ผู้ประกอบการบ้านด่านนอกเสนอ“เปิดจุดผ่อนปรนพิเศษ”ต่อลมหายใจเศรษฐกิจ ชี้ถึงเวลารัฐเติมน้ำมันใส่เครื่องยนต์การท่องเที่ยว เพื่อให้เม็ดเงินกระจายถึงชาวบ้าน กมธ.การเงินฯเปิดเวทีถกปัญหาถึงพื้นที่ ชี้หากไม่ช่วยทุกอย่างก็พังพินาศหมด
วันที่ 13 ก.ย. 2563 ที่โรงแรมวิสต้า ต.สำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา คณะกรรมาธิการ(กมธ.) การเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร จัดการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง“ผลกระทบของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจ การค้าชายแดน และการท่องเที่ยว ในจังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยมีประชาชน นักธุรกิจ เข้าร่วมประมาณ 500 คน
ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ โฆษกคณะกมธ.การเงินฯ สภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ ลงพื้นที่ดูงาน และจัดสัมมนา กล่าวถึงภารกิจของคณะกรรมาธิการ นำโดยนายสมศักดิ์ พันธุ์เกษม ประธานคณะกรรมาธิการฯ ในครั้งนี้ว่า เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณสู่ภาวะถดถอยอย่างชัดเจนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความพยายามในการเพิ่ม และรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จึงได้รับการผลักดันมากขึ้น ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในทุกด้าน และสงครามการค้าระหว่างมหาอำนาจ ส่งผลเชิงลบต่ออัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทย ที่ถูกซ้ำเติมด้วยการคุกคามจากโรคระบาดโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563
ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการป้องกันการระบาด ด้วยการปิดสถานที่ และงดการเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศและต่างจังหวัดเป็นการชั่วคราว ซึ่งเกิดประสิทธิผลต่อการหยุดการระบาด แต่การหมุนเวียนของการประกอบธุรกิจแทบทุกประเภทต้องหยุดลง ก่อให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจถดถอยอย่างกระทันหัน รวมถึงการค้าภายในประเทศและการส่งออกต่างประเทศ
มาตรการนี้ส่งผลให้หลายธุรกิจต้องหยุดการประกอบกิจการ บุคลากรหลากหลายกลุ่มเผชิญกับความภาวะตกงานหรือรายได้ลดลง ด้วยเหตุนี้ เพื่อเป็นการบรรเทาและเยียวยา รัฐบาลจึงได้จัดให้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เสริมสภาพคล่องและจัดหาแหล่งเงินทุน ตลอดจนการชะลอหนี้สินและค่าใช้จ่าย ให้กับธุรกิจและประชาชน แต่ช่วยได้เพียงระยะสั้นเท่านั้น
ดังนั้น คณะกรรมาธิการการเงินการคลัง จึงเห็นความสำคัญที่ต้องรับฟังและสร้างความรู้ความเข้าใจให้ตรงกันถึงแก่นแท้ของปัญหา และให้ตรงกับความต้องการของประชาชน จึงได้จัดสัมมนาเรื่อง การพัฒนาการค้าชายแดนและการท่องเที่ยว บนความปกติใหม่อย่างยั่งยืน เพื่อระดมความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ ในท้องถิ่น ก่อนที่จะไปดำเนินการวิเคราะห์สรุปผล เพื่อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้รับทราบ และนำไปจัดทำนโยบายให้เป็นแนวทางสำหรับการปฎิบัติต่อไป
การจัดสัมมนาในครั้งนี้กรรมาธิการได้เลือกพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ที่บ้านด่านนอก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ณ โรงแรมเดอะวิสต้า โดยมีนักธุรกิจและประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากในพื้นที่ และจากบริเวณใกล้เคียง อาทิ จากจังหวัดปัตตานี ยะลา สตูล สงขลา นราธิวาส เข้าร่วมรับฟังกว่า 500 คน ในเวทีจัดสัมมนาได้ระดมความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ ในท้องถิ่น โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐกิจ การเงินและสังคม จำนวน 10 ท่าน
