รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ เฟซบุ๊ก Thira
Woratanarat ระบุว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 สถานการณ์ทั่วโลกล่าสุด 17 สิงหาคม 2563 ติดเพิ่มอีก 210.167 คน รวมตอนนี้ 21,791,196 คน พรุ่งนี้จะทะลุ 22 ล้านคนอย่างเป็นทางการ
อเมริกา ติดเพิ่ม 36,844 คน...น้อยกว่าวันก่อนๆ เพราะเป็นช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ รวม 5,562,889 คน
บราซิล ติดเพิ่ม 23,101 คน รวม 3,340,196 คน
อินเดีย ติดเพิ่ม 58,108 คน รวม 2,647,316 คน
รัสเซีย ติดเพิ่ม 4,969 คน รวม 922,853 คน
แอฟริกาใต้ เม็กซิโก เปรู ติดเพิ่มหลายพันถึงหมื่นกว่าคน แต่ละประเทศติดไปกันแล้วเกินห้าแสนทั้งสิ้น
สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อิหร่าน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย รวมถึงญี่ปุ่น ติดกันหลักพัน
หลายประเทศในยุโรป รวมถึงแคนาดา ปากีสถาน เกาหลีใต้ และออสเตรเลียติดกันหลักร้อย
จีน สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง เวียดนาม และนิวซีแลนด์ ติดกันหลักสิบ
ล่าสุดกลุ่มประเทศยุโรปกำลังสู้กับการระบาดระลอกใหม่อย่างยากลำบาก เพราะมีการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศ ทั้งเยอรมัน อิตาลี ฝรั่งเศส ทั้งนี้ระบบการตรวจคัดกรองโรคก็รับภาระไม่ไหว หลายประเทศเริ่มรายงานถึงเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ ไม่สามารถติดต่อกลับไปยังนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่เดินทางเข้ามาในประเทศได้หลังจากทราบผลว่าติดเชื้อ เช่น The Bavarian state government ทางตอนใต้ของเยอรมัน แจ้งว่าไม่สามารถติดต่อคนที่ติดเชื้อได้ 49 คนจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบทั้งหมด 900 คน
อิตาลีก็ปวดหัวกับการระบาดซ้ำในกลุ่มคนที่อายุน้อยลงกว่าเดิม และเริ่มมาตรการปิดไนท์คลับตั้งแต่วันจันทร์นี้
ของไทยเรา...ย้ำแล้วว่า ที่น่าเป็นห่วงมากมีทั้งศึกนอกและศึกใน
ศึกนอก...อย่าริเล่นกับไฟฟองสบู่ท่องเที่ยว (Travel Bubble)เพราะหายนะจะมาเยือน
ศึกใน...มีการชุมนุมกันอย่างต่อเนื่อง แออัด มีคนไม่ใส่หน้ากาก มีตะเบ็งตะโกน แชร์ของกินของใช้ร่วมกัน ความเสี่ยงสูงมาก แถมยังมีการทยอยเข้ามาของคนที่เดินทางจากต่างประเทศ ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงสูงเป็นทวีคูณ
สิ่งที่รัฐควรทำคือ
หนึ่ง สร้างกลไก กระบวนการ และช่องทาง ให้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกฝ่าย ได้มีโอกาสแสดงความเห็น ข้อเสนอแนะ ในการพัฒนาบ้านเมือง อย่างปลอดภัย ภายใต้สถานการณ์โรคระบาดทั่วโลกอย่างรุนแรงเช่นนี้
สอง การมีความเห็นต่างกัน เป็นธรรมดาของสังคม ดังนั้นหากมีกลไก กระบวนการ และช่องทาง ที่ชัดเจน ต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ก็ย่อมมีโอกาสที่จะผสานความคิดต่างๆ มาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ แต่เน้นย้ำให้เป็นไปตามกฎหมาย
สาม สร้างจุดตรวจคัดกรองโรคในแต่ละพื้นที่ และระบบการแจ้งผลการตรวจ พร้อมให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวระหว่างรอผลที่บ้าน
และสุดท้ายคือ ยุติการผลักดันฟองสบู่ท่องเที่ยวไปอย่างน้อย 6 เดือน โดยช่วยเหลือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ พร้อมสื่อสารสาธารณะให้ชัดเจน
ส่วนประชาชนนั้น...ขอเรียนเน้นย้ำให้รักตัวเอง รักครอบครัว ป้องกันตัวเสมอ
ใส่หน้ากาก ล้างมือ อยู่ห่างๆ ไม่แชร์ของกินของใช้ร่วมกัน พูดน้อยลง ไม่ตะเบ็งตะโกน พบปะคนน้อยๆ และสั้นลง
ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจึงมีเสมอในการดำรงชีวิตประจำวัน ควรสังเกตอาการของตนเองและสมาชิกในครอบครัวให้ดี หากไม่สบายควรรีบไปตรวจรักษา ประเทศไทยต้องทำได้
นอกจากนี้ยังโพสต์ต่อเนื่องล่าสุด โดยมีระบุว่า วันนี้เดี่ยวๆ...น้องนักศึกษาไทยเดินทางกลับจากอินโดนีเซีย ตรวจพบว่าติดเชื้อ ระหว่างการกักตัววันที่ 12 ขอให้ปลอดภัย หายไวไว
กักตัว 14 วันนั้นสำคัญมาก เพราะต้องมีการตรวจซ้ำ และเฝ้าสังเกตอาการ
ตอนนี้เกาหลีใต้ กลับมาใช้มาตรการเข้มงวดในกรุงโซลแล้ว เพราะล่าสุดติดไป 166 คนในวันเดียว สูงสุดนับตั้งแต่มีนาคมเป็นต้นมา...
เมื่อวานนี้รัฐวิคตอเรียของออสเตรเลีย ก็มีคนตายไปถึง 25 คนในวันเดียว เป็นสถิติสูงที่สุดตั้งแต่มีการระบาดในประเทศเค้า สื่อทางโน้นตั้งชื่อว่า The deadliest day...แถมหากดูกราฟการระบาด ก็พบว่าสูงชันกว่าระลอกแรกอย่างมาก
ทุกประเทศที่ระบาดซ้ำนั้น โหดกว่าเดิม คุมยาก ใช้เวลานานในการติดตามและควบคุม และส่งผลกระทบยาว ทั้งญี่ปุ่น เวียดนาม ออสเตรเลีย ฮ่องกง สิงคโปร์ จีน ฯลฯ
อย่าเดินตามรอยเท้าเค้าเลย...เราอุตส่าห์สู้กันมาหลายเดือน ถ้าระบาดซ้ำ จะไม่ใช่กลับไปที่ศูนย์ แต่จะเป็นติดลบ
Cr.อ่านโพสต์ต้นฉบับ
อ่านโพสต์ต้นฉบับ