นายอัลแบร์โต อิเบอัส กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ DMHT เปิดเผยว่า DMHT สร้างสรรค์การเรียนรู้เกี่ยวกับการดื่มอย่างรับผิดชอบ ผ่านแบบทดสอบออนไลน์ดริ้งค์ไอคิว (DRINKiQ Quiz) ซึ่งเป็นควิซสั้นๆ เพียง 10 ข้อ ที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริง เคล็ดลับ และการแก้ไขความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการดื่มแอลกอฮอล์ ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายจากทุกช่องทาง พร้อมตั้งเป้าให้มีคนเข้ามาทำควิซ 250,000 ครั้ง ภายในปี 2030
นอกจากนี้ การสื่อสารด้วยสารที่เหมาะสมจะช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ จากผลสำรวจออนไลน์ล่าสุดพบว่า คนไทยจำนวนมากจากทั่วประเทศมองว่าผู้ดื่มไทยยังไม่มีความรับผิดชอบ แต่อิทธิพลทางสังคมจะสามารถกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมได้อย่างมาก ด้วยการส่งเสริมแนวคิดเรื่องการดื่มอย่างรับผิดชอบให้กระจายไปในวงกว้าง
นายจูลส์ นอร์ตัน แซลเซอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) หรือ DMHT กล่าวว่า DMHT รู้สึกตื่นเต้นที่ได้เปิดตัวควิซให้ความรู้เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ระดับโลกที่ดิอาจิได้สร้างสรรค์ขึ้น ในโอกาสก่อนหยุดยาวปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง เพราะเวลาแห่งความสุขนี้เป็นช่วงที่คนไทยจะเดินทางท่องเที่ยว เฉลิมฉลอง และเพลิดเพลินกับการดื่มแอลกอฮอล์ เรามีพันธกิจในการส่งเสริมการดื่มอย่างรับผิดชอบและอยากจะสนับสนุนให้ทุกคน Drink Better, Not More ซึ่งหมายถึงการไม่ดื่มแอลกอฮอล์เกินขีดจำกัดและรู้ลิมิตของตัวเอง หรือรู้ว่าเวลาใดที่ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์เลย เพื่อให้แอลกอฮอล์สามารถเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ที่สมดุลได้ ถ้าทุกคนร่วมมือร่วมใจกัน เราจะสามารถแก้ปัญหาทางสังคมที่มีมาอย่างยาวนาน เช่น ปัญหาเมาแล้วขับ การดื่มเกินพอดี
"เราตั้งเป้าว่าจะให้มีคนมาทำควิซนี้ครบ 250,000 ครั้งภายในปี 2030 เพื่อขับเคลื่อนเรื่องการดื่มอย่างรับผิดชอบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการด้านความยั่งยืนของดิอาจิโอ ที่เราเรียกว่า SOCIETY 2030: SPIRIT OF PROGRESS”
เพื่อสร้างแคมเปญที่มีประสิทธิภาพ DMHT ได้ทำแบบสำรวจออนไลน์เพื่อสำรวจทัศนคติและพฤติกรรม เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ของคนไทยทั่วประเทศ ทั้งผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์และไม่ดื่มแอลกอฮอล์ โดยผลสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ (ประกอบด้วย 63% ของผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ และ 48% ของผู้ชายที่ดื่มแอลกอฮอล์) คิดว่าผู้ดื่มชาวไทย มีพฤติกรรมการดื่มที่ไม่มีความรับผิดชอบ โดยผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ส่วนใหญ่ให้คำจำกัดความผู้ดื่มไทยว่าเป็นกลุ่มที่ “อันตราย” ผู้ดื่มชาวไทยถูกจำกัดความว่าเป็นคนที่ “ชอบเข้าสังคม” มากที่สุด
สอดคล้องกับความเชื่อที่ว่าคนไทยดื่มเพื่อเข้าสังคม แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการเน้นย้ำให้เห็นถึงการรับรู้ในเชิงลบเกี่ยวกับการบริโภคแอลกอฮอล์อย่างไม่ระมัดระวัง ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องได้รับการแก้ไข นอกจากนี้ยังพบว่า คนไทยมีการตอบสนองในเชิงบวกและมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองตามสภาพแวดล้อมทางสังคม รวมทั้งมีแนวโน้มจะสนับสนุนให้ผู้อื่นเป็น “ผู้ดื่มที่ดีขึ้น” ตามมา DMHT จึงเห็นโอกาสที่จะนำ “แนวปฏิบัติในสังคม” มาใช้เป็นกลยุทธ์ในการแก้พฤติกรรมการดื่มที่ไม่ดีและสนับสนุนการดื่มอย่างรับผิดชอบอย่างยั่งยืนในแคมเปญนี้