สำหรับประชาชนที่ได้มาฟังการสัมมนาในครั้งนี้ ต่างรู้สึกมีความหวังกับการฟื้นฟูธุรกิจภาคการท่องเที่ยว การค้าชายแดน ซึ่งบ้านด่านนอกได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดมากที่สุดและนานที่สุด โดยปัจจุบันบ้านด่านนอกมีโรงแรมจำนวน 46 แห่ง ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ประมาณ 5,000 คน จำนวนมากได้ย้ายถิ่นฐานกลับสู่ภูมิลำเนา ส่วนกลุ่มที่ยังไปไหนไม่ได้ คือ กลุ่มที่ติดหนี้ธนาคาร กลุ่มที่มาซื้อบ้าน จึงยังไม่สามารถเคลื่อนย้ายถิ่นฐานได้
คณะกรรมาธิการฯ ได้มาศึกษาเก็บข้อมูลในพื้นที่ พบว่าปัญหาวิกฤติโควิดในครั้งนี้ ส่งผลกระทบบ้านด่านนอกอย่างรุนแรง ปัจจุบันนักธุรกิจที่เป็นหนี้ธนาคารรัฐในพื้นที่บ้านด่านนอก มียอดถึงประมาณ 5,000 ล้านบาท ต่อหนึ่งธนาคาร "หากเราไม่ช่วยเหลือแก้ไขให้ทันท่วงที ปล่อยหนี้ให้ไหลเป็นเอ็นพีแอล จะกลายเป็นเมืองร้างทันที"
กรรมาธิการชุดนี้จะเข้ามาแก้ไขในเรื่องที่ชาวบ้านร้องขอ เช่น ขอเปิดจุดผ่อนปรนในพื้นที่ การยืดระยะพักหนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2564 และการเปิดด่านสะเดาแห่งใหม่ไม่ให้มีผลกระทบต่อการค้าชายแดน ที่มียอดนำเข้า-ส่งออกสูงมาก โดยบ้านด่านนอกเป็นเมืองที่เติบโตเร็วใช้เวลาเพียงระยะ 20 ปี ผิดกับเมืองในภูมิภาคอื่นหากจะโตได้ขนาดนี้ต้องใช้เวลานับ 100 ปี กว่าจะมีโรงแรมและอาคารบ้านเรือนนับหมื่นหลัง หากรัฐบาลไม่ช่วย ทุกอย่างก็พังพินาศหมด
ดร.สิทธิพงษ์ สิทธิภัทรประภา ที่ปรึกษาสมาคมผู้ประกอบการรักษ์ด่านนอก กล่าวว่า การที่คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงิน และตลาดเงิน ยกคณะมาศึกษาผลกระทบโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจการค้า การท่องเที่ยว ในจังหวัดชายแดน ในที่พื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสะเดาที่บ้านด่านนอก
ภายหลังจากที่ด่านนอกถูกประกาศยกระดับให้เป็นพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคือ การมุ่งที่การลงทุนสร้างนิคมอุตสาหกรรมพิเศษในพื้นที่ด้วยเม็ดเงินมหาศาลของภาครัฐ แต่รายได้ชาวบ้านกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ ที่เหมาะสมกับฐานะของพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษด่านนอกเลย ตรงกันข้ามเงินในกระเป๋าชาวบ้านกลับลดฮวบลง เพราะรัฐเลือกเติมน้ำมันให้กับเครื่องยนต์ โลจิสติกส์ และเครื่องยนต์ นิคมอุตสาหกรรมพิเศษ ส่งผลต่อรายได้รวมของประเทศที่เงินตกไม่ถึงมือชาวบ้าน จากที่เครื่องยนต์ภาคการท่องเที่ยวและการเงิน ที่มีผลต่อเงินในกระเป๋าของประชาชนในพื้นที่ และภาพรวมของประเทศ กลับไร้การดูแลเติมน้ำมันจากภาครัฐ
วันนี้เครื่องยนต์ท่องเที่ยว การเงิน แทบดับสนิท ต้องใช้แรงประชาชนมาเข็นรถต่อ เพื่อให้รถเดินต่อได้ ถึงจะไปสโลว์ไลฟ์แบบตัวสล็อต แต่ก็ดีกว่าจอดสนิท การลงมาของคณะกรรมการธิการฯรอบนี้ สรุปชนิดของน้ำมันที่จะเติมให้กับเครื่องยนต์ท่องเที่ยวของด่านนอกต่อไป ประกอบด้วย
1.ให้คงทางเข้า-ออกรถโดยสารผ่านด่านพรมแดนเส้นทางเดิม แทนบังคับไปใช้ด่านศุลกากร 500 ไร่ ที่สร้างขึ้นใหม่
2.การผลักดันให้พื้นที่ด่านนอกเป็นเขต Freeport ในพื้นที่ หมู่ 7 (ระยะทาง 1-2 กิโลเมตรจากด่านพรมแดน)
“นี่สิชาวบ้านถึงจะบอกว่ามันพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษของจริง เป็นฝันที่ชาวบ้านรอมานาน”
3.การแก้ปัญหาเงินกู้ Soft Loan ที่คนอยากกู้ กู้ไม่ได้ แต่คนไม่อยากกู้ธนาคารดันประเคนเงินกู้ให้ถึงที่ แถมขอร้องให้กู้อีกต่างหาก และ
4.การชะลอการชำระหนี้ ที่จะต้องนานกว่า 6 เดือน ให้สอดคล้องกับระยะเวลาวิกฤตโควิด-19
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
จี้มาเลย์เปิดเพิ่ม2ด่าน"สงขลา" พาณิชย์หวังเพิ่มยอดค้าชายแดน
โอกาส ‘หาดใหญ่’ 2563 ‘ศิวัตน์’ ชี้ตลาดมาเลย์-ฟื้นฟูเมือง
“กนอ.”เปิดโปรฟรีค่าเช่า-ค่าบำรุง-ลดราคา ผ่อนชำระปลอดดอกเบี้ย นาน 6 เดือน “นิคมฯยาพารา”