคือ มีแผนฟื้นฟูเมืองและธุรกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงอย่างเป็นรูปธรรม และเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารดูแลมิให้มีคนข้ามแดนผ่านช่องทางธรรมชาติ คิดเป็นร้อยละ 61.46 และ 60.83 ตามลำดับ