เคลียร์ชัด 9 ประเด็น มีหลักฐานไหม ส่วยแรงงานต่างชาติ

08 ม.ค. 2564 | 01:10 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ม.ค. 2564 | 01:13 น.

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เปิด 9 ประเด็นชี้ชัด มีหลักฐานไหม: ส่วยแรงงานต่างชาติ ย้ำแรงงานผิดกฎหมายเหมือนยาเสพติด แต่แก้ไม่ได้เพราะมีส่วยสินบนผลประโยชน์สีเทา

จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ล้วนมาจาก บ่อน แรงงานต่างชาติ ที่มีความเกี่ยวข้องกับสินบน และผลประโยชน์สีเทา 

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เปิด 9 ประเด็น หาคำตอบ มีหลักฐานไหม: ส่วยแรงงานต่างชาติ ย้ำปัญหาแรงงานผิดกฎหมายเปรียบเหมือนยาเสพติดที่เห็นคนทำผิดมากมาย แต่แก้ไม่ได้เพราะมีส่วยสินบนและผลประโยชน์สีเทาเป็นตัวแทรกทำให้ปัญหาซับซ้อนจนยากจะควบคุม 

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)โพสต์เฟซบุ๊ก
"มีหลักฐานไหม: ส่วยแรงงานต่างชาติ" โดยระบุว่า

แรงงานต่างชาติเข้าประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายทั้งทางบกและทางทะเล เป็นชาวพม่า กัมพูชาลาว จีน บังคลาเทศ โรฮีนจา อุยกูร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย 

ดร.มานะ นิมิตรมงคล

คนเหล่านี้จำนวนมากเชื่อมโยงกับการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย ผ่านขบวนการขนย้ายคนต่างชาติสู่พื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย จากการศึกษาพบข้อมูลที่น่าสนใจคือ

1. คนที่มาทางทะเล กลุ่มหนึ่งคือผู้ลี้ภัย ตัวอย่างชัดเจนคือคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจา ผู้ต้องหาคือพลโทมนัส ในปี 2559 ผู้ลี้ภัยเหล่านี้มีทั้งที่มองไทยเป็นจุดหมายปลายทางและอาศัยเป็นทางผ่าน

อีกกลุ่มเป็นคนที่ต้องการมาหางานทำ มีจำนวนมากและมักเป็นแรงงานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมประมง พวกเขาสามารถขึ้นแผ่นดินได้ตลอดแนวชายฝั่งตั้งแต่จังหวัดระนองจรดประเทศมาเลเซีย 

ด้วยเหตุที่การเดินทางด้วยเรือต้องมีจำนวนคนครั้งละมากๆ จึงเชื่อว่าต้องมีขบวนการจัดการในประเทศต้นทางและในประเทศไทย

2. คนที่มาทางบก กลุ่มหนึ่งเข้ามาทางด่านตรวจคนเข้าเมือง เกือบทั้งหมดมีเอกสารถูกต้องตามกฎหมาย กลุ่มที่สองเป็นพวกเดินผ่านป่าข้ามคลองเข้ามาจึงผิดกฎหมายทุกราย กลุ่มนี้แบ่งออกเป็นสองส่วน 

ส่วนแรก เข้ามาแบบกองทัพมดตลอดแนวชายแดนโดยการช่วยเหลือจากเครือข่ายในพื้นที่ (Local network) ผ่านคนรู้จักหรือญาติแนะนำกันมา หลบพักในหมู่บ้านตามชายแดนวันสองวันจึงค่อยมีคนมารับขึ้นรถไปสถานีขนส่งในเมืองใหญ่ แล้วกระจัดกระจายไปตามเส้นสายช่องทางของตน
 
ส่วนที่สอง เข้ามาเป็นกลุ่มก้อนผ่านนายหน้า มีที่หลบพักและมีจุดหมายปลายทางหรือแหล่งงานชัดเจน 

3. ตามสถิติของกรมแรงงาน ณ เดือนพฤศจิกายน 2563 มีชาวพม่า กัมพูชา เวียดนามและลาว ขึ้นทะเบียนทำงานอยู่ 2.08 ล้านคน ขณะที่บุคคลภายนอกประเมินว่ายังมีแรงงานผิดกฎหมายจำนวนพอๆ กันคืออีกราวสองล้านคน

4. แรงงานที่เข้าเมืองผิดกฎหมายต้องจ่ายเงินหัวละ 8,000 – 15,000 บาทให้แก่ ‘นายหน้า’ เพื่อจัดการให้พวกเขาเดินทางสู่จุดหมายปลายทางตามที่ตกลงกัน 

แต่นายหน้าจะมีค่าใช้จ่ายอะไรต้องแบ่งเงินให้ใครบ้าง หรือจ่ายเบี้ยบ้ายรายทางอย่างไรไม่เคยปรากฏข้อมูลชัดเจน 

5. ฝั่งประเทศพม่าโดยเฉพาะอำเภอท่าขี้เหล็ก มีไทยคนหลบหนีคดียาเสพติดไปอาศัยอยู่นับร้อยคน คนเหล่านี้มีเครือข่ายมากน้อยต่างกันไป กล่าวกันว่ามีบางคนเข้าไปเกี่ยวข้องกับการขนย้ายแรงงานผิดกฎหมายเหล่านี้ด้วยโดยการเชื่อมโยงเครือข่ายให้

6. จากการสอบถามผู้เกี่ยวข้องและสืบค้นข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต ผู้เขียนไม่พบข้อมูล ข่าว เรื่องร้องเรียนหรืองานศึกษาวิจัยที่ยืนยันว่ามีการเรียกรับส่วยสินบนอย่างต่อเนื่อง ‘เป็นขบวนการ’ ในพื้นที่ใด 

แต่มีคำถามว่า ‘หวย บ่อน ซ่อง ยาเสพติด’ มีอยู่ดาษดื่นเพราะส่วยสินบน ดังนั้นธุรกิจขนย้ายแรงงานผิดกฎหมายที่ทำกันครึกโครมอยู่ทุกวัน จะไม่มีตำรวจ เจ้าหน้าฝ่ายปกครองและฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ร่วมรู้เห็นบ้างเชียวหรือ? 

มีใครเรียกรับค่าคุ้มครองจากเครือข่ายตามชายแดนหรือไม่? มีด่านหรือใครรับเงินค่ามองไม่เห็นรถขนย้ายแรงงานที่ผ่านมาหรือแหล่งรวมแรงงานตามจุดหมายปลายทางหรือไม่?

7. เอกสาร TIP Report 2020 ของสหรัฐฯ ระบุว่า ระบบการยื่นขออนุญาตทำงานของชาวต่างชาติในประเทศไทยมีขั้นตอนมาก ต้นทุนสูง ข้อจำกัดมาก เอกสารที่เกี่ยวข้องสร้างภาระและยุ่งยาก  

ผู้เขียนมองว่า ความเห็นนี้สะท้อนถึงความบกพร่องของระบบราชการและนโยบายรัฐที่ขัดแย้งกับความต้องการแรงงานที่แท้จริงของภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ภาคบริการและทำงานบ้าน จนกลายเป็นปัจจัยสำคัญให้เกิดปัญหาแรงงานผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์

8. TIP Report 2020 ยังระบุว่าประเทศไทยได้ทุ่มเทความพยายามที่จะแก้ปัญหา (การค้ามนุษย์) ให้สำเร็จอย่างเด่นชัด แต่ก็ยังไม่ได้มาตรฐานสากล รายงานยังระบุอีกว่า ‘คอร์รัปชันและการเข้าไปมีเอี่ยวของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้ปัญหาคงอยู่และเป็นอุปสรรคให้องค์กรภาคประชาชนอึดอัดที่จะให้ความร่วมมือด้วย’ 

แม้ว่าการค้ามนุษย์จะเป็นเรื่องร้ายแรงและซับซ้อนกว่า แต่ผู้เขียนเห็นว่าบทสรุปนี้สามารถนำมาอธิบายได้ดีกับเรื่องขนย้ายแรงงานผิดกฎหมาย

9. แรงงานต่างชาติทั้งที่ถูกหรือผิดกฎหมายก็ตาม เมื่อเข้ามาทำงานแล้วยังต้องเผชิญกับคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐอีกมากน้อยต่างกัน ตั้งแต่ การขอและต่อใบอนุญาตทำงาน การจ่ายค่าคุ้มครองรายเดือนโดยนายจ้าง การล็อคโรงพยาบาลเอกชนที่มีสิทธิตรวจสุขภาพ เป็นต้น

บทสรุป

ปัญหาแรงงานผิดกฎหมายเปรียบเหมือนยาเสพติดที่เห็นคนทำผิดมากมาย แต่แก้ไม่ได้เพราะมีส่วยสินบนและผลประโยชน์สีเทาเป็นตัวแทรกทำให้ปัญหาซับซ้อนจนยากจะควบคุม 

กล่าวอีกนัยหนึ่ง 

“คอร์รัปชันเป็นเรื่องสมประโยชน์ของผู้ให้กับผู้รับ แต่ผู้เสียหายคือประเทศชาติประชาชน”

การแก้ปัญหาระยะยาว ควรเร่งปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัยหรือหมดความจำเป็นออกไป ตามโครงการ Regulatory Guillotine และจัดระบบบริการของรัฐที่มีให้สั้นกระชับตามหลักการ พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตฯ

เอกสารอ่านประกอบ:
1. TIP Report 2020, https://www.state.gov/reports/2020-trafficking-in-persons-report/thailand/

2. สถิติกรมแรงงาน https://www.doe.go.th/prd/assets/upload/files/alien_th/92b4db8c387f4b3360691e24f11ae4c9.pdf

3. แรงงานเถื่อนชาวพม่า 2 ล้านคน https://www.thaiquote.org/content/243184

Cr. https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=2419460858199770&id=100004076388880