สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน จัดเสวนาหัวข้อ “พิษบาคาร่าคร่าชีวิตครอบครัว” เมื่อวันที่ 11 ก.ย. ที่ผ่านมา สืบเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดอย่างหนักของการพนันออนไลน์ ที่นำมาซึ่งความสูญเสียมากมาย จนล่าสุดครอบครัวของบุคคลผู้มีชื่อเสียงในสังคมก็ตกเป็นเหยื่อด้วยเช่นกัน
นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนันกล่าวว่า “ปัจจุบันบาคาร่าเป็นเกมพนันออนไลน์ที่มีผู้เข้าเล่นมากที่สุดในทุกกลุ่มอายุ นับแต่เด็กเยาวชนจนไปถึงผู้สูงอายุ บาคาร่าออนไลน์จัดเป็นเกมพนันที่มีคุณสมบัติของความอันตรายครบ 4 ประการ คือ
1. รู้ผลเร็ว ใช้เวลาในการเล่นแต่ละครั้งเพียงแค่ชั่วนาที
2. เปิดโอกาสให้แก้มือได้ทันที เพราะโลกออนไลน์เปิด 24 ชั่วโมง
3. สร้างความรู้สึกเกือบชนะแก่ผู้เล่น ทำให้รู้สึกเสียดายต้องเล่นต่อ
4. มีเดิมพันสูง เพราะเมื่อเสียเร็วเสียถี่ คนเล่นพนันย่อมต้องการทวงเงินที่เสียไปคืน จึงเพิ่มเงินเดิมพันเป็นทวีคูณ
บาคาร่าจึงมักจะนำพาผู้เล่นเข้าสู่วงจรของการเล่นพนันที่เป็นปัญหา 5 ประการ คือ
1. เล่นไม่อั้น ถมเงินลงไปเล่นแบบไม่จำกัด
2.ไม่เท่าทันอารมณ์ เมื่อเสียมักจะหัวร้อนวู่วาม ซึมเศร้า ฟุ้งซ่าน ซึ่งจริง ๆ แล้วควรจะต้องหยุดเล่นหากมีอารมณ์เช่นนี้
3. ไม่นิยมพักผ่อน เพราะหมกมุ่นครุ่นคิดแต่จะเอาเงินที่เสียไปคืน จนไม่อยากหลับนอน
4.อ่อนสติ ไม่นึกถึงความเป็นจริงว่าเจ้ามือกุมความได้เปรียบเราทุกประตู
5. มิใส่ใจความห่วงใย ปิดกั้นการรับรู้คำเตือนสติและความห่วงใยของคนรอบข้าง
"สิ่งที่น่าห่วงคือ คนที่ถลำไปกับบาคาร่าแล้วมักจะหยุดไม่อยู่ จะหยุดก็ต่อเมื่อได้เห็นโลงศพและหลั่งน้ำตาแล้วเท่านั้น เปรียบได้ว่ามีอยู่ 6 โลงศพที่ต้องไปถึงจุดนั้นนักพนันจึงจะเลิกเล่น คือ งานย่ำแย่ แพ้จนเพลีย เสียหมดตัว กลัวโดนอุ้ม กลุ้มโดนคุก เห็นทุกข์เพื่อน จึงไม่น่าแปลกใจที่บาคาร่าสามารถดูดเงินจากผู้เล่นได้เป็นหมื่นเป็นแสนในเวลาเพียงไม่นาน” นายธนากรกล่าว
ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ด้านการศึกษา กล่าวว่า “การพนันถูกออกแบบมาให้คนติดง่าย เมื่อเราตกไปในวังวนนี้ โอกาสที่จะเสพติดก็ง่าย บางคนก็ไม่สามารถออกมาจากการเสพติดนี้ได้ เมื่อคนรักเข้าสู่การพนันออนไลน์ สิ่งที่จะตามมาเป็นวงจรคือ การเป็นหนี้ ตามด้วยการโกหก การลักขโมย พฤติกรรมก้าวร้าว และนำไปสู่ความแตกร้าวของสัมพันธภาพระหว่างกัน ยิ่งหากมีลูกด้วย ผลกระทบก็จะยิ่งขยายวง การพนันจึงบั่นทอนสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสุขภาพเศรษฐกิจ บั่นทอนสัมพันธภาพ และบั่นทอนคุณภาพของครอบครัว เพราะเมื่อพ่อแม่หมกมุ่นอยู่กับการพนัน คุณภาพในการดูแลลูกย่อมต่ำลงอย่างแน่นอน”
“ขอเรียกร้องต่อทุกภาคส่วนว่า การสร้างภูมิความรู้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันแก่เด็กเยาวชนและครอบครัวมีความสำคัญมาก ทั้งความรู้ด้านการจัดการการเงิน ความรู้เท่าทันการพนัน รวมทั้งความรู้เท่าทันสื่อ สถาบันการศึกษาต้องหยิบยกเรื่องนี้มาเป็นบทเรียน บทบาทภาครัฐก็ต้องจริงจัง อย่าซุกปัญหาไว้ใต้พรม ที่สำคัญต้องคิดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นให้มากที่สุด เพราะการเสียหายจากการพนันมันไม่ใช่แค่เสียเงิน แต่จะกระเทือนถึงสัมพันธภาพในครอบครัว อันอาจมีผลกระทบต่ออนาคตของเด็ก ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้ ” ดร.สรวงมณฑ์ กล่าว
ด้านนายเอ (นามสมมุติ) อดีตเหยื่อบาคาร่า กล่าวว่า เริ่มเล่นบาคาร่าออนไลน์ตั้งแต่ อายุ 21 ปี เริ่มมีหนี้สิน ทะเลาะกับแฟน มีปัญหากับครอบครัว สุดท้ายสูญเงินไปกว่า 500,000 บาท ตอนนั้นหน้ามืดตามัวไปหมด ทุกวินาทีจะอยู่กับโทรศัพท์มือถือ กดเข้าเว็บพนันตลอด ใช้เวลาเล่นอยู่ 4 ปี ความสัมพันธ์ของผมกับแฟนก็แย่ลง มีปากเสียงกัน สาดคำพูดหยาบคายใส่กัน ด้วยความที่ผมไม่สนใจ ไม่ให้เวลา พอเล่นเสียก็หงุดหงิด โมโหใส่เขา หนักเข้าก็เริ่มยืมเงิน อ้างโน่นอ้างนี่ สุดท้ายคือเอาเงินที่เขาต้องใช้ผ่อนบ้านมาหมุน แต่ถึงเวลาผมกลับไม่มีเงินมาจ่ายคืน ซึ่งพอเขารู้ว่าเราเอาไปเล่นพนันออนไลน์ และเขาต้องแบกรับภาระที่ไม่จบไม่สิ้นของเรา เขาก็จากไป
"จนผมเริ่มรู้สึกว่าเราเดินทางนี้ต่อไปได้แล้ว ประกอบกับครอบครัวที่รับไม่ไหวกับสิ่งที่ผมก่อไว้ ทำให้ผมตัดสินใจเลิก เปลี่ยนแปลงตัวเองทุกอย่าง จนแฟนผมให้โอกาสอีกครั้ง ครอบครัวก็เริ่มให้อภัย แต่ต้องยอมรับว่าทุกคนก็ยังระแวง ทุกวันนี้ผมก็ยังต้องรับภาระหนี้สินที่ก่อไว้อยู่ ภาวะตอนนั้นผมรู้สึกเคว้งคว้างมาก อยากหาคนรับฟังการระบายทุกข์ของเรา แต่ก็หาไม่ได้ เพราะคนรักและพ่อแม่ก็รับเราไม่ได้แล้ว จึงอยากเสนอให้ภาครัฐจัดบริการให้คำปรึกษาที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย และช่วยรับฟังความทุกข์ของคนที่หลงผิดไปเล่นพนันออนไลน์ได้อย่างจริงจัง เพราะเชื่อว่าตอนนี้มีคนเดือดร้อนจากเรื่องนี้มาก ในโลกออนไลน์มีการตั้งกลุ่มปรับทุกข์กันเอง พบว่ามีสมาชิกมากถึงสามหมื่นกว่าคน” นายเอกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง