นักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.) ธัญบุรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มโน สุวรรณคำ ผู้อำนวยการกองกลาง อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเกษตร เห็นถึง Pain Point ในจุดนี้ จึงคิดค้นนวัตกรรม “ถุงตากแห้งข้าว” เลี่ยงอุบัติเหตุบนถนน ลดความชื้น รักษาคุณภาพข้าวหลังการเก็บเกี่ยว ช่วยเกษตรกรชาวนาแปลงเล็ก โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้สนับสนุนงบประมาณ ให้ มทร.ธัญบุรี รับผิดชอบพัฒนาคลัสเตอร์เทคโนโลยีทางการเกษตร ทำการเชื่อมโยงพัฒนาคลัสเตอร์ทั่วประเทศตั้งแต่ ต้นนํ้า กลางนํ้า ปลายนํ้า
จากการลงพื้นที่พัฒนาคลัสเตอร์เทคโนโลยีทางการเกษตร ในการหาโอกาส และ Pain Point ของกลุ่มคลัสเตอร์เทคโนโลยีข้าวศรีสะเกษ ผลิตข้าวอินทรีย์ พบว่า โอกาสของกลุ่ม คือ การได้ข้าวอินทรีย์ที่มีคุณภาพและมาตรฐาน เริ่มตั้งแต่กระบวนการปลูก จนถึงเก็บเกี่ยว ซึ่งจะเป็นโอกาสได้ข้าวเปลือกที่มีราคาสูง
ส่วน Main Pain Point ของกลุ่ม คือ 1. หลังเก็บเกี่ยวจนได้ข้าวเปลือกออกมา ต้องทำข้าวเปลือกให้แห้ง โดยมีความชื้นน้อยกว่า 14% และ 2. เกษตรกรส่วนใหญ่ต้องเก็บข้าวเปลือกไว้เพื่อขายให้มีรายได้ แต่ปัญหาคือ เกษตรกรไม่มีที่ตากข้าว ต้องนำข้าวไปตาก บนท้องถนน ริมถนน ทำให้มีสิ่งเจือป่น (มีนกบินมาขี้ใส่ หนูวิ่งผ่าน) หรือต้องขนข้าวเปลือกไปอบ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขนส่ง
มทร.ธัญบุรี แก้ไข Main Pain Point นี้ ด้วยการนำองค์ความรู้ สิ่งประดิษฐ์และงานวิจัย ที่คำนึงการทำงานได้ง่าย ไม่ซับซ้อน (Friendly User) เป็นเทคโนโลยีใหม่ ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ สามารถปรับปรุงให้เหมาะสมกับพื้นที่ “สร้างเองได้ ซ่อมเองได้ ยั่งยืน” จึงได้ออกแบบและผลิต “ถุงตากแห้งข้าวต้นแบบ” ให้เกษตรกรนำไปใช้ สามารถผลิตได้เองได้ รวมถึงสร้างเป็นอาชีพต่อไป
“ถุงตากแห้งข้าว” ต้นแบบ เหมาะกับชาวนาแปลงเล็ก ผลผลิตไม่เยอะ หลักการออกแบบ คือ ใช้งานง่ายและต้นทุนในการผลิตไม่สูง ใช้พลาสติกโรงงานทั่วไป ออกแบบโดยพลาสติกใสอยู่ด้านบน เพื่อรับแสงมายังข้าวเปลือก ด้านล่างใช้พลาสติกทึบสีดำ เพื่อดูดแสงเข้าไปที่ข้าวทำให้ข้าวแห้งเร็ว ใส่ซิบเปิด-ปิดถุง ติดตั้งพัดลมเพื่อไล่ความชื้นในถุง และที่สำคัญติดตั้งโครงสร้างเหล็ก เพื่อยึดพลาสติก เมื่อฝนตกทำให้นํ้าไหลตามแนวเอียงของด้านบนถุงลงสู่ด้านข้าง นํ้าไม่สามารถเข้าไปในถุง
ถุงตากแห้งข้าวต้นแบบนี้ สามารถป้องกันฝนได้ถึง 99% ระดับความร้อนในถุงไม่เกิน 60 องศาเซลเซียส รักษาระดับความร้อนในถุงไม่ให้ร้อนเกินและชื้นเกินไป เพื่อคงความหอมของกลิ่นข้าว และเมื่อนำไปสีลดการแตกหักของข้าว ในการใช้งานเพียงแค่รูดซิบออก ใส่ข้าวเปลือก เกลี่ยให้ข้าวเปลือกเท่ากันประมาณ 10 เซนติเมตร จากนั้นรูดซิบปิด เปิดพัดลมไล่ความชื้นดันความชื้นออกจากถุง ใช้เวลาในการตากประมาณ 3 วัน ขนาดความยาวของถุงตากแห้งข้าวต้นแบบอยู่ที่ 10 เมตร ตากข้าวเปลือกได้ประมาณ 500 กิโลกรัม (ขนาดความยาวสามารถออกแบบได้ตามความต้องการของผู้ใช้) การสร้างต้นแบบถุงตากแห้งข้าว รับความอนุเคราะห์ในการตัดเย็บจากคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์
ทาง มทร.ธัญบุรี ได้ให้ความรู้ขั้นตอนกระบวนการตัดเย็บ วิธีการใช้ และวิธีการดูแล ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ลงทุนไม่สูง นอกจากนี้ ยังสามารถนำไปปรับใช้ลดความชื้นกับพืชชนิดอื่นได้อีกด้วย ซึ่งทางกลุ่มมีการปลูกพืชหลังนา เช่น ถั่วเหลือง ทางกลุ่มนำไปใช้ให้ประโยชน์สูงสุด และนำไปต่อยอดสร้างอาชีพถุงตากแห้งข้าว สร้างรายได้ให้กลุ่มต่อไป
หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,643 วันที่ 10 - 13 มกราคม พ.ศ. 2564