นับถอยหลังตอกเสาเข็มต้นแรก"สะพานข้ามโขง5" ค่าเฉียด 4 พันล้านบาท เชื่อมบึงกาฬ-ปากซัน ต.ค.นี้ หลังจากเลื่อนจากมิ.ย.เพราะพิษโควิด-19 เมื่อสร้างเสร็จจะช่วยหนุนเศรษฐกิจยางพาราบึงกาฬสู่ตลาดใหญ่ในจีนได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
บึงกาฬ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ตรงข้ามกับแขวงบอลิคำไซ ของสปป.ลาว แยกจากหนองคายออกมาจัดตั้งเป็นจังหวัดใหม่เมื่อ 23 มีนาคม พ.ศ.2554 ประกอบด้วย 8 อำเภอ เนื้อที่ 4,305.746 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,690,625 ไร่ ประชากร 412,613 คน โดยมีคำขวัญประจำจังหวัดว่า “ภูทอกแหล่งพระธรรม ค่าล้ำยางพารา งามตาแก่งอาฮง บึงโขงหลงเพลินใจ น้ำตกใสเจ็ดสี ประเพณีแข่งเรือ เหนือสุดแดนอีสาน นมัสการหลวงพ่อใหญ่ ศูนย์รวมใจศาลสองนาง”
เป็นจังหวัดติดแม่น้ำโขงอีกแห่งหนึ่งของภาคอีสานที่มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจ การค้าชายแดนไทย-ลาว มีพื้นที่การเกษตรกรรมที่สำคัญมากของจังหวัด คือ สวนยางพารากว่า 1 ล้านไร่ มากเป็นอันดับหนึ่งของภาคอีสาน อันดับ 6 ของประเทศ มีนักธุรกิจการค้า การลงทุนขนาด SMEs จากประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) โดยเฉพาะนักธุรกิจจีนเข้าพื้นที่เป็นระยะ
จากบึงกาฬสามารถเดินทางผ่านลาว ไปถึงท่าเรือวุ่งอ๋างในเวียดนาม ด้วยระยะทางไม่ถึง 200 กิโลเมตร และวกขึ้นเหนือผ่านฮานอยถึงชายแดนเวียดนาม-จีนที่มณฑลกว่างสีจ้วงเพียง 700 กิโลเมตร เพื่อต่อเข้าไปในอีกหลายมณฑลในประเทศจีน นักธุรกิจชี้หากโครงการสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 บึงกาฬ-ปากซัน แขวงบอลำไซ เสร็จตามเป้าหมาย จะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ต่อเชื่อมโครงข่ายโลจิสติกส์ ขนส่ง การเดินทาง ท่องเที่ยว เสริมเศรษฐกิจการค้า นำพาส่วนนี้ของอีสานเหนือ โดยเฉพาะบึงกาฬ ก้าวเข้าสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจอีกพื้นที่หนึ่ง
บึงกาฬกับเมืองปากซันมีการติดต่อค้าขายข้ามลำน้ำโขง ด้วยเรือบั๊กหรือแพขนานยนต์กันมายาวนานจนถึงปัจจุบัน ได้ผลักดันขอสะพานข้ามน้ำโขง เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งทางถนนมานาน และจริงจังยิ่งขึ้นหลังปี 2554 หรือ 9 ปีมาแล้ว นับแต่จัดตั้งจังหวัดบึงกาฬ กระทั่้งได้รับความเห็นชอบและบรรจุให้เป็นสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 โดยล่าสุดมีความก้าวหน้าว่าจะเปิดหน้าโครงการลงเสาเข็มต้นแรกในเดือนตุลาคม 2563 นี้ จากกำหนดเดิมเดือนมิ.ย. แต่เลื่อนมาจากการระบาดเชื้อโควิด-19
สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 บึงกาฬ-ปากซัน แขวงบอลิคำไซ เป็นโครงการสะพานข้ามแม่น้ำโขง เชื่อมโครงข่ายด้านเดินทางขนส่งระหว่างประเทศในลุ่มอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง (GMS)ระหว่างไทยกับสปป.ลาว โครงการมีระยะทางรวม 16.18 กม. แยกเป็น งานก่อสร้างฝั่งไทย 12.13 กม. และฝั่ง สปป.ลาว 3.18 กม. โดยแนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นที่ฝั่งไทย อยู่ที่จุดตัดทางหลวงสาย 222 กม.ที่ 123 ผ่านด่านพรมแดนฝั่งไทย บริเวณทิศตะวันออกของหนองกุดจับ ก่อนยกระดับข้ามทางหลวงสาย 212 กม.ที่ 125+925 ที่บ้านดอนยม อยู่ห่างจากริมฝั่งแม่น้ำโขงประมาณ 200 เมตร จุดที่ข้ามแม่น้ำโขงจะผ่าน ต.บึงกาฬ ต.วิศิษฐ์ และ ต.ไคสี อ.เมืองบึงกาฬ มีเวนคืนที่ดิน 620 ไร่ บริเวณฝั่งไทยเพื่อตัดถนนใหม่ ในส่วนของฝั่ง สปป.ลาว จุดเชื่อมอยู่ที่บ้านกล้วย เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ และไปเชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 13 ใต้ ตัวสะพานช่วงข้ามแม่น้ำโขงยาว 1,350 เมตร เป็นขนาด 2 ช่องจราจรกว้างช่องละ 3.5 เมตร วิ่งสวนทางกัน
กรอบวงเงินลงทุนโครงการจำนวน 3,930 ล้านบาท แบ่งเป็นฝ่ายไทยลงทุน 2,553 เนื้องานประกอบไปด้วย ค่างานถนนและด่านพรมแดนฝั่งไทย 1,893 ล้านบาท งานสะพานฝั่งไทย 660 ล้านบาท ส่วนงานก่อสร้างฝั่ง สปป.ลาวลงทุน 1,256 ล้านบาท มีเนื้องานถนนและด่านพรมแดนฝั่ง สปป.ลาว 780 ล้านบาท งานสะพานฝั่ง สปป.ลาว 476 ล้านบาท และค่างานควบคุมการก่อสร้างรวม 121 ล้านบาท ทั้งฝั่งประเทศไทยและฝั่ง สปป.ลาว งบประมาณก่อสร้างในส่วนฝั่งลาวจะใช้เงินกู้จากสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือเนด้า (NEDA)
เมื่อแล้วเสร็จสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 จะติดปีกบึงกาฬ ให้ทะยานสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจชายแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอีกแห่ง โดยเฉพาะจากฐานการผลิตยางพารา ที่ปัจจุบันมีประชากรกว่า 4 หมื่นครอบครัวอยู่ในวงจรนี้ โดยภาคเอกชนได้ขอจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมเมืองยางพาราขึ้น พร้อมกับเสนอรัฐบาลพิจารณาประกาศให้เป็นพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนอีกแห่ง เพื่อให้บึงกาฬเป็นแหล่งรวบรวมและศูนย์กลางแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราของประเทศเพื่อส่งออกไปจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่สุด จากเดิมที่ส่งไปในรูปวัตถุดิบที่ได้ราคาต่ำ
นอกจากนี้ยังมีแผนสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวอีก 3 แห่ง โดยแห่งที่ 6 อ.นาตาล จ.อุบล- คอนพะเพ็ง แขวงสาละวัน มูลค่า 4,300 ล้านบาท แห่งที่ 7 จ.เลย-แขวงเวียงจันทน์ แห่งที่ 8 อุบลราชธานี-แขวงจำปาสัก ซึ่งแห่ง 7,8 ยังอยู่ในแผนงานการพัฒนาในอนาคต ซึ่งจะต้องมีการศึกษาความเหมาะสมกันต่อไป
รายงานจากพื้นที่
ยงยุทธ ขาวโกมล
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 17 ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,608 วันที่ 10-12 กันยายน พ.ศ.2563
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
บูม“บึงกาฬ” เมืองเศรษฐกิจใหม่ จี้รัฐเทลงทุนถนน-รถไฟ-สนามบิน
สหกรณ์เกษตร"บึงกาฬ"ขอ120ล้านโรงงานแบริเออร์หุ้มยาง