ครม.เห็นชอบแก้ก.ม.อาญา ให้หญิงอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ทำแท้งได้

17 พ.ย. 2563 | 08:16 น.

ครม. เห็นชอบแก้ไขกฎหมายอาญา อนุญาตให้หญิงที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ทำแท้งได้ เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์

17 พฤศจิกายน 2563 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาความผิดฐานทำให้แท้งลูก โดยมีที่มา คือ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 กำหนดให้หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกมีความผิดอาญานั้น เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของหญิงเกินจำเป็น ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 28 บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และเพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 และ มาตรา 305 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

วันนี้ ครม. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 และ มาตรา 305 ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ โดยมีเหตุผลในการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 และ มาตรา 305 คือ

 

1.กำหนดอายุครรภ์สำหรับความผิดฐานหญิงทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกขณะมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ มีความผิดและต้องรับโทษ เพื่อคุ้มครองสิทธิของหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ให้เกิดความสมดุลกัน

 

2.เพิ่มเหตุยกเว้นความผิดฐานทำให้แท้งลูก ให้ครอบคลุมกรณีต่างๆ ที่จำเป็นและสมควรต้องทำแท้งหรือยุติการตั้งครรภ์ให้กับหญิง และกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องทำตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภาเพื่อความปลอดภัยของหญิงตั้งครรภ์  ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้

 

แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 301 ให้หญิงที่มีอายุครรภ์ “ไม่เกิน 12 สัปดาห์” สามารถทำแท้งได้ จากเดิมที่ห้ามหญิงตั้งครรภ์ทำแท้งโดยเด็ดขาด ซึ่งการกำหนดอายุครรภ์ดังกล่าวเป็นไปตามความเห็นของแพทยสภาและราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่ปลอดภัยที่สุดในการทำแท้ง ไม่มีความเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ทำแท้งเกิดอาการแทรกซ้อนและเป็นอันตรายแก่ชีวิต นอกจากนี้ ได้มีการแก้ไขลดอัตราโทษ เพื่อให้เหมาะสมกับการที่ผู้ทำแท้งต้องได้รับความเจ็บปวดทางร่างกายอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องกำหนดโทษสูงอีก โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

“มาตรา 301 หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกขณะมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” จากเดิมที่กำหนดให้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

สำหรับมาตรา 305 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเหตุยกเว้นความผิดฐานทำให้แท้งลูก ให้ครอบคลุมกรณีที่จำเป็นและสมควรต้องทำแท้งหรือยุติการตั้งครรภ์ให้กับหญิง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

 

“มาตรา 305 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 301 หรือ มาตรา 302 เป็นการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภาในกรณีดังต่อไปนี้ ผู้กระทำไม่มีความผิด (1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากหากหญิงตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกาย หรือจิตใจของหญิงนั้น (2) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากหากทารกคลอดออกมาจะมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะได้รับผลกระทบจากความผิดปกติทางกายหรือจิตใจถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โลกขานรับข่าวดีวัคซีน เชื่อการแพร่ระบาดของโควิดสามารถยุติในปี 64

นโยบาย EVรอบใหม่ช่วยไทยหนีห่างจากคู่แข่ง

เริ่มวันนี้ "แท็กซี่มิเตอร์" บวกเพิ่มค่าสัมภาระสูงสุดชิ้นละ 100 บาท

ร่วม "คนละครึ่งเฟสสอง" ต้องใช้สิทธิ 3000 ครบ

 

(3) หญิงมีครรภ์เนื่องจากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ (4) หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์”


 

ทั้งนี้ ในลำดับต่อไป จะส่งร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าว ให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา แล้วเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาโดยด่วน เพื่อให้มีผลบังคับใช้ก่อนวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะมีผลบังคับใช้ 1 ปี หากแก้ไขไม่แล้วเสร็จ มาตรา 301 จะไม่มีผลบังคับใช้โดยปริยาย เพราะกฎหมายจะขัดต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้

นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้ง เป็นการส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิของผู้หญิงและชีวิตของทารกในครรภ์อย่างมีดุลยภาพ อีกทั้งสร้างความมั่นใจต่อบุคคลากรการทางการแพทย์ในการให้บริการยุติการตั้งครรค์โดยสมัครใจ ลดแรงจูงใจของผู้หญิงในการไปหาหมอเถื่อนเพื่อทำแท้ง ซึ่งผิดกฎหมายและไม่ปลอดภัยต่อชีวิต  และในส่วนที่กฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งทารกในครรภ์ที่มีความเสี่ยงที่จะคลอดออกมาแล้วพิการแต่กำเนิด จะช่วยลดภาวะตึงเครียดให้กับครอบครัวที่ไม่มีความพร้อมที่จะเลี้ยงดูบุตรที่มีสภาพพิการได้