สวนดุสิตโพลเผย คนไทยเครียด "ของกินของใช้แพง "

20 ก.ย. 2563 | 02:43 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ย. 2563 | 09:54 น.

สวนดุสิตโพล เผยผลสำรวจ “ความเครียดของคนไทย ณ วันนี้” เรื่องที่ประชาชนเครียดมากที่สุด คือ ของกินของใช้แพง 67.76% รองลงมา คือ ทุจริตคอร์รัปชัน 63.93% และโควิด-19 57.49%

วันที่ 20 กันยายน 2563 สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “ความเครียดของคนไทย ณ วันนี้” กลุ่มตัวอย่าง 1,358 คน สำรวจวันที่ 16-18 กันยายน 2563 จะเห็นได้ว่าเรื่องที่ประชาชนเครียดมากที่สุด คือ ของกินของใช้แพง 67.76% รองลงมาคือ ทุจริตคอร์รัปชัน 63.93% และโควิด-19 57.49% สิ่งที่คนอยากทำเมื่อรู้สึกเครียดมาก คือ ออกไปเที่ยว ช้อปปิ้ง 51.47% เล่นเน็ต 35.35% และกิน 33.51%

สวนดุสิตโพลเผย คนไทยเครียด \"ของกินของใช้แพง \"

เรื่องปากท้องยังคงเป็นเรื่องที่ประชาชนกังวลจนส่งผลต่อความเครียดมากที่สุด เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ เงินไม่พอใช้ เป็นหนี้ ตกงาน เป็นปัญหากระทบกับประชาชนโดยตรง เมื่อเครียดแล้วประชาชนก็อยากคลายเครียดด้วยการไปเที่ยว ช้อปปิ้ง ซื้อของ แต่เมื่อเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้นก็ทำให้ยังไม่มีเงินไปช้อปปิ้ง ทำให้เกิดความเครียดวนเวียนกันต่อไป ปัญหาเศรษฐกิจจึงเป็นปัญหาที่รุมเร้าทั้งรัฐบาลและประชาชนอย่างแท้จริง

นายสฤษดิ์ ศรีโยธิน ประธานหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยว่า จากผลการสำรวจความเครียดของคนไทยในช่วงก่อนมีการชุมนุมทางการเมือง ในวันที่ 19 กันยายน 2563 จะเห็นได้ว่าประชาชนเกิดความกังวลเกี่ยวกับเรื่องปากท้อง ก็คือของกินของใช้ราคาแพงอันเป็นความต้องการของมนุษย์(Needs) มนุษย์ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในทรัพย์สิน ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับชีวิตของตนก่อนสิ่งอื่นใด รองลงมาก็เป็นเรื่องของหน้าที่พลเมืองที่หวงแหนผลประโยชน์ของประเทศชาติ (Belongingness and Love Needs) จึงมีความกังวลเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นช่วงของการอภิปรายงบประมาณประจำปี 2564 และตามด้วยความกังวลเกี่ยวกับโรคระบาดโควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่ทั่วโลก ซึ่งนั่นก็คือความปลอดภัยในชีวิตของตนเองและครอบครัว (Safety Needs) และเมื่อมีความเครียดสะสมก็จะใช้กลไกในการป้องกันตัวเอง โดยหาทางระบายออกด้วยการพาตนเองออกไปจากบริบทของความเครียดและความกังวลนั้นตามศักยภาพที่มี นั่นก็คือ มีแรงขับ (Drive) ที่จะออกไปเที่ยว ช้อปปิ้ง และเล่นเน็ต 

 

หากรัฐบาลนำข้อมูลการสำรวจไปใช้ให้เป็นประโยชน์ นั่นก็คือ การควบคุมกลไกราคาของกินของใช้ไม่ให้สูงจนเกินไป และออกมาตรการกระตุ้นส่งเสริมการท่องเที่ยวและการช้อปปิ้งในประเทศอย่างครบวงจรก็จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทยได้ในช่วงฤดูการท่องเที่ยวช่วงปลายปีนี้ ที่มีมาตรการความปลอดภัยในแบบฉบับ New Normal และที่สำคัญก็คือ ให้ความสำคัญกับความโปร่งใส (Accountability) การบริหารงบประมาณปี 2564 ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนไทย